นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) แถลงแก่ผู้สื่อข่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหาร กสทช. เมื่อบ่ายวันที่ 18 ตุลาคม 2560 ว่า
ที่ประชุมมีมติเห็นชอบแนวทางที่สำนักงาน กสทช.เสนอแนวทางการทบทวนอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการ ทีวีดิจิตอล เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยปรับลดอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ดังนี้
1.รายได้จากการประกอบกิจการกระจายเสียง หรือกิจการโทรทัศน์ ตั้งแต่ 0-100 ล้านบาท อัตราค่าธรรมเนียมร้อยละ 0.125
2.รายได้จากการประกอบกิจการฯ เกิน 100-500 ล้านบาท อัตราค่าธรรมเนียมร้อยละ 0.25
3.รายได้จากการประกอบกิจการฯ เกิน 500-1,000 ล้านบาท อัตราค่าธรรมเนียมร้อยละ 0.5
4.รายได้จากการประกอบกิจการฯ เกิน 1,000-5,000 ล้านบาท อัตราค่าธรรมเนียมร้อยละ 0.75
5.รายได้จากการประกอบกิจการฯ เกิน 5,000 ล้านบาท อัตราค่าธรรมเนียมร้อยละ 1.5
จากเดิม อัตราที่เรียกเก็บ รายได้ 0-5 ล้านบาทแรก อัตราค่าธรรมเนียมร้อยละ 0.50 , รายได้ส่วนที่เกินกว่า 5-50 ล้านบาท อัตราค่าธรรมเนียมร้อยละ 0.75 , รายได้ส่วนที่เกินกว่า 50-500 ล้านบาท อัตราค่าธรรมเนียมร้อยละ 1.00 , รายได้ส่วนที่เกินกว่า 500-1,000 ล้านบาท อัตราค่าธรรมเนียมร้อยละ 1.75 , รายได้ส่วนที่เกิน 1,000 ล้านบาทขึ้นไป อัตราค่าธรรมเนียมร้อยละ 2.00
ที่ประชุมให้สำนักงาน กสทช. นำร่างหลักเกณฑ์ร่างประกาศ กสทช.เรื่องค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ (ฉบับที่ 3 ) และให้นำร่างประกาศในการปรับลดอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ที่กล่าวมาข้างต้นนำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (ประชาพิจารณ์) โดยคาดว่าหลังจากรับฟังความคิดเห็นแล้วเสร็จใน 45 วัน และนำเข้าสู่ที่ประชุมเพื่อพิจารณาในเดือนธันวาคม โดยจะสามารถประกาศใช้เป็นกฏหมายได้ในต้นเดือนมกราคม 2561 ต่อไป
เมื่อวันที่ 16 ต.ค.2560 ที่ผ่านมา กสทช.ได้ประชุมร่วมกับ ฝ่ายรัฐบาลที่มี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในการแก้ไขปัญหาทีวีดิจิตอล ซึ่งสำนักงาน กสทช.ได้ชี้แจงและทำความเข้าใจในระบบธุรกิจทีวีดิจิตอล โดยรองนายกได้ให้ กสทช.ไปตัดสินใจแนวทางในการแก้ปัญหาว่าสิ่งใดที่กสทช.ทำได้ไม่ขัดแย้งกับระเบียบ และกฏหมาย และนำสรุปผลมารายงานต่อรองนายกเพื่อพิจารณาอีกครั้ง
ขณะนี้กสทช.ยังไม่ได้รับหนังสือเสนอคำขออย่างเป็นทางการจากสมาคมทีวีดิจิตอล โดยแนวทางที่ผู้ประกอบการเสนอมา 3 แนวทาง เป็นสิ่งที่เกินอำนาจของ กสทช. แต่ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ใช้มาตรา 44 .ที่ช่วยเหลือผู้ประกอบการเมื่อปี 2559 ไปแล้ว โดยยอดเงินจากการประมูล 54,422 ล้านบาท และที่ได้ชำระมาทั้งหมด 4 งวด จำนวน 34,817 ล้านบาท หรือคิดเป็น 64% และที่ยังไม่ชำระอีก 16,837 ล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนที่ยังไม่ชำระ แต่ต้องการให้กสทช.นำเงินจากการแจกคูปองมาช่วยผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลจ่ายค่ามักซ์แทน ซี่งผู้ประกอบการจะต้องจ่ายค่ามักซ์ในแต่ละปีราว 2,500 ล้านบาท โดยผู้ประกอบการให้เหตุผลว่าขณะนี้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสื่อและมีการปฏิรูปสื่อและกสทช.เองไม่สามารถปิดกั้นสื่อเพื่อช่วยเหลือทีวีดิจิตอลได้ จะถามว่าเป็นความล้มเหลวของการประมูลทีวีดิจิตอลหรือไม่นั้น เราไม่สามารถบอกได้เพราะเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก ในอนาคตอีก 2-3 ปีข้างหน้ายังมีการเปลี่ยนแปลงอีกเรื่อยๆ
Matemnews.com 18 ตุลาคม 2560