http://www.thaigov.go.th
นายกรัฐมนตรีร่วมประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจังหวัดภาคใต้และภาคใต้ชายแดน เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ภาค พร้อมเน้นย้ำการประมูลโครงการต่าง ๆ ต้องโปร่งใส เป็นธรรมกับทุกฝ่าย ขณะที่การใช้จ่ายงบฯ ต้องคุ้มค่าเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน
วันนี้ (27 พ.ย.60) เวลา 20.53 น. ณ ห้องประชุมสมิหลา โรงแรมบีพี สมิหลา บีช อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจังหวัดภาคใต้และภาคใต้ชายแดน (Working Dinner) ร่วมกับคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้แทนภาคเอกชน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้แทนเกษตรกร ภาคใต้และภาคใต้ชายแดน เพื่อหารือเกี่ยวกับทิศทางการพัฒนาภาคใต้และทิศทางการพัฒนาภาคใต้ชายแดน ดังนี้
ที่ประชุมได้พิจารณาทิศทางการพัฒนาภาคใต้ที่มีศักยภาพด้านแหล่งท่องเที่ยวที่สร้างรายได้ให้กับพื้นที่ รวมทั้งการผลิต ภาคเกษตร และการได้เปรียบด้านที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ จึงกำหนดให้ยุทธศาสตร์การพัฒนามุ่งเน้นในเรื่องการพัฒนาการท่องเที่ยวของภาคใต้ เป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพชั้นน้ำของโลก พัฒนาอุตสาหกรรม การแปรรูปยางพารา และปาล์มน้ำมัน พัฒนาผลิตสินค้าเกษตร และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสนับสนุนการท่องเที่ยว การพัฒนาเขตอุตสาหกรรม และเชื่อมโยงการค้าโลก
สำหรับทิศทางการพัฒนาภาคใต้ชายแดนนั้น โดยที่ภาคใต้ชายแดน ซึ่งยึดการผลิตด้านการเกษตร รูปแบบเดิมและแปรรูปชั้นต้น รวมทั้งพื้นที่ยังเผชิญกับปัญหาความไม่สงบ แต่ศักยภาพของภาคยังมีอีกมาก เช่น แหล่งท่องเที่ยว และพื้นที่อุตสาหกรรม เป็นต้น จึงวางแผนการพัฒนาภาคโดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาความมั่นคงให้กับการผลิตภาคเกษตร พัฒนาเมืองสุไหงโก-ลก และเมืองเบตง ให้เป็นเมืองการค้าและเมืองท่องเที่ยวชายแดน และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน
ในโอกาสนี้ นายวัฒนา ธนาศักดิ์เจริญ รองประธานหอการค้าไทยและประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคใต้ หอการค้าไทย ได้มีข้อเสนอการกำหนดแนวทางการพัฒนาภาคใต้และภาคใต้ชายแดน “ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสนับสนุนการท่องเที่ยว และการค้า การลงทุน” โดยมุ่งเน้นการเชื่อมโยงโครงข่ายโลจิสติกส์เชื่อมโยง 2 ฝั่งทะเล (อ่าวไทย และอันดามัน) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและสนับสนุนการท่องเที่ยว การค้า การลงทุน และการขนส่งของภาคใต้ ซึ่งจะส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันและการพัฒนาในทุกด้าน โดยการพัฒนาเชื่อมโยงโครงข่ายทั้งระบบให้สมบูรณ์ (ทางราง ทางทะเล ทางอากาศ และทางบก) และเพิ่มศักยภาพในการเชื่อมโยงจากจีนสู่ภาคใต้ รวมทั้งประเทศในกลุ่มอาเซียน+6 และกลุ่มประเทศ BIMSTEC เพื่อเปิดประตูภาคใต้สู่การเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคม ประกอบด้วย (1) การพัฒนาเส้นทางรถไฟเชื่อมโยงโครงข่ายระบบราง (2) การพัฒนาท่าเรือเชื่อมโยงโครงข่ายทางทะเล (3) การพัฒนาและปรับปรุงสนามบินเชื่อมโยงโครงข่ายทางบกและทางราง เช่น การพัฒนาสนามบินหลักและสนามบินรองที่มีศักยภาพในการเชื่อมโยงโครงข่ายทางบกและทางรางที่สะดวกสามารถรองรับนักท่องเที่ยวและผู้เดินทางที่มีปริมาณเพิ่มขึ้น และ(4) การพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายทางถนน
ด้าน นายสิทธิพร จริยพงษ์ รองประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ได้ขอบคุณรัฐบาลที่มีนโยบายผลักดันนิคมอุตสาหกรรมยางพารา (Rubber City) ในภาคใต้ ซึ่งยางพาราเป็นพืชหลักของเกษตรกรในภาคใต้ จึงขอให้รัฐบาลเร่งรัดและผลักดันอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการดำเนินการและมีการลงทุนให้เป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่องอย่างครบวงจร ประกอบด้วย (1) ออกมาตรการหรือประกาศเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อส่งเสริมให้มีการใช้ยางพาราในประเทศอย่างเป็นรูปธรรม (2) ให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ส่งเสริมให้เอกชน หรือการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) นำยางมาทำผลิตภัณฑ์เอง เช่น ยางรถยนต์ ยางรถจักรยานยนต์ (3) ประกาศเป็นนโยบายรัฐบาลส่งเสริมสนับสนุนเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อย (ที่มีพื้นที่ปลูก 25 ไร่ลงมา) ได้มีอาชีพเสริมในสวนยาง เช่น ปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ หรือปลูกพืชร่วม พืชแซมยาง อาทิ ปลูกกล้วย ปลูกกาแฟหรือพืชอื่น ๆ ตามความต้องการของตลาดและความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ เรื่องของปาล์มน้ำมัน เสนอควรให้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มโดยเร่งด่วน และเสนอให้คณะรัฐมนตรีมีมติให้การพัฒนาปาล์มน้ำมันเป็นไปตามยุทธศาสตร์การปฏิรูปปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มทั้งระบบ ปี 2560 – 2579 สำหรับเรื่องผลไม้และพืชผัก เสนอกำหนดเป็นนโยบายเพื่อควบคุมล้งจีนที่เข้ามาตั้งแผงรับซื้อผักและผลไม้ โดยใช้คนไทยเป็นนอร์มินี ให้กระทรวงพาณิชย์เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ รวมทั้งสนับสนุนให้เกษตรกรผลิตผลไม้ที่มีคุณภาพ ปลอดสารพิษเพื่อยกระดับเพิ่มมูลค่าผลผลิตและความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนจัดหาแหล่งเงินทุนให้กับเกษตรกร องค์กรเกษตรกร เพื่อแปรรูปและเพิ่มมูลค่าผลผลิตและพัฒนาเพื่อส่งออกไปต่างประเทศได้ ด้านแรงงานประมง เสนอให้จัดตั้งศูนย์ฝึกอาชีพให้แรงงานไทยทดแทนแรงงานต่างด้าว และเพื่อรักษาระบบนิเวศชายฝั่งและให้ประชาชนมีอาชีพประมงชายฝั่งอย่างยั่งยืน จะต้องพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสียจากชุมชนเมือง ชุมชนริมแม่น้ำโดยบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยสู่คลองธรรมชาติ ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ ส่วนการเพิ่มศักยภาพการผลิตและการตลาดเสนอการจัดตั้งตลาดกลางสินค้าเกษตรชายแดนสุไหงโก-ลก โครงการพัฒนาการผลิตเนื้อครบวงจร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การส่งออกอาหารฮาลาล จังหวัดชายแดนภาคใต้
ขณะที่ นายนิพนธ์ บุญญามณี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ได้เสนอแนวทางเกี่ยวกับการบริหารงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น การปรับปรุงหลักเกณฑ์ กรณีการใช้จ่ายเงินสะสมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามมาตรการสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจ และสังคม ภายในท้องถิ่น การปรับปรุงและฟื้นฟูสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยที่ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ จังหวัดสงขลา เพื่อแก้ไขปัญหาขยะสะสมตกค้างกว่า 2.4 ล้านตัน และการแก้ไขปัญหาจราจรเขตเมืองใหญ่ โครงการระบบขนส่งมวลชนโดยระบบราง Monorail อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เป็นต้น
โดยนายกรัฐมนตรี พร้อมรับข้อเสนอของภาคเอกชน ผู้แทนเกษตรกร และผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคใต้และภาคใต้ชายแดน ไปพิจารณาโดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาถึงความเป็นไปได้และพิจารณาดำเนินการต่อไปตามความเหมาะสม พร้อมเน้นย้ำทุกฝ่ายช่วยกันสร้างรับรู้ให้กับประชาชนในพื้นที่เกิดความเข้าใจและเห็นถึงความสำคัญและจำเป็นต่อการดำเนินโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาลอันจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่และประเทศโดยรวม
รวมทั้งเน้นย้ำการใช้จ่ายงบประมาณเป็นไปอย่างคุ้มค่า และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและเป็นเทศชาติอย่างแท้จริง ตลอดจนการดำเนินการหรือการประมูลโครงการต่าง ๆ ต้องเป็นไปด้วยความโปร่งใส เป็นธรรมกับทุกฝ่ายและไม่ก่อให้เกิดการทุจริตเกิดขึ้นโดยเด็ดขาด
ทั้งนี้ การที่รัฐบาลกำหนดให้มีการลงพื้นที่เพื่อตรวจราชการจังหวัดปัตตานีและประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ณ จังหวัดสงขลา เพื่อเร่งรัดขับเคลื่อนให้จังหวัดภาคใต้และภาคใต้ชายแดนได้มีการพัฒนารวดเร็วมากขึ้นและทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกภายนอก
———————-
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก