หลังเสร็จสิ้นการแถลงข่าวหลังประชุมครม. ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย อ.เมือง จ.สงขลา เมื่อบ่ายวนัที่ 28 พ.ย.2560 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวถึงการแก้ปัญหาการทำประมง ว่า
“เราจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงให้สอดคล้องกับแนวทางของสหภาพยุโรป ในการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ที่จริงแล้วเราไม่สามารถตอบได้ว่าปลาที่เราจับได้จากเรือประมงของเราจับมาจากที่ไหน อย่างไร พิสูจน์ไม่ได้ เราต้องทำให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น รวมถึงการรักษาทรัพยากรสัตว์น้ำของเราในพื้นที่เขตทะเลที่เป็นอาณาเขตของเรา และในทะเลชายฝั่ง รวมถึงประมงชายฝั่งและประมงพื้นบ้าน ในส่วนของภายในประเทศเรา คือการจับปลาของประมงในพื้นที่ทะเลในอาณาเขตต้องไม่ล่วงล้ำกับประมงพื้นบ้าน ซึ่งเราต้องแก้ปัญหาให้ได้ เหตุการณ์ที่ปัตตานีเมื่อวันที่ 27 พ.ย. ผมจำเป็นต้องพูดเสียงดังไปเล็กน้อย เพราะการพูดจาบางทีต้องให้เกียรติซึ่งกันและกัน ไม่ต้องใช้คำพูดรุนแรงใส่ผม ผมบอกแล้วว่าทุกอย่างผมจะรับแก้ปัญหาให้ แต่การแก้ปัญหาประมงต้องสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศด้วย มิฉะนั้นเขาจะต่อต้านสินค้าทั้งหมดของเรา สัตว์น้ำที่ถูกจับมาโดยไม่มีที่มา จากนี้ไปอียูจะไม่รับซื้ออีกแล้ว และจะไม่รับซื้อสินค้าของผู้ประกอบการที่ใช้แรงงานไม่ถูกกฎหมาย มีการค้ามนุษย์ หรือใช้แรงงานเด็ก เรื่องเหล่านี้เราปิดใครไม่ได้ ดังนั้นพวกเรากันเองอย่าปกปิดราชการ ต้องให้หน่วยงานราชการไปดูแลแก้ไข สำหรับช่วงเวลาที่ให้มีการพักหรือชะลอการจับสัตวน้ำก็มีช่วงเวลาอยู่แล้วว่าในแต่ละปีจะมีการพักฟื้น การเพาะพันธุ์วางไข่ จึงต้องหยุดการทำประมงไปช่วงเวลาหนึ่ง ที่ผ่านมาก็เป็นแบบนี้มาตลอด แต่ถ้าวันนี้มาอ้างว่าทำให้สูญเสียรายได้ไป คงไม่ได้ ดังนั้นต้องไปพูดคุยกันเพื่อหาวิธีการอื่น โดยไม่ต้องใช้การพูดจารุนแรงใส่ผม วันนี้ต้องฟังชาวประมงที่อยู่ตามชายฝั่งที่เขาบอกว่าเขาจับปลาได้มากขึ้น ปลาตัวใหญ่มากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากนโยบายหรือเป็นโครงการพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ที่ทำให้มีการทำปะการังเทียมเพื่อเป็นที่พักฟื้น เป็นแหล่งเพาะะพันธุ์ปลา และเป็นที่หลบคลื่นหลบลม เรื่องอย่างนี้ในต่างประเทศมีกฎหมายกำหนดชัดเจนถึงพื้นที่ที่ให้จับปลา ขนาดของปลา แต่ของเราไม่ได้เป็นแบบนั้น จับมาทุกอย่างทุกชนิด เพราะฉะนั้นมันไม่ได้ แต่ผมไม่ต้องการให้ใครเดือดร้อนทั้งสิ้น แต่ทุกคนต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของคนอื่นด้วย นึกถึงประเทศชาติ อย่าลืมว่าตลาดอียูเป็นตลาดใหญ่ของเราในเรื่องการส่งออกสินค้าทุกอย่าง ถ้าถูกต่อต้านทั้งหมด จะเป็นปัญหาใหญ่กับเรา และเราไม่สามารถไปตอบโต้ได้มากนัก ดังนั้นขอให้ฟังซึ่งกันและกัน ผมรับฟังทุกประการ ขอให้พูดกันดีๆ ผมจะหาทางให้ มันมากน้อย ก็ดีกว่ามาใช้อารมณ์ ผมให้แนวทางไปว่าการทำประมงต้องดูในเรื่องการควบคุมเรือขนาดเล็กให้มีความปลอดภัย เครื่องมือจับสัตว์น้ำตื้นจะทำอย่างไร อีกทั้งต้องไปดูว่าความสมดุลกับธรรมชาติกับผลประโยชน์ที่ได้รับจากกิจการของคนแต่ละกลุ่มมันพอเพียงหรือไม่ เพราะบางครั้งมันขยายมากเกินไป ยิ่งการทำประมงนอกน่านน้ำที่ใช้เรือขนาดใหญ่ มีเรือ 30,000-40,000 ลำ ผิดกฎหมายก็มีมากแต่ตอนนี้ลดลงไปแล้วเป็น 10,000 ลำ การแก้ปัญหาประมง ทุกคนรวมถึงเจ้าหน้าที่ก็เหน็ดเหนื่อย เพราะเป็นแรงงกดดันเจ้าหน้าที่และรัฐบาล”
Matemnews.com 28 พฤศจิกายน 2560