“ผลการเยือนครั้งนี้ประสบผลสำเร็จด้วยดี โดยเฉพาะการหารือด้านการค้าและการลงทุน ทำให้ผู้นำทั้งสองฝ่ายมีโอกาสหารือกันอย่างใกล้ชิด เข้าใจกันมากยิ่งขึ้น และพร้อมที่จะร่วมมือเพื่อสร้างผลประโยชน์ร่วมกัน โดยได้ก้าวข้ามปัญหาการขาดดุลการค้า เน้นการจับมือเป็นพันธมิตรเพิ่มมูลค่าการค้าการลงทุนระหว่างกัน ผู้นำทั้งสองเห็นพ้องกันว่า นโยบายอเมริกันมาก่อน และนโยบายไทยแลนด์ 4.0 สามารถเกื้อกูลและส่งเสริมกันได้ โดยสินค้าที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ ส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่สหรัฐฯ นำเข้าเพื่อไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตต่อในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง ของอุตสาหกรรมสหรัฐฯ ขณะที่ไทยก็สนใจนำเข้าสินค้าเทคโนโลยีคุณภาพสูงจากสหรัฐฯ เพื่อนำมาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มทางการค้า ซึ่งเป็นการเสริมผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน และสามารถนำไปสู่การขยายมูลค่าการค้าระหว่างกันในอนาคต ในปี 59 การค้าสองประเทศมีมูลค่า 3.65 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ 2.45 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และนำเข้าจากสหรัฐฯ 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ประเด็นเรื่องการลงทุน ซึ่งปัจจุบันนักธุรกิจไทยมีการลงทุนในสหรัฐฯ เป็นอันดับ 2 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ โดยได้ลงทุนในสหรัฐฯ เป็นสาขาการผลิตอุตสาหกรรมในสาขาต่างๆ เช่น อาหาร พลังงาน และยานยนต์และชิ้นส่วน เป็นต้น คิดเป็นมูลค่า 5,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ก่อให้เกิดการจ้างงานในสหรัฐฯ กว่า 7-8 หมื่นตำแหน่ง และมีแผนที่จะลงทุนเพิ่มอีก 8,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สร้างงานเพิ่มอีกกว่า 1 หมื่นตำแหน่ง จึงได้ขอให้สหรัฐฯ ช่วยดูแลและอำนวยความสะดวกการลงทุนของไทยในสหรัฐฯ ด้วย โดยไทยและสหรัฐฯ มีสนธิสัญญาไมตรีและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ตั้งแต่ปี 2509 ที่ให้สิทธินักลงทุนของทั้งสองฝ่ายเยี่ยงคนชาติ พร้อมนี้ได้เชิญชวนให้นักลงทุนสหรัฐฯ พิจารณาการลงทุนในระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก หรืออีอีซี รวมทั้งการพัฒนาการศึกษาในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นการลงทุนที่ทั้งสองฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน สำหรับประเด็นการค้าที่ยังเป็นอุปสรรคได้มอบหมายระดับเจ้าหน้าที่หารือกันต่อไป โดยไม่ได้ลงรายละเอียดในการพบกันครั้งนี้ จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ได้ร่วมหารือกับสภานักธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน พร้อมทั้งมีแผนที่จะผลักดันให้มูลค่าทางการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ เพิ่มเป็น 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ พร้อมทั้งเชิญชวนนักลงทุนสหรัฐฯ เข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย ที่เป็นอุตสาหกรรมอนาคตที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นประเทศที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมสูง โดยไทยได้เตรียมความพร้อมต่างๆ เพื่อดึงดูดและรองรับการลงทุน เช่น การให้สิทธิประโยชน์ของบีโอไอ และเขตเศรษฐกิจพิเศษ การปรับกฎระเบียบเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการลงทุน เป็นต้น ปัจจุบัน สหรัฐฯ เป็นคู่ค้าอันดับที่ 3 ของไทย รองจากจีนและญี่ปุ่น โดยในปี 59 การค้าระหว่างไทยและสหรัฐฯ มีมูลค่า 3.65 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับที่ 1 ของไทย มีมูลค่าการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ 2.45 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในขณะที่สหรัฐฯ เป็นแหล่งนำเข้าอันดับที่ 3 ของไทย มีมูลค่านำเข้าของไทยจากสหรัฐฯ 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนการลงทุน ในปี 59 สหรัฐฯ ลงทุนในไทยมากเป็นอันดับที่ 3 รองจากญี่ปุ่นและสิงคโปร์ ด้วยมูลค่าการลงทุน 1.17 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 11.14%จากปีก่อน ไทยได้ขอบคุณสหรัฐฯ ที่ได้เปิดทบทวนการจัดสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของไทยนอกรอบ ซึ่งไทยจะมุ่งมั่นปฏิรูประบบทรัพย์สินทางปัญญา และปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในไทยอย่างเข้มแข็งจริงจังต่อไป โดยหวังว่าผลการทบทวนจะนำไปสู่การถอดไทยจากบัญชีประเทศที่ต้องจับตามองพิเศษ หรือ พีดับบลิวแอล โดยเร็วและไทยได้ขอให้สหรัฐฯ สนับสนุนการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยไปสหรัฐฯ เช่น การลดความเข้มข้นของระดับการฉายรังสีที่สหรัฐฯ กำหนดในผลไม้ไทย เพื่อไม่ให้กระทบคุณภาพและผิวของผลไม้ที่ไทยส่งไปสหรัฐฯ เช่น มะม่วง ตลอดจนเร่งออกใบอนุญาตด้านสุขอนามัยให้สินค้าส้มโอของไทย ซึ่งได้ยื่นคำขอไว้ตั้งแต่ปี 2558”
ความข้างต้น นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ แถลงแก่ผู้สื่อข่าวเมื่อ 5 ต.ค.2560 ผลการเยือนทำเนียบขาว กรุงวอชิงตัน ดีซี สหรัฐอเมริกา ของ พลเอก ประยุทธ์ จันทน์โอชา นายกรัฐมนตรี ช่วงวันที่ 2-4 ต.ค.2560 ตามคำเชิญของนายโดนัลล์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐ
matemnews.com 5 ตุลาคม 2560