Home ต่างประเทศ ก้าวสำคัญ! จีนส่งดาวเทียมหนุนภารกิจสำรวจ “ด้านมืด” สุดลี้ลับของดวงจันทร์

ก้าวสำคัญ! จีนส่งดาวเทียมหนุนภารกิจสำรวจ “ด้านมืด” สุดลี้ลับของดวงจันทร์

915
0
SHARE

วันนี้ (21 พ.ค.) จีนประสบความสำเร็จในการส่งดาวเทียมสื่อสาร (relay satellite) เพื่อจัดตั้งระบบเชื่อมโยงการสื่อสารระหว่างพื้นโลกกับยานสำรวจดวงจันทร์ฉางเอ๋อ-4 (Chang’e-4) ซึ่งจะบุกสำรวจด้านไกล (far side) อันลี้ลับของดวงจันทร์ที่ไม่สามารถมองเห็นได้จากโลกในอนาคต

สำนักงานอวกาศแห่งชาติจีน (CNSA) ระบุว่าจรวดขนส่งลองมาร์ช-4ซี (Long March-4C) ซึ่งบรรทุกดาวเทียมชื่อเชวี่ยเฉียว (Queqiao) ถูกยิงออกจากศูนย์ปล่อยดาวเทียมซีชาง มณฑลเสฉวนทางจีนตะวันตกเฉียงใต้ เมื่อเวลา 5.28 น. ตามเวลาท้องถิ่น

“การส่งดาวเทียมฯ ถือเป็นก้าวสำคัญของจีนในการบรรลุเป้าหมายเป็นชาติแรกที่ส่งยานอวกาศลงจอดและสำรวจด้านไกลของดวงจันทร์” จาง ลี่หัว ผู้จัดการโครงการดาวเทียมสื่อสารกล่าว “แต่ภารกิจนี้ก็มีความท้าทายหลายประการ อาทิ การปรับวิถีเข้าสู่วงโคจรและลดความเร็วเพื่อเข้าใกล้ดวงจันทร์”

รายงานระบุว่าหลังจากจรวดขนส่งฯ ถูกยิงออกไปราว 25 นาที ดาวเทียมเชวี่ยเฉียวก็แยกตัวเข้าสู่วงโคจรขนย้ายระหว่างโลกกับดวงจันทร์ ซึ่งมีจุดใกล้ที่สุดในการโคจรรอบโลก 200 กิโลเมตร และจุดไกลที่สุดในการโคจรรอบโลกราว 400,000 กิโลเมตร ก่อนกางเสาอากาศสื่อสารและแผงโซลาร์

ดาวเทียมเชวี่ยเฉียวจะเข้าสู่วงโคจรฮาโล (Halo orbit) ประมาณจุดลากรางจ์ที่สอง (L2) ของระบบโลก-ดวงจันทร์ หรือราว 455,000 กิโลเมตรจากพื้นโลก และจะเป็นดาวเทียมสื่อสารดวงแรกของโลกที่ปฏิบัติงานอยู่ในวงโคจรฮาโล ซึ่งเป็นจุดที่มีโอกาสสังเกตมวลสาร

คณะนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรจีนต่างคาดหวังว่าดาวเทียมเชวี่ยเฉียวจะก่อร่างสร้างสะพานการสื่อสารระหว่างผู้ควบคุมบนพื้นโลกและด้านไกลของดวงจันทร์ ซึ่งเป็นจุดที่ยานสำรวจดวงจันทร์ฉางเอ๋อ-4 จะลงจอดภายในปีนี้ ส่วนการส่งดาวเทียมฯ นับเป็นภารกิจที่ 275 ของกองจรวดขนส่งลองมาร์ช

 

 

ข้อมูลโดย China Xinhua News