Home ต่างประเทศ อินโดนีเซีย เตรียมทำวัคซีนฮาลาลสำหรับชาวมุสลิม

อินโดนีเซีย เตรียมทำวัคซีนฮาลาลสำหรับชาวมุสลิม

620
0
SHARE

รัฐบาลอินโดนีเซียกำลังรับมือกับปัญหาที่ส่งผลต่อประเทศในหลายรูปแบบ โดยประธานาธิบดีโจโก วีโดโด วางแผนที่จะฉีดวัคซีนให้เด็กชาวอินโดนีเซียอย่างน้อย 70 ล้านคนก่อนปลายปี 2019 นี้ แต่ทว่าครอบครัวมุสลิมจำนวนไม่น้อยปฏิเสธที่จะให้บุตรหลานรับวัคซีนนี้ เนื่องจากการขาดการรับรองมาตรฐานฮาลาล โดยเฉพาะการรับรองของสภาอุลามะห์ (MUI) องค์กรอิสลามที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศอินโดนีเซีย

ในอดีตสภาอุลามะห์เคยมองว่าวัคซีนไม่ใช่ฮาลาล (เป็นสิ่งต้องห้าม) จนถึงขั้นมีการหยุดยั้งแคมเปญรณรงค์ฉีดวัคซีนที่จัดโดยรัฐบาลท้องถิ่นและชุมชน เนื่องมาจากส่วนประกอบหนึ่งในวัคซีนทำมาจากเจลาตินที่สกัดจากหมูซึ่งเป็นส่วนผสมที่มุสลิมถือว่าเป็นฮะรอม หรือของต้องห้ามในกฎหมายอิสลามแบบดั้งเดิม

เมื่อไม่นานมานี้จังหวัดอาเจะฮ์ของอินโดนีเซียต้องรับมือกับการระบาดของโรคหัดเยอรมันอันเนื่องมาจากพ่อแม่เลือกที่จะไม่ให้บุตรได้รับการฉีดวัคซีน

ขณะนี้บรรดาผู้เชี่ยวชาญต่างมองว่าสถานการณ์นี้เป็นเรื่องที่เร่งด่วนอย่างมาก กระทรวงสาธารณสุขของอินโดฯ ทุ่มงบกว่า 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในการรณรงค์ให้พ่อแม่เชื่อว่าการฉีดวัคซีนนั้นเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง

อาเจะฮ์มีอัตราการฉีดวัคซีนเพียง 7% ในขณะที่บาหลีมีอัตรานี้ที่ 60% โดยรัฐบาลอินโดนีเซียมีเป้าหมายที่จะเพิ่มอัตราการรับวัคซีนให้แตะถึง 95%

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยชี้ให้เห็นว่าในปี 2017 ประเทศอินโดนีเซียมีอัตราการรับวัคซีนเพียง 30% ซึ่งเกี่ยวข้องกับจำนวนผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์

การควบคุมคุณภาพวัคซีนยังคงเป็นขั้นตอนสำคัญของอินโดนีเซีย โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) เป็นผู้ดูแลกระบวนการและมาตรฐานของวัคซีนเหล่านี้ก่อนที่จะนำออกสู่ตลาด

ดร. Joey Gouws จากโครงการ WHO PQ ขององค์การอนามัยโลกได้เข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านการกำกับดูแลยาแห่งชาติที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจากประเทศสมาชิกองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) มาเข้าร่วมและมีจุดประสงค์เพื่อให้ประชาชนและรัฐบาลมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาว่าด้วยเรื่องการรับรองฮาลาลในวัคซีน

แม้ว่าสภาอุลามะห์จะยังไม่ได้ออกใบรับรองฮาลาลให้กับวัคซีน แต่ก็มีแถลงการณ์ออกมาว่าวัคซีนมีความสำคัญ ทว่าคำพูดดังกล่าวยังไม่สามารถโน้มน้าวให้บิดามารดาพาบุตรหลานของตนไปฉีดวัคซีน ซึ่งทำให้อินโดนีเซียยังคงมีจุดอ่อนในด้านนี้อยู่

ปัจจุบันเป้าหมายของกระทรวงสาธารณสุขคือการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับบุคคลสำคัญทางศาสนา ในการทำวิจัยเกี่ยวกับส่วนประกอบของวัคซีน และทำให้บรรดาผู้ปกครองรู้สึกสบายใจที่จะให้บุตรของตนมารับวัคซีน เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคอีกขึ้นในอนาคต

 

 

 

ข้อมูลโดย เพจ : China Xinhua News