Home มาเต็มกัญชา เตือนใช้ “กัญชา” อย่าหักโหม – ระวังแพ้!!

เตือนใช้ “กัญชา” อย่าหักโหม – ระวังแพ้!!

96
0
SHARE
หลังปลดล็อกกัญชา จากสารเสพติด ทำให้การปลูกและมีไว้ครอบครอง ไม่มีความผิด แต่ต้องขึ้นทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน ปลูกกัญ ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แต่ล่าสุด มีการร้องเรียนผ่าน “ทนายเกิดผล แก้วเกิด” ได้โพสต์ข้อความผ่านเพจส่วนตัว เล่าถึงร้านกวยจั๊บแห่งหนึ่ง ผสมกัญชาลงในน้ำต้ม โดยไม่ได้บอกลูกค้า เมื่อผู้ร้องเรียน ทานเข้าไป ทำให้มีอาการแพ้รุนแรง จนต้องหามส่งโรงพยาบาล และเตรียมฟ้องเรียกค่าเสียหาย จากร้านดังกล่าว
 
กัญชา สำหรับการปรุงอาหาร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญมีความเป็นห่วง ผู้ที่แพ้กัญชา และร้านที่ฉวยโอกาส แอบใส่กัญชา โดยไม่ได้บอกลูกค้า ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ของคนที่แพ้ในระยะยาวได้
 
ใส่กัญชาในอาหาร ต้องมีป้ายบอกชัดเจน
“ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว” หัวหน้าศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า การนำกัญชา ไปผสมในอาหารสำหรับร้านค้า ควรมีป้ายบอกให้ผู้บริโภคได้รับทราบ อย่างในต่างประเทศ มีการบอกทั้งปริมาณที่ใส่ลงในอาหาร รวมถึงสายพันธุ์กัญชาที่ใช้ เพราะกัญชาแต่ละสายพันธุ์ มีการออกฤทธิ์แตกต่างกัน
 
“เคยมีตัวอย่างผู้สูงอายุ ป่วยด้วยโรคน้ำตาลในเลือดสูง ได้ไปทานอาหารที่มีกัญชาผสม ทำให้น้ำตาลในเลือดตก มีอาการหน้ามืด จนหกล้มกระดูกหัก และมีอาการเรื้อรังต่อจากนั้นอีกหลายเดือน ดังนั้นแม้จะปลดล็อกกัญชา แต่ต้องเร่งทำความเข้าใจกับประชาชน ให้ความรู้ว่า กัญชาไม่ใช่ยาวิเศษที่รักษาได้ทุกโรค แต่มีกลุ่มเปราะบางที่ไม่ควรใช้ เช่น เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยจิตเวช หรือผู้ป่วยที่ต้องใช้ยาจิตประสาท”
 
ความนิยมในการหาซื้อผลิตภัณฑ์จากกัญชาในขณะนี้ ทำให้วิตกกังวล โดยเฉพาะการนำไปใช้ในกลุ่มเยาวชน ที่ผู้ปกครองและโรงเรียนต้องให้ความรู้ถึงผลเสียที่ตามมา หากใช้เกินขนาด หรือไม่เหมาะสม ขณะที่ประชาชนบางส่วนมีความเชื่อว่า กัญชาสามารถทานเพื่อบำรุงสุขภาพ แต่ไม่ได้เหมาะกับร่างกายของทุกคน และอาจทำให้เกิดโทษได้ ถ้ามีโรคประจำตัว ที่ต่อต้านฤทธิ์ของกัญชา อย่างไรก็ตาม อีกประเด็นสำคัญคือ จะต้องซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีราคาเหมาะสม ตามกำลังทรัพย์ของตนเอง เพราะขณะนี้มีเอกชน ผลิตสินค้าออกมาจำหน่ายในราคาแพงกว่าความเป็นจริง
 
ต้องออกกฎหมายลูก ไม่ให้ใช้กัญชาเกินขนาด
สำหรับการควบคุมการใช้กัญชา ไม่ให้เกินปริมาณ รัฐจะต้องเร่งออกกฎหมายลูก เพื่อเข้ามาควบคุมการใช้ให้อยู่ในปริมาณเหมาะสม ซึ่งไม่ควรมีมาตรการคุมขังผู้กระทำผิด ควรมีแนวทางสร้างความเข้าใจ หรือบำเพ็ญประโยชน์ เพราะในต่างประเทศหลายแห่ง การออกกฎหมายควบคุม โดยจำคุกผู้ที่ใช้กัญชา ไม่ประสบความสำเร็จ แต่ควรดึงชุมชน ภาคประชาสังคม ให้มีส่วนในการทำความเข้าใจ ถึงจะทำให้เกิดระบบควบคุมได้
 
ด้วยความที่กัญชา เป็นเรื่องใหม่ของคนไทย ทำให้บางคนที่เริ่มใช้ ใจร้อนและใช้ในปริมาณมาก ทั้งที่จริงการออกฤทธิ์ของกัญชา เหมือนกับระฆังคว่ำ ที่ต้องใช้เวลา กว่าจะออกฤทธิ์ได้เต็มที่ แต่บางคนใจร้อน อยากให้ออกฤทธิ์รวดเร็วจนทานเข้าไปในปริมาณมาก ส่งผลกระทบต่อร่างกาย ทั้งระยะสั้นและระยะยาว
 
 
“การใช้กัญชาของคนไทย ไม่จำเป็นต้องใช้ส่วนดอก เหมือนกับฝรั่ง แค่ใช้ใบก็เพียงพอ เพราะปกติสารเมาที่อยู่ในกัญชาจะออกฤทธิ์ในคนเอเชียได้ดีกว่า เพราะชาวต่างชาติมีไขมันมาก เมื่อทานกัญชาเข้าไป สารเมาจะค่อยๆ แทรกซึมเข้าไปในชั้นไขมัน ทำให้ออกฤทธิ์ช้า แต่คนไทยมีชั้นไขมันน้อย ทำให้เมื่อทานเข้าไป จะออกฤทธิ์ได้เร็วกว่า”
 
กัญชาทางการแพทย์ ผู้ใช้จะต้องทำความเข้าใจว่า ร่างกายแต่ละคนไม่เหมือนกัน ฤทธิ์กัญชาอาจให้ผลดีกับร่างกายบางคน การใช้กัญชา หากใช้ไปแล้วมีผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน หรือเวียนหัว ควรหยุดใช้ ไม่ควรฝืนใช้ต่อ เพราะอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพในระยะยาวได้.
 
ไทยรัฐ https://bit.ly/3MPFHk4