ปภ. แจ้ง 57 จังหวัด ให้เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก ดินถล่ม น้ำล้นอ่าง และน้ำล้นตลิ่ง
เวลา 12.30 น. วันนี้ (10 ต.ค.64) กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) ได้รับแจ้งจากกองอำนวยการน้ำแห่งชาติว่า ได้ประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำจากแผนที่ฝนคาดการณ์ (ONE MAP) ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์กรมหาชน) ได้ตรวจสอบพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวัง ดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากของกรมทรัพยากรน้ำ และกรมทรัพยาการธรณี พบว่าในช่วงวันที่ 10-16 ตุลาคม 2564 มีพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังอุทกภัย ดังนี้
1.พื้นที่เฝ้าระวังน้ำหลาก ดินถล่ม
– ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ สกลนคร และอุบลราชธานี
– ภาคตะวันออก ได้แก่ กาญจนบุรี ราชบุรี นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี ตราด และเพชรบุรี
– ภาคใต้ ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา กระบี่ ตรัง และสตูล
2.พื้นที่เฝ้าระวังระดับน้ำในอ่างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำมากกว่า 80% และ
แนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้น กระทบพื้นที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำ
– ภาคเหนือ ได้แก่ ลำปาง สุโขทัย น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
– ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ อุดรธานี หนองบัวลำภู บึงกาฬ สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬลินธุ์ ยโสธร มุกดาหาร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
– ภาคกลาง ได้แก่ ลพบุรี และสระบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี นครนายก ราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด และประจวบคีรีขันธ์
– ภาคใต้ ได้แก่ สุราษฎร์ธานี ระนอง ภูเก็ต และกระบี่
3. พื้นที่เฝ้าระวังระดับน้ำในลำน้ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นล้นตลิ่ง และท่วมขังบริเวณที่ลุ่มต่ำ
– ภาคเหนือ ได้แก่ บริเวณแม่น้ำน่าน อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร แม่น้ำยม อำเภอสามง่าม อำเภอโพนทะเล จังหวัดพิจิตร
– ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณแม่น้ำชี อำเภอโกสุมพิสัย อำเภอกันทรวิชัย และอำเภอเมือง มหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม อำเภอฆ้องชัย อำเภอกมลาไสย อำเภอยางตลาด และอำเภอร่องคำ จังหวัดกาฬสินธุ์ อำเภอจังหาร จังหวัดร้อยเอ็ด อำเภอเมืองยโสธร และอำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร แม่น้ำมูล อำเภอประโคนชัย อำเภอสตึก และอำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ อำเภอชุมพลบุรี และอำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ อำเภอเมืองศรีสะเกษ และอำเภอราศีไศล จังหวัดศรีสะเกษ และอำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี
– ภาคกลาง บริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ อำเภอเมืองสิงห์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี อำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง และอำเภอบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แม่น้ำป่าสัก อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และอำเภอเมืองสระบุรี จังหวัดสระบุรี แม่น้ำลพบุรี อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี แม่น้ำท่าจีน อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี และอำเภอนครชัยศรี จังหวัด นครปฐม
4.เฝ้าระวังแม่น้ำโขง โดยระดับน้ำมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงเพิ่มสูงขึ้น
กอปภ.ก. จึงได้แจ้งให้ 57 จังหวัดและศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้า ให้จัดเตรียมเครื่องมือเครื่องจักรกลสาธารณภัยและทีมปฏิบัติการเข้าประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมเผชิญเหตุและช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ทันที หากมีแนวโน้มจะเกิดสถานการณ์รุนแรงในพื้นที่ ให้จังหวัดดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุอย่างเคร่งครัด