Home ข่าวทั่วไปรอบวัน พลเอกประยุทธ์ล่องเรือแจกของน้ำท่วมตรัง

พลเอกประยุทธ์ล่องเรือแจกของน้ำท่วมตรัง

777
0
SHARE

 

วันนี้ (8 ธันวาคม 2560) เวลา 09.20 น. ณ หอประชุมโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยตรัง ตำบลบางรัก อำเภอเมือง จังหวัดตรัง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะ ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมพื้นที่ประสบอุทกภัย เพื่อติดตามสถานการณ์และความก้าวหน้าการช่วยเหลือผู้ประสบภัยเฉพาะหน้าของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการเยียวยาและฟื้นฟูพื้นที่ประสบอุทกภัย เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจแก่ประชาชนผู้ประสบอุทกภัย ในจังหวัดตรัง

นายศิรพัฒ  พัฒกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ให้การต้อนรับ พร้อมกล่าวถึง สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอุทกภัยในจังหวัดตรัง ว่า ปริมาณน้ำจากจังหวัดนครศรีธรรมราชทางด้านทิศเหนือของจังหวัดตรัง ทั้งจากอำเภอบางขันและอำเภอทุ่งสง  ได้ไหลรวมกัน และลงสู่แม่น้ำตรังผ่าน 5 อำเภอ ก่อนลงสู่ทะเลอันดามัน  อีกทั้งปริมาณน้ำจากเทือกเขาบรรทัด  ทางด้านทิศตะวันออกของจังหวัดตรัง ก็ไหลลงแม่น้ำตรังและคลองปะเหลียน ในช่วงระหว่างวันที่ 21-26 พฤศจิกายน 2560

พร้อมกันซึ่งทางจังหวัดได้ดำเนินการตามหลักปฏิบัติและขั้นตอนของแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และแผนเผชิญเหตุที่กำหนดไว้อย่างต่อเนื่อง แต่ปริมาณน้ำฝนที่มีสูงมาก  ทำให้น้ำในแม่น้ำตรังและคลองปะเหลียนล้นตลิ่งและเชี่ยวกราก ก่อให้เกิดน้ำล้นตลิ่งตลอดแนวแม่น้ำตรัง  และล้นพนังกั้นน้ำซึ่งก่อสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2492 ในเขตอำเภอเมืองตรัง จนเกิดการกัดเซาะผิวบนลึกประมาณ 2 เมตร ที่ตำบลบางรัก และพังทลายที่ตำบลหนองตรุด  4 หมู่บ้าน ตำบลนาโต๊ะหมิง 4 หมู่บ้าน และตำบลบางรัก 6 หมู่บ้าน รวมพื้นที่ประมาณ 3,800 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นสวนยางพารา และปาล์มน้ำมัน รวมทั้งมีน้ำป่าไหลลงมาจากเทือกเขาบรรทัด ตั้งแต่อำเภอนาโยง  อำเภอย่านตาขาวและอำเภอปะเหลียน  ลงคลองปะเหลียนทำให้มีน้ำล้นตลิ่ง แต่ท่วมขังไม่นาน

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ได้เยี่ยมเยียนพบปะกับประชาชนในพื้นที่ จำนวน  800 ราย โดยมอบเงินกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี ให้แก่ญาติผู้เสียชีวิตที่ประสบอุทกภัยเพื่อใช้เป็นค่าจัดการศพ  จำนวน 4 ราย รายละ 50,000 บาท และมอบถุงยังชีพแก่ผู้ประสบอุทกภัย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและสร้างขวัญกำลังใจให้กับประชาชนในพื้นที่ พร้อมกล่าวว่า ปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นนั้น ได้เกิดขึ้นกับทุกภูมิภาค เพราะปัจจุบันสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงไป อุณหภูมิโลกร้อนขึ้น ทำให้น้ำแข็งในขั้วโลกละลาย ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อทั่วโลกในอนาคตจึงขอให้ประชาชนมีการปรับตัวให้สอดคล้องกับกับธรรมชาติและสภาพอากาศของโลกที่เปลี่ยนแแลงอยู่ตลอดเวลา เพื่อจะได้เตรียมพร้อมรับมืออย่างทันท่วงที

อย่างไรก็ตามนายกรัฐมนตรี ได้ขอให้ทุกหน่าวยงานทั้งในพื้นที่และส่วนกลางได้ดูแลประชาชนผู้ประสบอุทกภัยอย่างทั่วถึง และให้บริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ รวมถึงการดูแลเรื่องที่อยู่อาศัย กรณีที่ประสบอุทกภัยซ้ำทุกปี เพื่อจะหาที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมให้  พร้อมเน้นย้ำประชาชนอย่าก่อสร้างอาคารบ้านเรือนกีดขวางทางน้ำ เพราะจะทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมต่อเนื่อง  และยืนยันว่าโครงการต่าง ๆ  ที่รัฐบาลได้ดำเนินการในการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในจังหวัดตรัง และจังหวัดนครศรีธรรมราช อาทิ การสร้างอ่างเก็บน้ำคลองลำดัง อ่างเก็บน้ำวังหีบ แก้มลิงพนังกั้นน้ำแม่น้ำตรัง ฯลฯ จะเร่งรัดให้ดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี   2561 เพื่อให้การแก้ไขและป้องกันอุทกภัยเป็นไปอย่างยั่งยืน

พร้อมกันนี้  นายกรัฐมนตรีได้ขอให้ประชาชน ได้ปรับเปลี่ยนการปลูกพืชให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่และความต้องการของตลาด เช่น การปลูกพืชแซมยาพารา เพื่อสร้างรายได้ให้กับตนเองอีกทางหนึ่ง โดยรัฐบาลจะส่งเสริมผลักดันให้มีการใช้ยางในประเทศให้มากขึ้น ตั้งเป้า 500,000ตัน รวมถึงให้น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางปฏิบัติในการดำรงชีวิต ตลอดจนย้ำให้ประชาชนส่งเสริมเด็กและเยาวชนได้มีการศึกษาและเรียนให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศและความต้องการของตลาด เพื่อที่จบออกมาแล้วจะได้มีงานทำ มีรายได้ที่สามารถเลี้ยงตนเองและครอบครัวให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นต่อไป

สำหรับภาพรวมสถานการณ์อุทกภัยจังหวัดตรัง (ข้อมูล 7ธ.ค.60)  ได้เกิดฝนตกหนักในพื้นที่จังหวัดตรัง ตั้งแต่วันที่ 23-30 พฤศจิกายน 2560 สาเหตุจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ และหย่อมความกดอากาศต่ำ ทำให้เกิดสถานการณ์อุทกภัยใน 8 อำเภอ (อ.เมืองฯ รัษฎา ห้วยยอด นาโยง ปะเหลียน วังวิเศษ กันตัง ย่านตาขาว) 10 เทศบาล 31 ชุมชน 62 ตำบล 461 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 20,009 ครัวเรือน 78,894 ราย มีผู้เสียชีวิต 4 ราย  สรุปความเสียหาย แบ่งเป็น ด้านการเกษตร (ด้านพืช) ได้รับผลกระทบ 337,592 ไร่ ด้านปศุสัตว์ ได้รับผลกระทบ188,454 ตัว ด้านประมง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้รับผลกระทบ 582 บ่อ 102 กระชัง บ่อดิน (ปลา) 301.5 ไร่  สถานศึกษา ได้รับผลกระทบ 27 แห่ง วัด ได้รับผลกระทบ 29 แห่ง สิ่งสาธารณประโยชน์/โครงสร้างพื้นฐาน ตำบลหนองตรุด อ.เมืองฯ มีคันกั้นน้ำขาดจำนวน 2 จุด (อ.เมืองฯ) ปัจจุบันสถานการณ์ฝนตกลดลง สถานการณ์ภาพรวมเริ่มคลี่คลาย แต่ยังคงมีน้ำล้นตลิ่งจากแม่น้ำตรังในเขตบ้านท่าจีน อำเภอเมืองฯ และน้ำท่วมในที่ลุ่มต่ำในเขตอ.นาโยง กันตัง วังวิเศษ และเมืองฯ

ทั้งนี้  การให้ความช่วยเหลือ  จังหวัดตรังได้ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือฯ 8 อำเภอ ได้แก่ อำเภอนาโยง  อำเภอเมืองตรัง อำเภอรัษฎา อำเภอห้วยยอด อำเภอปะเหลียน อำเภอวังวิเศษ อำเภอกันตัง และอำเภอย่านตาขาว  โดยในส่วนผู้เสียชีวิต ได้ให้ความช่วยเหลือไปแล้วแบ่งเป็นเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2556 รายละ 25,000 บาท กรณีเป็นหัวหน้าครอบครัวรายละ 50,000 บาท เงินช่วยเหลือจากสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 2,000 บาท และ เงินช่วยเหลืออื่น ๆ เช่น เงินกองทุนฯ เงินประกันชีวิต เงินสหกรณ์ออมทรัพย์

รวมทั้ง จังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้จัดจุดสำหรับการอพยพชั่วคราวรวม 66 แห่ง มีประชาชนอพยพรวม 347 ครัวเรือน 867 คน ความช่วยเหลือเบื้องต้นมีการแจกสิ่งของและอุปกรณ์แล้ว ทั้งถุงยังชีพ  น้ำดื่ม   ข้าวกล่อง    เรือ  รถยนต์   ยารักษาโรค  ข้าวสารอาหารแห้ง  โดยมีหน่วยงานสนับสนุนทั้งภาครัฐ อาทิ ทหาร ตำรวจ สาธารณสุข สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ภาคเอกชน อาทิ สโมสรโรตารี่ตรัง สมาคมท่องเที่ยวและโรงแรมจังหวัดตรัง  และภาคประชาสังคม เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาอุทกภัยจังหวัดตรังระยะยาว ไก้แก่ โครงการระบบระบายน้ำแม่น้ำตรัง เป็นคลองผันน้ำ(หนองตรุด – คลองช้าง) ความยาว 7.55 กิโลเมตร ท้องคลองกว้าง 140 เมตร ปากคลองกว้าง 110 เมตร ลึก 4.50 เมตร อัตราการระบายน้ำ 782ลบ.ม./วินาที โครงการแก้มลิงทุ่งน้ำพุด ตั้งอยู่หมู่ที่1 ตำบลนาตาล่วง อำเภอเมือง จังหวัดตรัง พื้นที่ดำเนินการ 151 ไร่ เป็นพื้นที่ชะลอน้ำหรือพื้นที่เก็บกักน้ำซึ่งสามารถเก็บกักน้ำในช่วงฤดูน้ำหลากได้บางส่วนเป็นการบรรเทาปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ในเขตเทศบาลนครตรัง เทศบาลตำบลนาตาล่วง และพื้นที่บริเวณใกล้เคียง

———————————-
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

 

นายกรัฐมนตรี เยี่ยมผู้ประสบอุทกภัยบ้านคลองช้าง พร้อมลงเรือมอบถุงยังชีพบรรเทาความเดือดร้อนผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่

นรม. สั่งเจ้าหน้าที่ดูแลประชาชนที่ประสบอุทัยภัยอย่างทั่วถึง และรัฐบาลพร้อมที่จะดูแลในทุกมิติเพื่อให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

วันนี้ (8 ธ.ค. 2560) เวลา 10.25 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะ ได้เดินทางมายังบ้านคลองช้าง ตำบลนาตาล่วง อำเภอเมือง จังหวัดตรัง เพื่อพบปะเยี่ยมเยียนประชาชนในพื้นที่และลงเรือมอบถุงยังชีพแก่ผู้ประสบอุทกภัย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและเป็นขวัญกำลังใจให้กับประชาชนในพื้นที่ พร้อมย้ำให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในท้องที่ดูแลประชาชนที่ประสบอุทกภัยให้ทั่วถึง

 

ทั้งนี้ สำหรับประชาชนบริเวณดังกล่าวที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยนั้น ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นแล้วโดยการจัดเต็นท์เป็นที่พักพิงชั่วคราวสำหรับประชาชนที่เดือดร้อนจากอุทกภัย พร้อมดูแลในเรื่องสาธารณูปโภคพื้นฐานต่าง ๆ ทั้งเรื่องไฟฟ้า น้ำอุปโภคบริโภค ข้าวสาร อาหารแห้ง ข้าวกล่องอาหารปรุงสำเร็จพร้อมรับประทาน  และยารักษาโรค เป็นต้น ซึ่งประชาชนในพื้นที่ต่างรู้สึกพอใจในการเข้ามาดูแลช่วยของภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยคาดว่าหากฝนไม่ตกลงมาเพิ่มอีกและน้ำลดลงอย่างต่อเนื่องภายในไม่เกิน 30 วันจะสามารถกลับเข้าบ้านเรือนที่พักอาศัยได้ตามปกติ

 

หลังจากนั้น  นายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยถึงปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดตรังว่า  แม้ชาวบ้านจะประสบกับปัญหานี้เป็นประจำทุกปี แต่รัฐบาลก็จะต้องเร่งแก้ไขให้ได้ในทุกมิติ เพราะในอนาคตข้างหน้าจะให้ประชาชนประสบกับปัญหาซ้ำซากแบบเดิม ๆ ไม่ได้ รัฐบาลจึงต้องดูแลทุกจังหวัด ทุกพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ต่าง ๆ ที่มีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องน้ำท่วม ภาวะภัยแล้ง และราคาพืชผลตกต่ำ แม้รัฐบาลจะไม่สามารถแก้ปัญหาได้หมด โดยเฉพาะราคาพืชผลทางการเกษตร เพราะระบบกลไกทางการค้าของประเทศมีเป็นจำนวนมาก จึงต้องใช้เวลาในการศึกษาเรื่องของกระบวนการผลิต เพื่อพิจารณาว่าจะดำเนินการแก้ไขอย่างไร แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า จะต้องไปบังคับเกษตรกรให้เลิกปลูกยาง แต่ต้องปรับรูปแบบกันใหม่ เพื่อให้ทุกคนมีรายได้เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ของทุกอย่างถ้ามีมากเกินไป  ราคาก็จะถูกกดให้ต่ำลง จึงต้องลดการผลิตให้มีจำนวนน้อยลง แต่ก็ต้องมีอย่างอื่นเข้ามาทดแทนด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลกำลังพยายามเร่งดำเนินการอยู่ในขณะนี้

 

สำหรับเรื่องการระบายน้ำของจังหวัดตรังนั้น นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า  โครงการต่าง ๆ ที่จะดำเนินการนั้น รัฐบาลก็พยายามเร่งรัดอยู่ ซึ่งคาดว่าทั้งหมดจะแล้วเสร็จในช่วงปี 2561 – 2562  แต่ทั้งนี้ ความคืบหน้าในการก่อสร้างอาจจะล่าช้าไปบ้างในบางช่วง เนื่องจากพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วม ต้องรอให้น้ำลดลงและพื้นที่แห้งก่อน จึงจะดำเนินการต่อไปได้  แต่คาดว่าแล้วเสร็จทันตามกำหนดเวลาที่วางไว้

———————

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

http://www.thaigov.go.th

 

 

 

matemnews.com  8 ธันวาคม 2560