Home ข่าวทั่วไปรอบวัน คำวินิจฉัยข้างน้อยคดีรับจำนำข้าวของปูยิ่งลักษณ์

คำวินิจฉัยข้างน้อยคดีรับจำนำข้าวของปูยิ่งลักษณ์

670
0
SHARE

 

 

เว็บไซต์ voice tv เสนอข่าวคำพิพากษาของผู้พิพากษาเสียงข้างน้อยในคดีรับจำน้ขาวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อ่านเมื่อ 25 ต.ค.2560

 

https://news.voicetv.co.th/thailand/533041.html

 

เปิดคำวินิจฉัยส่วนตน เสียงข้างน้อยเห็นควรยกฟ้อง ‘ยิ่งลักษณ์’ คดีจำนำข้าว ระบุไม่มีมูลเหตุจูงใจให้เกิดความเสียหาย และ ไม่มีหลักฐานหรือข้อเท็จจริงใด พอจะชี้ให้เห็นว่าการทุจริตการระบายข้าว โดยการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เพียงอย่างเดียวยังไม่ถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมาย

 

 

จากกรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้พิพากษาเมื่อวันที่ 27 กันยายน ที่ผ่านมา ให้จำคุก 5 ปี น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในคดีโครงการรับจำนำข้าว โดยมีความผิดในเรื่องระบายข้าว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงการรับจำนำข้าว โดยองค์คณะผู้พิพากษา มีมติ 8 ต่อ 1 เสียง โดยเสียงข้างน้อย 1 เสียงที่เห็นว่า น.ส. ยิ่งลักษณ์ ไม่ได้กระทำความผิดและพิพากษายกฟ้องคือ นายพิศล พิรุณ โดยความเห็นในการวินิจฉัยคดีมีทั้งสิ้น 13 หน้า สรุปได้ดังนี้

 

 

โจทก์ระบุกฎหมายที่อ้างว่าจำเลยกระทำผิดมา 2 ฉบับ คือ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ในหมวดความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และความผิดต่อ พรป. ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 ซึ่งบัญญัติว่า “ เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติในตำแหน่งหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ” สำหรับมาตรา 157 ประมวลกฎหมายอาญา ก็บัญญัติทำนองเดียวกัน

 

 

 

จากถ้อยคำในตัวบททั้งสองมาตรา การกระทำผิดที่จะเป็นความผิดตามกฎหมายทั้งสองมาตรานั้น ผู้กระทำต้องมีมูลเหตุชักจูงใจหรือมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือ ต้องเป็นการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต กล่าวคือ ลำพังการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพียงอย่างเดียวนั้น ยังไม่ถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมายสองมาตราดังกล่าว หากจะเป็นความผิดข้อเท็จจริงต้องฟังได้ว่า ผู้กระทำมีมูลเหตุชักจูงใจ หรือมีเจตนาพิเศษเพื่อจะให้ผู้หนึ่งผู้ใดได้รับความเสียหายด้วย หรือ มิฉะนั้นการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่นั้น ก็ต้องเป็นไปเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น อันเป็นการกระทำ“ โดยทุจริต” ซึ่งมูลเหตุชักจูงใจหรือเจตนาพิเศษทั้งสองกรณี ดังกล่าว ผู้กระทำต้องประสงค์ต่อผลเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดโดยตรง หรือมุ่งแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยตรง มิใช่เพียงเล็งเห็นว่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือเล็งเห็นว่าน่าจะมีเจตนาทุจริตเท่านั้น

 

 

คดีนี้จากการไต่สวนนำสืบโครงการรับจำนำข้าว ไม่ปรากฏว่ามีพยานหลักฐานใดที่พอจะบ่งชี้ว่าจำเลยได้รับประโยชน์จากการทุจริตในการระบายข้าว ไม่มีหลักฐานหรือข้อเท็จจริงใด ที่พอจะชี้ให้เห็นว่าการทุจริตของบริษัท สยามอินดิก้าจำกัด นั้น จำเลยมีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยหรือเหตุที่จำเลยไม่ยับยั้งโครงการรับจำนำข้าวตามที่โจทก์ฟ้องเป็นเพราะจำเลยต้องการเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัท สยามอินดิก้า ไม่ปรากฏพยานหลักฐานใดที่ส่อแสดงว่าจำเลยมีความสัมพันธ์กับบริษัท สยามอินดิก้า หรือนายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือเสี่ยเปี๋ยง ผู้ก่อตั้งบริษัท สยามอินดิก้า

 

 

ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่า จำเลยมีมูลเหตุชักจูงใจหรือเจตนาพิเศษเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายให้แก่กลุ่มของบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด หรือนายอภิชาติ การละเว้นไม่ยับยั้งโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของจำเลยตามฟ้อง จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และ พรป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542

 

 

 

ส่วนผลการดำเนินโครงการรับจำนำข้าว แม้จะฟังว่าก่อให้เกิดความเสียหายมากมายดังที่โจทก์ฟ้อง หรือฟังว่าไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย แต่เป็นประโยชน์แก่เศรษฐกิจของประเทศโดยรวมดังที่จำเลยต่อสู้ ก็ไม่ใช่สาระที่ต้องมาพิจารณาว่าจำเลยผิดตามฟ้องหรือไม่เพราะผลของโครงการไม่ใช่องค์ประกอบการของความผิดตามบทกฏหมายที่โจทก์ฟ้องและประสงค์จะลงโทษ ดังนั้น จำเลยจึงไม่ได้กระทำผิดตามฟ้อง

 

Matemnews.com  19 ตุลาคม 2560