นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว. พลังงาน รัฐบาลพรรคเพื่อไทย แถลงแก่ผู้สื่อข่าวเมื่อตอนเช้าวันที่ 9 พ.ย.2560 ว่า ตามที่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถามคำถาม 6 ข้อ ซึ่งเป็นคำถามที่น่าจะสะท้อนกลับไปในความคิดที่น่าจะดูสับสนของผู้ถาม ไม่แน่ใจว่ามีจุดประสงค์ในการถาม 6 คำถามนี้เพราะอะไร ต้องการที่จะอยู่ต่อ หรือ ต้องการตั้งพรรคทหารของ คสช. เองใช่หรือไม่ ? หรือ ต้องการเบี่ยงเบนความนิยมที่ตกต่ำที่โพลสำรวจบอก หล่นลง 26% จาก 78% เหลือ 52% ของ ซุปเปอร์โพล เพราะน่าจะส่งผลสะท้อนเข้าตัวของผู้ถามเองมากกว่า ว่ามีความเชื่อและความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยดีขนาดไหน จึงขอตอบคำถามดังนี้
1) มีการพูดกันเสมอถึงพรรคการเมืองใหม่ นักการเมืองใหม่ แต่สุดท้ายประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินว่าอยากให้ใครบริหารประเทศ ในอดีต ก็มีพรรคการเมืองใหม่เกิดขึ้นมาโดยตลอด แต่ไม่ปรากฏว่าพรรคการเมืองจากทหารตั้งจะประสพความสำเร็จ พรรคการเมืองตั้งใหม่ในประวัติศาสตร์ของพรรคการเมืองใหม่ที่สำเร็จสูงสุดก็น่าจะเป็น พรรคไทยรักไทย จนกระทั่งมีปฏิวัติ ซึ่งไม่ใช่พรรคของทหาร และมีหลายปัจจัยที่ทำให้สำเร็จโดยเฉพาะปัจจัยผู้นำ ดังนั้น ประชาชนจะเลือกพรรคการเมืองและนักการเมืองที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์และมีหลักคิดดี ซึ่งต้องถามประชาชนว่า 3 ปีที่ผ่านมา มีความสุขไหม ดีกว่าของเดิมหรือไม่ หากมีความสุขก็เลือกพรรคการเมืองที่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ แต่ถ้าไม่มีความสุขก็ขอให้เลือกพรรคเพื่อไทย
2) คสช. ถ้าในฐานะประชาชนทั่วไป มีสิทธิที่จะสนับสนุนพรรคใดก็ได้ แต่ คสช ในฐานะผู้กุมอำนาจรัฐที่ให้คุณให้โทษได้ การสนับสนุนพรรคใดก็จะทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบของพรรคการเมือง และอาจมีการใช้อำนาจรัฐในทางที่ผิดๆ เหมือนกับการโหวตประชามติ ที่ห้ามการวิพากษ์วิจารณ์จนเป็นปัญหาในปัจจุบัน แม้นายกฯ จะลงเลือกตั้งไม่ได้ แต่รัฐธรรมนูญเปิดโอกาสให้ นายกฯ สามารถมาเป็นนายกคนนอกได้ ซึ่งสามารถเอื้อประโยชน์ให้ตัวเองกลับมาเป็นนายกอีกได้ ซึ่งถือเป็นประโยชน์ทับซ้อน นอกจากพลเอก ประยุทธ์ และคสช ทุกคน จะประกาศเลยว่าจะไม่กลับมาเป็นนายก และ ไม่มาเป็นรัฐบาลอีก หลังการเลือกตั้ง
3) ประชาชน น่าจะตอบตอบคำถามนี้ได้ดี ว่า 3 ปี ผ่านมามีอะไรดีขึ้นบ้าง อนาคตเห็นอะไรบ้าง และถ้า พลเอกประยุทธ์จะมาเป็นนายกต่อ จะเป็นอย่างไร ? นอกจากนี้ยังมี ปัญหาความเหลื่อมล้ำไทยติดอันดับ 3 ของโลก และ ปัญหาความโปร่งใสและการทุจริตไทยหล่นมาอยู่อันดับที่ 101 เป็นต้น จะแก้ไขอย่างไร
4) การจัดตั้งรัฐบาล ควรจะเป็นหลักการสากล คือ ต้องเคารพสิทธิและเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน (ตามที่พลเอกประยุทธ์อ้างถึงว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย) ประชาชนส่วนใหญ่เลือกพรรคใดและอยากให้พรรคใดบริหารประเทศ ก็ควรจะเคารพเสียงของประชาชน ซึ่งหากพลเอกประยุทธ์เคารพเสียงประชาชนจริงอย่างที่พูด และอยากเป็นนายกต่อ ก็ควรจะลงสมัครรับเลือกตั้ง และถ้าประชาชนเลือกพรรคของพลเอกประยุทธ์เป็นเสียงข้างมาก พลเอกประยุทธ์ก็จะเป็นนายกอย่างสง่างาม มากกว่าจะเป็นนายกคนนอก และต้องถามว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในอดีตเกิดมาจากการจัดตั้งโดยทหารมีส่วนร่วมด้วยเหมือนที่นักวิชาการวิเคราะห์ใช่หรือไม่
5) ต้องยอมรับว่า นักการเมืองในอดีต อาจจะมีปัญหาอยู่บ้าง ซึ่งต้องปรับเปลี่ยนและพัฒนาตัวเอง แต่ก็เป็นขั้นตอนการพัฒนาการของระบอบประชาธิปไตยที่ต้องใช้เวลา และปัญหาที่มีการปฏิวัติบ่อยทำให้การพัฒนาการการเมืองต้องหยุดชะงัก ทั้งนี้ สภาวะการเมืองในปัจจุบัน และทุกครั้งที่มีการปฏิวัติก็ไม่ปรากฏว่าจะมี ประสิทธิภาพ และธรรมาภิบาลมากกว่ารัฐบาลที่มากจากการเลือกตั้ง และความจริงคือ ประเทศพัฒนาในช่วงที่เป็นประชาธิปไตยมากกว่าช่วงมีรัฐบาลมาจากการปฏิวัติ
6) ผมเองเป็นคนหนึ่งที่ให้ความเห็นและวิจารณ์รัฐบาลมาโดยตลอด บนข้อมูลของรัฐและข้อมูลที่เป็นจริงทั้งหมด ซึ่งเวลาบอกว่าอะไรบิดเบือน ก็ต้องบอกว่าอะไรที่ถูกต้องและไม่บิดเบือน เรื่องอะไรที่บิดเบือน เรื่องอะไรที่ถูกโจมตี อย่างเช่น ช่วงล่าสุดที่ถูกวิจารณ์มากเช่น แถลงการณ์ร่วมไทย สหรัฐ ใครบิดเบือน มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก มาหรือไม่มา ใครบิดเบือน หรือ อันดับความสะดวกในการทำธุรกิจที่ตกต่ำกว่าช่วงก่อนปฏิวิติใครบิดเบือน บางทีรัฐบาลต้องมองตัวเองว่า การที่มีคนออกมาวิจารณ์มาก อาจจะเป็นเพราะผลงานที่ย่ำแย่ ประชาชนลำบากมากขึ้นหรือไม่ สะท้อนออกมาตามโพลที่ความนิยมลดลงใช่หรือไม่ ถ้าหากยังไม่แยกไม่ออกและยังไม่เข้าใจระหว่างการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริตและการบิดเบือน การเข้าสู่การเมืองในระบอบประชาธิปไตยจะลำบากอย่างมาก
ดังนั้นจึงอยากให้พลเอกประยุทธ์ได้ศึกษาหลักการทางประชาธิปไตยให้ชัดเจนก่อนและมีหลักคิดที่ถูกต้อง หากจะคิดตั้งพรรคเพื่อสนับสนุนตนเองให้เป็นนายกต่อหลังการเลือกตั้ง
Matemnews.com 9 พฤศจิกายน 2560