Home ข่าวทั่วไปรอบวัน สำนักงานสลากฯ ชี้แจง กรณี สส.เพื่อไทยตั้งข้อสังเกตเรื่องสลากเกินราคา

สำนักงานสลากฯ ชี้แจง กรณี สส.เพื่อไทยตั้งข้อสังเกตเรื่องสลากเกินราคา

209
0
SHARE

      สืบเนื่องจากกรณี นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย นำคณะส.ส.แถลงข่าวประเด็นความเดือดร้อนของประชาชนที่ราคาสลากกินแบ่งรัฐบาลไม่สอดคล้องกับราคาต้นทุนจากยี่ปั๊ว จึงต้องขายเกินราคาและเกิดกระบวนการรับส่วย เพื่อไม่ให้ถูกเจ้าหน้าที่จับและปรับกว่า 2,000 บาท โดยตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับยี่ปั๊วเนื่องจากประชาชนไม่สามารถซื้อสลากฯ ได้โดยตรง นั้น

      วันนี้ (2 กุมภาพันธ์ 2564) ที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พันตำรวจเอกบุญส่ง จันทรีศรี ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เปิดเผยว่า  ปัจจุบัน สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ได้มีระบบจัดสรรสลากเพื่อสนับสนุนการกระจายสลากให้เข้าถึงประชาชนทั่วประเทศอย่างทั่วถึง โดยในการกำหนดเพดานการพิมพ์สูงสุด 100 ล้านฉบับต่องวด ได้มีการจัดสรรสลากให้ตัวแทนจำหน่ายประเภทบุคคลทั่วไป  คนพิการ และสมาคม องค์กร มูลนิธิ จำนวน 33 ล้านฉบับ มีตัวแทนทั้งสิ้น 32,242 ราย และส่วนที่เหลือเป็นระบบซื้อ-จองล่วงหน้าสลากฯ จำนวน 67 ล้านฉบับ ให้กับผู้ลงทะเบียนทั่วประเทศจำนวน 159,000 ราย ซึ่งในส่วนนี้ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนที่ลงทะเบียนสามารถเข้ามาทำรายการซื้อ-จองล่วงหน้าสลากฯ ผ่านระบบตู้เอทีเอ็ม ธนาคารกรุงไทยได้ทุกงวด

เพื่อรับสลากคนละ 5 เล่ม ไปจำหน่ายได้ในราคาต้นทุนฉบับ 70.40 บาท โดยเริ่มมาตั้งแต่งวดวันที่ 16 ตุลาคม 2558 ที่ผ่านมา ดังนั้น จึงแสดงให้เห็นว่ากระบวนการจัดสรรสลาก ได้มีการดำเนินการอย่างเปิดกว้าง เพื่อให้ผู้ลงทะเบียนทุกคนมีสิทธิเข้าถึง ไม่ได้มีการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ค้าบางกลุ่ม แต่เนื่องจากการจำหน่ายสลากเป็นอาชีพเสรีที่ไม่มีการควบคุมตามกฎหมาย ซึ่งปัจจุบันมีผู้ตกงาน และต้องการประกอบอาชีพเป็นผู้ค้าสลากจำนวนมาก จึงได้มีการไปหาซื้อสลากจากตัวแทนจำหน่าย  เพื่อนำสลากไปจำหน่ายต่อให้ประชาชน ทำให้ผู้ขายสลากแต่ละทอดมีการเพิ่มราคาขาย จนทำให้สลากมีราคาสูงเกิดกำหนด ประกอบกับ ปัจจุบันสำนักงานสลากฯได้ใช้วิธีขายขาดให้กับผู้ซื้อโดยไม่รับคืน ทำให้ผู้ค้าสลากฯ ต้องรับความเสี่ยงจากการขายสลากไม่หมด เช่น เลขไม่ได้รับความนิยม 000000, 111111 โดยหันไปขึ้นราคาขายสลากเลขดัง หรือเลขที่ได้รับความนิยมแทน เพื่อเป็นการถัวเฉลี่ยความเสี่ยง จนทำให้สลากบางเลขมีการขายเกินราคาที่กำหนดไว้ค่อนข้างสูง

      อย่างไรก็ตาม สำนักงานสลากฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหาที่เกิดขึ้น ได้มีเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบการจำหน่ายสลากทั้งส่วนกลาง  และส่วนภูมิภาค 76 จังหวัด เพื่อเก็บข้อมูล พฤติกรรมการจำหน่าย ตรวจสอบราคาการจำหน่าย รวมถึงตรวจสอบสลากรวมชุด เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ พิจารณายกเลิกการเป็นตัวแทนจำหน่าย ที่นำสลากไปขายต่อทำกำไร  หรือผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามสัญญา โดยที่ผ่านมามีการตัดสิทธิและยกเลิกสัญญาการเป็นตัวแทนจำหน่าย รวมถึงยกเลิกการลงทะเบียนการเป็นผู้ซื้อ-จองล่วงหน้าสลากฯ ไปแล้วจำนวนมาก

      สำหรับสถิติการตรวจสอบตัวแทนจำหน่ายที่ไม่ปฏิบัติตามสัญญา และผู้ซื้อ-จองล่วงหน้าสลากฯ ที่ไม่ปฏิบัติตามประกาศของสำนักงานฯ ตั้งแต่ปี 2559 – 2563 ได้ยกเลิกการเป็นตัวแทนจำหน่ายรายย่อย ประเภทบุคคล 8,318 ราย แบ่งเป็นยกเลิกในส่วนกลาง 2,909 ราย ส่วนภูมิภาค 3,814 ราย และคนพิการ 1,595 ราย ขณะเดียวกันยังได้ยกเลิกสมาชิกของสมาคม องค์กร 8,131 ราย และยกเลิกการเป็นผู้ซื้อ-จองล่วงหน้าสลากฯ 5,464 ราย รวม 21,913 ราย ซึ่งแสดงให้เห็นการดำเนินการตรวจสอบและลงโทษผู้กระทำผิดอย่างจริงจัง นอกจากนี้ สำนักงานสลากฯ ยังได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาสลากเกินราคาอย่างต่อเนื่อง โดยได้เพิ่มสัดส่วนกำไรให้แก่ตัวแทนจำหน่ายรายย่อย ให้มีรายได้จากการจำหน่ายสลากมากขึ้น จากเดิมส่วนลดร้อยละ 7 (ฉบับละ 5.60 บาท) เป็น ร้อยละ 12 (ฉบับละ 9.60 บาท) เพียงพอต่อการดำรงชีพและเป็นมูลเหตุจูงใจ ให้ร่วมขายสลากในราคา 80 บาท เพื่อจูงใจให้มีการขายสลาก ด้วยตัวเอง พร้อมกับได้บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยเปิดให้ประชาชนแจ้งเบาะแส การจำหน่ายสลากเกินราคา ผ่านศูนย์รับแจ้งเรื่องราวร้องทุกข์ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล  (Call Center) หมายเลข 0 2528 9999  ตลอด 24 ชั่วโมง โดยสำนักงานฯ จะส่งข้อมูลให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด และผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ดำเนินการจับกุมผู้จำหน่ายสลากเกินราคา  โดยมีสถิติผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมคดีสลากเกินราคา ในรอบปี 2560-2563 ที่ผ่านมา ดังนี้ ปี 2560 สามารถจับกุมคดีสลากเกินราคาได้ 2,339 ราย ปี 2561 สามารถจับกุมคดีสลากเกินราคาได้ 6,240 ราย ปี 2562 สามารถจับกุมคดีสลากเกินราคาได้ 7,527 ราย ปี 2563 สามารถจับกุมคดีสลากเกินราคาได้ 6,047 ราย นอกจากนี้ ยังได้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.2517 โดยมีการเพิ่มโทษการจำหน่ายสลากเกินราคา จากเดิมปรับไม่เกิน 2,000 บาท เป็นปรับไม่เกิน 10,000 บาท  อีกด้วย

      พ.ต.อ.บุญส่งกล่าวด้วยว่า  ล่าสุด ในการประชุมคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล เมื่อเดือนตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา ยังมีมติให้ดำเนินการพิมพ์สลากคละเลขในระบบตัวแทนจำหน่ายและระบบซื้อ-จองล่วงหน้าสลากฯ แบบ 2-1-1-1 เพื่อแก้ปัญหาสลากรวมชุดขนาดใหญ่หลายใบ ซึ่งเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สลากรวมชุดมีราคาแพง โดยผลดำเนินการตั้งแต่งวดวันที่ 16 ธันวาคม 2563 เป็นต้นมา พบว่าการรวมชุดสลากจำนวนมากกว่า 5 ใบลดลงอย่างชัดเจน และสลากใบเดี่ยวมีจำนวนมากขึ้น ทำให้ราคาสลากลดลงจากเดิม อีกทั้งยังทำให้ผู้ถูกรางวัลที่ 1 ในแต่ละงวด มีการกระจายตัวมากขึ้นกว่าเดิม และที่สำคัญสำนักงานสลากฯ ยังได้มีมาตรการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน โดยการแก้ไขพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.2517 ซึ่งมีการเปิดให้สำนักงานฯ สามารถออกผลิตภัณฑ์ใหม่ได้ตามมาตรา 7/1 “การออกประกาศกำหนดประเภทและรูปแบบสลากกินแบ่งรัฐบาล โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี และต้องจัดให้มีการรับฟัง ความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย และศึกษาผลกระทบทางสังคม เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาก่อนออกประกาศ รวมทั้งต้องให้ผู้ด้อยโอกาส และคนพิการเข้าถึงการเป็นตัวแทนจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลด้วย” ซึ่งขณะนี้ได้มีการกำหนดกรอบแนวทางการดำเนินการโครงการออกสลากกินแบ่งรัฐบาล แบบดิจิทัลไปแล้ว และจะมีการพิจารณาในโอกาสที่เหมาะสมต่อไป