Home ข่าวทั่วไปรอบวัน 11 บริษัท “เจ้าสัวเจริญ” กำไรแตะระดับ 1.1 หมื่นล้าน!!

11 บริษัท “เจ้าสัวเจริญ” กำไรแตะระดับ 1.1 หมื่นล้าน!!

1465
0
SHARE

หุ้น เจ้าสัวเจริญ มูลค่ารวมพุ่งแตะ 4.8 แสนล้านบาท ขณะที่กำไร 9 เดือนปีนี้ โต 24.8% แตะระดับ 1.15 หมื่นล้าน สวนทางกำไร บจ.ทั้งตลาดที่ติดลบ 17% ธุรกิจ นิคมฯ ออฟฟิศและโรงแรม ช่วยดันกำไรกลุ่ม หุ้นที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่ง เจ้าสัวเจริญ เจริญ สิริวัฒนภักดี ถือหุ้นใหญ่ในนามบุคคลและผ่านบริษัทในเครือ มีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 11 บริษัทธุรกิจของบริษัททั้ง 11 แห่งนี้ แม้จะไม่ใช่ธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับแอลกอฮอล์ แต่ก็มีมูลค่ารวมกันถึงประมาณ 4.8 แสนล้านบาท โดยหุ้น 2 ใน 11 ตัวนี้ มีมาร์เก็ตแคปสูงถึง 1.8 1.9 แสนล้านบาท

บริษัทที่ใหญ่ที่สุดคือ AWC ซึ่งเป็นหุ้นน้องใหม่ เพิ่งเข้าจดทะเบียนไปเมื่อเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา มีมาร์เก็ตแคป 1.94 แสนล้านบาท ทำธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ในส่วนของอาคารสำนักงาน และโรงแรมเป็นหลัก

สำหรับ AWC ถือเป็นหุ้นไอพีโอตัวแรกในประเทศไทยของเจ้าสัวเจริญ เพราะที่ผ่านมาเจ้าสัวจะใช้วิธีการเข้าซื้อหุ้นอื่นๆ ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อยู่แล้ว

รองลงมาคือ BJC มีมาร์เก็ตแคปราว 1.85 แสนล้านบาท โดยเป็นบริษัทเรือธงสำหรับธุรกิจบรรจุภัณฑ์ รวมถึงธุรกิจผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคอีกด้วย

นอกจากนี้ กลุ่มหุ้นของเจ้าสัวเจริญยังกระจายอยู่ในอีกหลากหลายธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจโฮลดิ้งส์ ผ่านหุ้นยูนิเวนเจอร์ (UV) ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ทั้งประเภทที่อยู่อาศัย ผ่านหุ้นแผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเมนท์ (GOLD) นิคมอุตสาหกรรม ในหุ้นเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (FPT) ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ในหุ้นโออิชิ กรุ๊ป (OISHI), อาหารสยาม (SFP) และเสริมสุข (SSC) ธุรกิจประกัน ในหุ้นอินทรประกันภัย (INSURE) และเครือไทย โฮลดิ้งส์ (SEG) รวมทั้งธุรกิจสื่อ ผ่านหุ้นอมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง (AMARIN)

จากการรวมรวมข้อมูล ณ สิ้นไตรมาส 3 ที่ผ่านมา พบว่าหุ้นในกลุ่มเจ้าสัวเจริญทั้ง 11 บริษัท สามารถทำกำไร 9 เดือนปี 2562 รวมกันได้ 1.15 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.8% จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่ทำได้ 9.21 พันล้านบาท โดยธุรกิจที่กำไรให้กลุ่มได้สูงสุดยังคงเป็น BJC ที่ทำได้ 4.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.2% จากปีก่อน

ทั้งนี้ ธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตสูงสุด คือ หุ้นน้องใหม่อย่าง AWC ซึ่งกำไรเพิ่มขึ้น 192% ทำได้ 571 ล้านบาท ขณะที่ธุรกิจประกันอย่าง SEG ก็มีกำไรเติบโตก้าวกระโดดเป็น 1.23 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 149.7% เช่นเดียวกับธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม อย่าง FPT ซึ่งกำไรเพิ่มขึ้น 130% ทำได้ 1.79 พันล้านบาท (สำหรับ FPT เป็นกำไรรวมทั้งปี สิ้นสุด ณ เดือน ก.ย. 2562)

สำหรับธุรกิจอาหาร ในส่วนของ OISHI ปีนี้ฟื้นตัวได้ค่อนข้างดี โดยกำไร 9 เดือน ทำได้ 1.15 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 37.4% หลังจากที่ปีก่อนหดตัวแรงจาก 1.45 พันล้านบาท ในปี 2560 มาเหลือเพียง 1.01 พันล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจอาหารในส่วนของ SFP และ SSC ยังไม่ค่อยน่าประทับใจนัก ซึ่งทั้งสองธุรกิจมีผลขาดทุนสุทธิ 233 ล้านบาท และ 159 ล้านบาท ตามลำดับ

อีกหนึ่งธุรกิจที่ยังคงอ่อนแอคือ ธุรกิจสื่อ โดย 9 เดือนที่ผ่านมา AMARIN มีกำไรเพียง 38 ล้านบาท ลดลงถึง 51% จากปีก่อน ขณะที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่ออยู่อาศัย อย่าง GOLD เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ทำได้ 1.64 พันล้านบาท เติบโต 3.72% ส่วนธุรกิจโฮลดิ้งส์อย่าง UV ซึ่งส่วนมากลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ หดตัว 16.5% ทำได้ 659 ล้านบาท

แม้ผลประกอบการของหุ้นในกลุ่มเจ้าสัวจะค่อนข้างน่าประทับใจ แต่ผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นเหล่านี้เฉพาะปี 2562 มีเพียง 3 บริษัทเท่านั้นที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวก ได้แก่ FPT, GOLD และ OISHI โดยราคาหุ้นเพิ่มขึ้น 11.7% 20.7% และ 41.7% ตามลำดับ ส่วนหุ้นที่เหลือนั้นให้ผลตอบแทนติดลบ หรือทำได้เพียงแค่ทรงตัวทั้งสิ้น

นอกจากนี้ หุ้นในกลุ่มเจ้าสัว ส่วนมากแล้วจะมีปัญหาเรื่องของสภาพคล่อง ซึ่งหุ้นบางตัวนั้นแทบจะไม่มีการซื้อขายในระหว่างวันให้เห็น อาทิ INSURE และ SFP ขณะที่ผลตอบแทนจากเงินปันผลโดยเฉลี่ยของหุ้น 10 ตัว (ไม่รวม AWC ซึ่งเพิ่งเข้าจดทะเบียนเป็นปีแรก) อยู่ที่ประมาณ 2.4%

ทั้งนี้ จากบทวิเคราะห์ของ บล.เอเซียพลัส ระบุว่า หุ้นที่เพิ่งเข้าจดทะเบียนอย่าง AWC แม้กำไรจะเติบโตได้อย่างโดดเด่น แต่ล่าสุดยังคงมี P/E ที่สูงถึง 223 เท่า ในขณะเดียวกันหุ้น FPT เป็นหุ้นที่มีความน่าสนใจเข้าลงทุนมากกว่า เนื่องจากผลประกอบการที่เติบโตโดดเด่นกว่าตลาด ขณะที่ ณ ระดับราคาปัจจุบันยังคงมีอัพไซด์ราว 30% จากราคาเป้าหมายที่ 20.10 บาท อิงจาก P/E ที่ระดับ 24.59 เท่า และอัตราเงินปันผล 2.44%

ที่มา เนชั่น