หลังจากที่ประชาชนที่ถูกน้ำท่วมพากันโพสต์ในเครือข่ายโซเชียล ทางราชการไม่เข้าไปเหลียวแลผู้ถูกน้ำท่วม ทั้งที่ระดับน้ำท่วมและปริมาณน้ำมีมากเท่าน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 แล้ว ก็ปรากฏว่าเป็นครั้งที่แรกที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในการแถลงข่าวแก่สื่อมวลชนหลังประชุมครม.ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อบ่าย 31 ต.ค.2560 ว่า น้ำขณะนี้มีไม่ต่ำกว่าปี 2554
“ขณะนี้เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่าเรามีปัญหาในลุ่มแม่น้ำ มีทั้งหมด 25 ลุ่มน้ำ ลุ่มแม่น้ำที่มีปัญหาคือลุ่มแม่น้ำยม น่าน ลงมาเป็นลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ท่าจีน ภาคอีสาน ลุ่มแม่น้ำชี และแม่น้ำมูล มันมีผลกระทบจากพายุในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ปริมาณน้ำมากกว่าปกติ เรามีการบริหารจัดการน้ำมาตลอด จะบอกว่าไม่ท่วมเลยก็เป็นไปไม่ได้ เพราะเป็นน้ำที่สะสมที่มาจากภาคเหนือส่วนหนึ่ง ปริมาณทั้งหมดไม่ต่ำจากปี 2554 แต่เราจะทำให้เกิดผลกระทบให้น้อยที่สุด ข้อสำคัญคือต้องทำความเข้าใจกับประชาชน ในเรื่องการเก็บเกี่ยวผลผลิต การเพาะปลูกให้สามารถเก็บเกี่ยวได้ก่อนทันเวลา ทำให้สามารถใช้ 12 ทุ่งเป็นแก้มลิงธรรมชาติ ซึ่งขณะนี้สามารถบรรเทาได้พอสมควร วันนี้ผู้ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่อยู่นอกแนวคันกั้นน้ำ ถึงอย่างไรก็ต้องมีปัญหา เพราะอยู่ใกล้แม่น้ำ เราต้องเร่งการระบายน้ำให้เร็วที่สุดให้ทันก่อนน้ำทะเลจะหนุน ขณะนี้ระดับน้ำค่อยลดลงอย่างช้า ๆ เราลดการระบายน้ำที่เขื่อนเจ้าพระยาลงเหลือประมาณ 2,600 ลูกบาศก์เมตรกว่าๆ มีแนวโน้มจะลดลงไปเรื่อยๆ ได้เตรียมการรับมือน้ำท่วมภาคใต้ เพราะฝนเลื่อนจากข้างบนไปข้างล่างตามธรรมชาติ จนถึงขณะนี้ยังไม่มีข่าวว่ามรสุมจะเข้า จากวันที่ 31 ตุลาคมถึง 3 พฤศจิกายน ฝนจะตกภาคใต้และให้ระมัดระวังพายุ นอกจากนี้ได้สั่งการให้เร่งจัดตั้งสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เพื่อให้จัดการประชุมได้โดยเร็วที่สุด ในส่วนข้อมูลต่างๆ ฝ่ายแผน ฝ่ายปฏิบัติ จะรวบรวมแผนงานงบประมาณทั้งหมดของทุกหน่วยงานมาสู่การพิจารณาของคณะกรรมการชุดนี้ ในการที่จะอนุมัติเข้าสู่คณะรัฐมนตรี ที่ผ่านมาเราใช้อำนาจการบริหารจัดการน้ำ ซึ่ง 3 ปีที่ผ่านมา เราทำได้มากพอสมควร อย่างเช่นการพิจารณาในเรื่องของอำเภอบางบาล และอำเภอบางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ใช้งบประมาณไป 10,000 กว่าล้านบาท รัฐบาลทำทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นเรื่องน้ำอุปโภค บริโภค น้ำประปา จะทำให้ครบ 75,000 กว่าหมู่บ้าน ที่ผ่านมา 9,000 กว่าหมู่บ้าน ยังไม่ครบ น่าจะครบภายในปีนี้หรืออย่างช้าในปีหน้า ส่วนในเรื่องน้ำในพื้นที่การเกษตร ทั้งประเทศเราทำได้ไม่เกิน 40 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่การเกษตรทั้งหมด แต่ติดปัญหาเรื่องความสูงเพราะเราต้องปั๊มน้ำจากที่ต่ำขึ้นไปที่สูง ต้องใช้งบประมาณมาก คลองส่งน้ำก็ทำได้ยาก เราจำเป็นต้องปรับพื้นที่ให้เหมาะสมกับการเกษตร จึงอยากให้สื่อมวลชนช่วยกันทำความเข้าใจกับเกษตรกรถึงมาตรการให้ความช่วยเหลือ ในเรื่องการดูแลความเสียหายของบ้านเรือน ทุกอย่างมีกฎหมายอยู่แล้ว โดยจะนำมาขับเคลื่อนให้ได้โดยเร็ว วันนี้ผมได้สั่งการให้เร่งสำรวจในพื้นที่ที่น้ำท่วม บางพื้นที่ไม่เคยท่วมแล้วถูกน้ำท่วมก็เป็นความเสียหาย”
Matemnews.com 31 ตุลาคม 2560