http://www.thaigov.go.th/
นายกรัฐมนตรีมีกำหนดการ เข้าร่วมการประชุมเอเปค ครั้งที่ 25 และการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 31
วันนี้ พลโท วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยภารกิจด้านต่างประเทศของนายกรัฐมนตรีว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีมีกำหนดเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 25 ณ นครดานัง สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ระหว่างวันที่ 10-11 พฤศจิกายน 2560 และการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 31 และการประชุมสุดยอดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ณ กรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ระหว่างวันที่ 12-15 พฤศจิกายน 2560 โดยมีรายละเอียด ดังนี้
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในปีนี้ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามจะเป็นเจ้าภาพการประชุม APEC Economic Leaders’ Meeting ครั้งที่ 25 (25th AELM) ระหว่างวันที่ 10-11 พฤศจิกายน 2560 ณ นครดานัง โดยมีหัวข้อหลัก (Theme) คือ การสร้างพลวัตใหม่และการส่งเสริมการพัฒนาไปสู่อนาคตร่วมกัน (Creating New Dynamism and Fostering Shared Future) ภายใต้ ประเด็นสำคัญ (Priorities) 4 ประเด็น ได้แก่
1) การส่งเสริมการเติบโตที่ครอบคลุม สร้างสรรค์ และยั่งยืน (Promoting Sustainable, Innovative and Inclusive Growth)
2) การส่งเสริมการการรวมตัวทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Deepening Regional Economic Integration)
3) การส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันและนวัตกรรมแก่วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อยในยุคดิจิทัล(Strengthening MSMEs’ Competitiveness and Innovation in the Digital Age)
4) การส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารและเกษตรกรรมอย่างยั่งยืนที่สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Enhancing Food Security and Sustainable Agriculture in Response to Climate Change)
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีไทยจะได้กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุม เพื่อแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการดำเนินการของไทยที่สำคัญในกรอบเอเปค โดยเฉพาะการค้าพหุภาคี FTAAP ความเชื่อมโยง (connectivity) เศรษฐกิจสีเขียว (Green growth / Green economy) และการพัฒนาทุนมนุษย์ รวมถึงนโยบายของรัฐบาลในการยกระดับและพัฒนาเศรษฐกิจ
และบทบาทของไทยในการผลักดัน APEC Strategy for Green, Sustainable and Innovative MSMEs รวมทั้งจะได้ร่วมหารือเกี่ยวกับวาระของเอเปคหลัง ปี ค.ศ. 2020 (Post-2020 Vision) ซึ่งจะมีส่วนในการกำหนดหัวข้อและประเด็นหลักสำหรับการประชุมเอเปค ในปี 2565 (ค.ศ. 2022) ซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพด้วย พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีและผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคจะได้แลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์และส่งเสริมความร่วมมือกับผู้แทนจากภาคธุรกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ในการประชุม การหารือเต็มคณะระหว่างผู้นำเอเปคกับผู้แทนสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค(ABAC) ด้วย
เอกสารผลลัพธ์การประชุม คือ ปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC Economic Leaders’ Declaration) ซึ่งมีภาคผนวก 4 ฉบับ ได้แก่
- วาระการดำเนินการเพื่อส่งเสริมความก้าวหน้าในการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ การเงิน และสังคม (Action Agenda on Advancing Economic, Financial and Social Inclusion)
- กรอบความร่วมมือเอเปคว่าด้วยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในยุคดิจิทัล (APEC Framework on Human Resources Development in the Digital Age)
- ยุทธศาสตร์เอเปคว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ยั่งยืน และมีนวัตกรรม (APEC Strategy for Green, Sustainable and Innovative MSMEs) ซึ่งยกร่างโดยไทยและเปรู
- ข้อริเริ่มเอเปคในการส่งเสริมสตาร์ทอัพที่มีนวัตกรรม (Initiative on Promoting APEC Innovative Start-ups)
สำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 31 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะขึ้น ณ กรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ระหว่างวันที่ 13 – 14 พฤศจิกายน 2560 ซึ่งเป็นปีครบรอบ 50 ปี การก่อตั้งอาเซียน ด้วย นอกจากจะมีการประชุมของผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 2 ในรอบปีแล้ว ยังเป็นการประชุมร่วมกับผู้นำของประเทศคู่เจรจาของอาเซียน โดยมีผู้นำจากจีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐฯ รัสเซีย และสหประชาชาติ รวมทั้ง ผู้นำจากประเทศที่เป็นแขกพิเศษของประธานคือแคนาดา และสหภาพยุโรป เข้าร่วมด้วย
วัตถุประสงค์สำคัญสำหรับการประชุมผู้นำอาเซียนและผู้นำประเทศคู่เจรจาของอาเซียนนั้น เพื่อร่วมประเมินสถานการณ์โลกในปัจจุบันและร่วมกันกำหนดทิศทางความร่วมมือเพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ของความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับแต่ละประเทศคู่เจรจา พร้อมๆ ไปกับการขับเคลื่อนกรอบความร่วมมือต่าง ๆ ที่มีอาเซียนเป็นแกนกลาง เช่นการประชุมอาเซียนบวกสามและการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit – EAS) เพื่อให้สามารถบริหารจัดการความเปลี่ยนแปลงในภูมิภาค และเพื่อหามาตรการร่วมกันในการแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมที่มีผลกระทบต่อภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และกับประชาคมโลก
ทั้งนี้ อาเซียนยังได้ให้ความสำคัญต่อใช้กรอบการประชุมต่าง ๆ คือ อาเซียนบวกหนึ่ง อาเซียนบวกสาม และการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit – EAS) เพื่อเป็นเวทีในการโน้มน้าวให้ประเทศนอกภูมิภาค สนับสนุนกระบวนการสร้างประชาคมอาเซียน และนโยบายสำคัญต่าง ๆ ของอาเซียน เช่น การส่งเสริมความเชื่อมโยงในภูมิภาคการส่งเสริมระเบียบการค้าและการลงทุนที่จะส่งเสริมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง และการส่งเสริมความมั่นคงของมนุษย์ในภูมิภาค
โอกาสนี้ ฟิลิปปินส์ ได้กำหนดหัวข้อหลักสำหรับการเป็นประธานอาเซียนในปีนี้ว่า “Partnering for Change, Engaging the World” โดยมีประเด็นสำคัญ ๆ ดังนี้ (1) การสร้างประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง (2) การส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงภายในภูมิภาค (3) การส่งเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคงทางทะเล (4) การส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมและนำโดยนวัตกรรม (5) การส่งเสริมความเข้มแข็งในภูมิภาค และ (6) การส่งเสริมให้อาเซียนเป็นต้นแบบในการรวมตัวในระดับภูมิภาค และมีบทบาทสำคัญในระดับโลก
เอกสารผลลัพธ์ ที่ผู้นำจะลงนามมี 2 ฉบับ ได้แก่ ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยนวัตกรรม และฉันทามติอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของแรงงานต่างด้าว
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวในตอนท้ายว่า นายกรัฐมนตรีจะผลักดันประเด็นสำคัญในที่ประชุมต่าง ๆ ครอบคลุม ทั้งการพัฒนาศักยภาพของประชาคมอาเซียนที่จะสามารถแก้ไขปัญหาความท้าทายทั้งจากในและนอกภูมิภาค เพื่อให้อาเซียนสามารถมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีพลวัตและการพัฒนาที่ยั่งยืน ตอกย้ำความสำคัญของการที่อาเซียนจะต้องมีเอกภาพเพื่อสามารถคงไว้ซึ่งความเป็นแกนกลางของอาเซียนในโครงสร้างสถาปัตยกรรมในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และศักยภาพของอาเซียนในการบริหารจัดการความเปลี่ยนแปลงในภูมิภาค โดยส่งเสริมระบบภูมิภาคนิยมและพหุภาคีนิยม เพื่อปูทางไปสู่การที่ทั้ง 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนจะร่วมมืออย่างใกล้ชิดต่อไปในช่วงหลังวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. 2025 เพื่อส่งเสริมประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง และเสริมสร้างความมั่นคงของมนุษย์และไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง
Matemnews.com 8 พฤศจิกายน 2560