นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) แถลงแก่ผู้สื่อข่าวเมื่อเช้าวันที่ 12 พ.ย.2560 ถึงคำถาม 6 ข้อ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่ สอบถามประชาชน ว่า
“ความเห็นของผมเป็นมุมมองของผู้รักษากติกา จากตัวบทกฎหมายที่มี หากเข้าใจผิดขอให้ผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมาย หรือปรมาจารย์ผู้ร่างกฎหมายช่วยแลกเปลี่ยนให้เกิดความกระจ่างด้วย โดยจะขอตอบประเด็นคำถามที่ 2 เพียงประเด็นเดียวที่ว่า “คสช.สามารถสนับสนุนพรรคการเมืองใดได้หรือไม่” ในประเด็นนี้ ต้องตีความหมายว่า คสช.หมายถึง สมาชิก คสช.ในฐานะที่เป็นตัวบุคคล หรือ คสช.ที่เป็นหนึ่งอำนาจรัฐ ที่เป็นกลไกสำคัญในแม่น้ำห้าสาย มีบทบาทเหนือ ครม. สนช. กรธ. และคณะกรรมการยุทธ์ศาสตร์แห่งชาติ หาก คสช.หมายถึงแค่ตัวบุคคลแต่ละคน ย่อมเป็นสิทธิส่วนบุคคลของท่านในการสนับสนุนพรรคการเมือง ตามที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ.ให้สัมภาษณ์ แต่หากคสช.หมายถึงองค์อำนาจที่ชี้เป็นชี้ตายในเรื่องต่างๆของบ้านเมืองได้ การที่คสช.จะประกาศว่าจะสนับสนุนพรรคการเมืองใด คงไม่เหมาะสมและต้องคำนึงถึงข้อกฎหมาย ในหลายมาตรา
มาตรา 29 ของพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ห้ามมิให้ผู้ใดซึ่งมิใช่สมาชิกกระทำการใดอันเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำกิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทำให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ ทั้งนี้ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ซึ่งทางออกในมาตรานี้ คือ คสช.รายบุคคล ต้องสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง จึงสามารถไปมีส่วนในการกำหนดนโยบายหรือชี้นำกิจกรรมของพรรคได้
มาตรา 73 ของกฎหมายฉบับเดียวกัน ห้ามมิให้ข้าราชการการเมือง ใช้สถานะหรือตำแหน่งหน้าที่เรี่ยไรหรือชักชวนให้มีการบริจาคให้พรรคการเมืองหรือผู้สมัครรับเลือกตั้ง ในประเด็นนี้อาจเกี่ยวข้องเฉพาะ คสช.ที่มาดำรงตำแหน่งทางการเมือง เช่น นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ที่ปรึกษา ไปจนถึงสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พึงระมัดระวัง หากไปใช้สถานะในตำแหน่งเพื่อสนับสนุนในเชิงเรี่ยไรหรือบริจาคแก่พรรคการเมืองที่ตนสนับสนุน
มาตรา 56 ของร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. พ.ศ. … ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย กระทำการใดๆเพื่อเป็นการให้คุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมือง กรณีนี้คสช.ไม่ได้มีสถานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ (ไม่ใช่ข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว หรือ พนักงานของรัฐ) แต่ คสช.สามารถใช้อำนาจหน้าที่ผ่านเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องระมัดระวังอย่างยิ่งในการใช้อำนาจดังกล่าวที่อาจเป็นคุณหรือโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมือง
มาตรา 169 (4) ของรัฐธรรมนูญ กำหนดว่า คณะรัฐมนตรีต้องไม่ใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐเพื่อกระทำการใดอันอาจมีผลต่อการเลือกตั้ง ซึ่งในกรณีนี้ เป็นการบังคับในช่วงที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้มีการเลือกตั้ง ดังนั้น คสช.ที่ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีจำเป็นต้องระมัดระวังอย่างยิ่งในการดำเนินการใดๆที่อาจมีผลต่อการเลือกตั้ง
นอกจากนี้ หากอยู่ในช่วงมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง มาตรา 51/3 ของร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. พ.ศ. … ยังกำหนดว่าการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนอันมีลักษณะชี้นำหรือเป็นผลต่อการตัดสินใจในการลงคะแนนหรือไม่ลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครผู้ใดหรือพรรคการเมืองใดจะกระทำมิได้
และ มาตรา 52 ของร่างกฎหมายฉบับเดียวกัน ยังห้ามมิให้ผู้สมัครหรือผู้ใด จูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยม ดังนั้น หากกระทรวงมหาดไทยโดยศูนย์ดำรงธรรม มีการสำรวจความเห็นประชาชน ควรคำนึงถึงคำถามที่มีความเป็นกลาง ไม่มีลักษณะชี้นำหรือมีผลต่อการตัดสินใจในการลงคะแนน และหากมีการประกาศกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง ควรหยุดการสำรวจทันที
การยกประเด็นกฎหมายต่างๆนี้ เป็นการชี้ให้เห็นว่า ตัวรัฐธรรมนูญ และกฎหมายลูกของกรธ. โดย อ.มีชัย ได้สร้างหลักการที่ดี เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความสุจริตเที่ยงธรรม ไม่เปิดโอกาสให้ผู้มีอำนาจใช้อำนาจของตนเพื่อสร้างความได้เปรียบในการเลือกตั้ง ดังนั้น การตอบคำถามที่ตรงไปตรงมาเท่านั้นที่จะช่วยให้เกิดสภาวะที่เที่ยงธรรมได้ การตอบคำถามโดยอคติเพื่อมุ่งเอาใจบางคนบางฝ่ายกลับเป็นยาพิษต่อสังคมและผู้ถามที่อาจหลงตามว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ทั้งหมดนี้คือคำตอบคำถามข้อที่สองของท่านนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับ กกต.ในฐานะผู้รักษากติกา ส่วนคำถามข้ออื่นๆนั้นไม่ได้เกี่ยวข้อง จึงขออนุญาตไม่ตอบ
Matemnews.com 12 พฤศจิกายน 2560