Home ข่าวทั่วไปรอบวัน อัยการสูงสุดคนใหม่รื้อทุกคดีของนายทักษิณ

อัยการสูงสุดคนใหม่รื้อทุกคดีของนายทักษิณ

824
0
SHARE

 

 

นายเข็มชัย ชุติวงษ์ อัยการสูงสุดคนใหม่ ได้เริ่มปฏิบัติหน้าที่เป็น  อัยการสูงสุดคนใหม่วันแรก เมื่อวันที่ 6 ต.ค.2560  หลังจากนั้นแถลงข่าวแก่สื่อมวลชนหลายประเด็น

 

นโยบายพัฒนาบุคลากรในองค์กรสำนักงานอัยการสูงสุด   เน้นหลักเป็นทั้งคนเก่งและคนดี สั่งคดีอย่างเป็นธรรม ซื่อสัตย์ สุจริต มีจริยธรรม คุณธรรม ตามพยานหลักฐานที่สมบูรณ์ที่สุด   อัยการจะฟ้องคนทำผิด แต่ไม่ฟ้องคนที่บริสุทธิ์  เน้นพยานหลักฐานว่าที่เพียงพอ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน

 

กรณีการบังคับใช้ พ.ร.บ.ว่า ด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ฉบับใหม่ที่เพิ่งบังคับใช้   จะส่งผลกระทบต่อ คดีทุจริตปล่อยกู้ธนาคารกรุงไทยฯ กับกลุ่มกฤษดามหานคร ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำสั่งให้จำหน่ายคดี  ในส่วนของ  “นายทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ไม่เดินทางมาศาล และถูกออกหมายจับ

 

รวมถึงคดีทุจริต  ออกกฎหมายแก้ไขค่าสัมปทานโทรศัพท์มือถือ  และดาวเทียม  เป็นภาษีสรรพสามิต  คดีดังกล่าวเป็นการยื่นฟ้องคดีในกฎหมายเก่าปี พ.ศ.2542 (พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542) ที่เดิมไม่สามารถที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาคดีลับหลังโดยที่ไม่มีตัวจำเลยได้  แต่กฎหมายใหม่ที่เพิ่งออกมา พ.ศ.2560 มาตรา 28 ให้ศาลสามารถดำเนินกระบวนพิจารณาคดีโดยไม่มีตัวจำเลย หรือ พิจารณาคดีลับหลังได้  ดังนั้นจึงเป็นการคาบเกี่ยวกับการออกกฎหมายใหม่ แต่ในบทเฉพาะกาล มาตรา 69 ของกฎหมายใหม่ได้ระบุไว้ว่า   การดำเนินการใดที่เกิดขึ้นมาโดยสมบูรณ์ตามกฎหมายเก่าแล้วนั้น จะไม่ได้รับผลกระทบ แต่ให้พิจารณาต่อไปตามกฎหมายใหม่ที่บังคับใช้   ดังนั้นความเห็นส่วนตัวจึงเห็นว่าคดีดังกล่าวสามารถรื้อฟื้นกลับมาพิจารณาใหม่ได้

 

ขั้นตอนจะมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาเรื่องนี้  โดยให้อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ เดิมเคยเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบคดี   เป็นผู้เสนอรายชื่อคณะทำงานที่เหมาะสมขึ้นมา และยังไม่มีการกำหนดระยะเวลา  ก่อนยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาฯนักการเมือง   ขอให้นำคดีขึ้นมาพิจารณาใหม่   ซึ่งหากศาลฎีกาฯนักการเมืองเห็นตรงกันในการบังคับใช้กฎหมายส่วนนี้ก็สามารถดำเนินการต่อได้

 

แต่ส่วนที่ประธานคณะกรรมมาธิการซึ่งเป็นผู้แทนจากสำนักงานศาลยุติธรรมเคยมีความเห็นโดยไม่เห็นด้วยกับการพิจารณาคดีลับหลังจำเลยในชั้นก่อนออกกฎหมายมาบังคับใช้โดยเห็นว่าการพิจารณาลับหลังจำเลย อาจไม่เป็นธรรมนั้นเห็นว่า ขึ้นอยู่กับการตีความของบุคคล

 

 

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า  คดีที่ ป.ป.ช. ยื่นฟ้องนายทักษิณเอง เช่น คดีปล่อยกู้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า หรือ เอ็กซิมแบงก์ให้กับรัฐบาลเมียนมา  เพื่อทำสัญญากิจการโทรคมนาคม และคดีทุจริตโครงการออกหวยบนดิน   จะใช้หลักปฏิบัติเดียวกันที่ ป.ป.ช. จะต้องยื่นคำร้องต่อศาลหรือไม่ นายเข็มชัย ตอบว่า กรณีตัวอย่างที่อัยการเป็นผู้ยื่นฟ้อง   และจะมีการตั้งกรรมการนั้นเป็นความคิดเห็นส่วนตัวของตนที่เห็นว่า   สามารถยื่นคำร้องต่อศาลได้ แต่ใน ป.ป.ช. จะต้องเป็นพิจารณาเอง

 

สำหรับคดีที่   ตำรวจปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ ปอท. เคยรวบรวมหลักฐานคดีที่   นายทักษิณ หมิ่นสถาบันเบื้องสูง และความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ปี 2558 ซึ่งเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นภายนอกราชอาณาจักรนั้น ขณะนี้มีความเห็นแล้วโดย ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร อัยการสูงสุดคนก่อนได้มีการทำความเห็นสมควรสั่งฟ้อง  ภายหลังจากที่อดีตอัยการสูงสุดโดย  นายตระกูล วินิจนัยภาค ได้ตั้งอัยการสำนักสอบสวนร่วมสอบ ปอท. จากนี้เมื่อมีคำสั่งสมควรสั่งฟ้องนายทักษินแล้ว ก็เหลือเพียงกระบวนการติดตามตัวโดยประสาน ปอท. ให้ดำเนินการออกหมายจับ หากทราบแหล่งที่อยู่ชัดเจนก็จะต้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนทันที   เพื่อดำเนินกระบวนการฟ้องคดี  ซึ่งคดีนี้เป็นคดีอาญาไม่ใช่คดีทุจริต ที่อยู่ในอำนาจศาลฎีกาฯนักการเมือง  การฟ้องจะต้องมีตัวจำเลยยื่นต่อศาล

นายเข็มชัย กล่าวด้วยว่า มีความกังวลเกี่ยวกับกระแสสังคม  ที่มีหลายฝ่ายมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน   แต่มันเป็นสิ่งที่ต้องทำ เนื่องจากมีการออกกฎหมายมาแล้ว หากไม่ดำเนินการก็จะถูกวิจารณ์จากอีกฝ่ายว่า   ไม่บังคับใช้กฎหมาย แต่เมื่อเรื่องถึงขั้นตอนศาลแล้วศาลจะเห็นอย่างไรก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

 

กรณีการขอสถานะลี้ภัยการเมือง  ของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จำเลยที่อัยการสูงสุด ยื่นฟ้องคดีจำนำข้าวและศาลฎีกาฯ นักการเมือง พิพากษาลงโทษจำคุก 5 ปี ขณะนี้ยังไม่ทราบว่าจะขอสถานะลี้ภัยที่ประเทศใด   การขอลี้ภัยเป็นเรื่องที่ประเทศนั้นๆ จะต้องเป็นผู้พิจารณาไปตามกฎหมายของแต่ละประเทศ   อัยการไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับส่วนนี้   จะต้องถามจากกระทรวงการต่างประเทศ แต่ในส่วนกระบวนการของไทยที่จะทำได้คือ  ต้องติดตามตัวจำเลย   ถึงแม้นางสาวยิ่งลักษณ์ จะได้รับสถานะลี้ภัยในประเทศใด อัยการก็จะต้องยื่นขอส่งผู้ร้ายข้ามแดน เนื่องจากเป็นคนละประเด็นกัน   การขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน   ต้องทราบแหล่งที่อยู่ที่ชัดเจนก่อน ถึงจะพิจารณาในส่วนกฎหมายของแต่ละประเทศได้ แต่สุดท้ายการพิจารณาก็ต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจของฝ่ายบริหารในประเทศนั้นๆด้วยว่า   จะให้ส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนหรือไม่ แม้ตามหลักสากลจะไม่ส่งผู้ร้ายข้ามแดนตามความผิดทางการเมือง แต่มันก็ขึ้นอยู่กับการตีความว่า  ความผิดทางการเมืองครอบคลุมแค่ไหน แต่หากประเทศใดมีการขอรายละเอียดคดีของน.ส.ยิ่งลักษณ์ เราก็จะต้องยืนยันว่า  คดีของนางสาวยิ่งลักษณ์เป็นคดีทุจริต ไม่ใช่คดีความผิดทางการเมือง

 

 

Matemnews.com  6 ตุลาคม 2560