นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี และประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ แถลงแก่ผู้สื่อข่าวที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันที่ 9 พ.ย.2560 ว่า
เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2560 ได้ทำหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เรื่อง รายได้ต่อครัวเรือนประชาชนในภาคใต้ลดลง โดยหลังจากที่รัฐบาลบริหารประเทศมาพบว่าตัวเลขหรือสถานการณ์ขณะนี้ทั้งภาคใต้และภาคอื่นๆ มีปัญหาความเดือดร้อนในเรื่องเศรษฐกิจ ซึ่งจากผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปรากฏว่ารายได้ต่อครัวเรือน ต่อเดือน ทั่วราชอาณาจักรโดยรวมเพิ่มขึ้นในปี 2558 จาก 25,194 บาท เป็น 26,915บาท แต่เมื่อดูในรายละเอียดพบว่าในพื้นที่ภาคเหนือและภาคใต้มีรายได้ลดลง ต่อครัวเรือน ต่อเดือน จากปัญหาราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ มี 3 จังหวัดที่รายได้ลดลง คือ ระนอง ,ตรัง และยะลา
ในส่วนของ จ.ระนอง รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนลดลงจาก 32,292บาท ในปี 2556 เป็น 22,035บาท ในปี 2558 ถือว่าลดลง 10,258 บาท
จ.ตรัง รายได้ลดจาก 33,270 บาท ในปี2556 เป็น 23,309 บาท ในปี2558 ทำให้ลดลง9,961 บาท ซึ่งทั้ง 2จังหวัดนี้ รายได้ต่อครัวเรือนลดลงประมาณ 1ใน3 ของรายได้ทั้งหมด ส่วน
จ.ยะลา ลดลงจาก22,483 บาท เป็น15,584 บาท ลดลงไป6,999บาท ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาความเดือดร้อน ของประชาชนในพื้นที่ซึ่งผู้ใหญ่ในรัฐบาลอาจจะไม่รับทราบรายละเอียด
ช่วง 3 ปีที่ผ่านมารายได้ของประชาชนลดลงอย่างตกใจ ผมจึงเห็นว่าที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ประกาศว่าจะไม่มีคนจนแล้ว แต่จริงๆช่วงที่ท่านบริหารเกือบ 4 ปี รายได้ของประชาชนลดลง ซึ่งผมคิดว่าผู้ใหญ่คงไม่เห็น เพราะคงไม่มีใครมีเวลามานั่งดูรายละเอียด แต่พวกเราส.ส.จะนั่งดูรายละเอียด ของทุกจังหวัด จึงได้ตัวเลขเหล่านี้ออกมาว่าจำเป็นต้องให้ผู้ใหญ่ในรัฐบาลได้รับรู้ จึงอยากให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาตัวเลขเหล่านี้โดยถี่ถ้วนว่าต้องมีนโยบายพิเศษอะไรหรือไม่ และก็ไม่แน่ใจว่ารัฐบาลจะมองเห็นจุดร่วมกันตรงนี้หรือไม่ แต่ก็ส่งข้อเสนอไป เดี๋ยวจะหาว่าเมื่อเห็นปัญหาแล้วทำไมไม่บอก ซึ่งไม่แน่ใจว่าสิ่งที่เสนอไปนั้นรัฐบาลจะตอบสนองหรือไม่ แต่เป็นหน้าที่ของเราเพราะเห็นอยู่ตำตาว่าชาวบ้านประสบปัญหาก็นิ่งเฉยไม่ได้ ถึงแม้ไม่มีสภาแต่เราก็เป็นผู้แทนของเขา”
ขอขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรี ที่ลงพื้นที่และไปดูโครงการขุดคลองลัดระบายน้ำแม่น้ำตรังลงทะเล ความยาว 7.5 กิโลเมตร กว้าง 100 เมตร ที่ล่าช้า ซึ่งเดิมโครงการฯนี้เคยมีการของบประมาณในช่วงปี2557 เพื่อจัดสร้างอยู่ที่ 1,400 ล้านบาท ต่อมาเมื่อมีการยึดอำนาจวันที่ 22 พ.ค.2557 งบประมาณดังกล่าวก็ถูกยกเลิกไป จึงทำให้โครงการฯนี้ก่อสร้างล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็น ต่อมาจึงได้ประสานทางกรมชลประทาน เพื่อสานต่อโครงการฯนี้ โดยได้งบประมาณ 995ล้านบาท และมีบริษัทผู้ประมูลงานรับเหมาไปได้ที่ 670ล้านบาท และทราบว่านายกรัฐมนตรีได้เร่งรัดให้เสร็จภายในปี 2561
นอกจากนี้ ที่จ.ตรัง ยังมีปัญหาการไม่รับผิดชอบของผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการต่างๆ ที่ผู้รับเหมาทิ้งงาน เช่น โรงพยาบาลตรัง ที่เกิดความล่าช้าที่เพิ่งจะลงรากฐาน หรือการก่อสร้างวิทยาลัยพยาบาลจ.ตรัง ที่ถูกทิ้งงานและสร้างไปได้ 8 ชั้นแล้ว จึงขอให้นายกรัฐมนตรีเร่งรัดเกี่ยวกับบริษัทผู้รับเหมาที่รับประมูลงานของรัฐบาลไปแล้วและทิ้งงาน ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้โครงการต่างๆของรัฐบาลล่าช้า
ประเด็นนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่จ.ตรัง แล้วได้ตำหนิ สนามบินจ.ตรัง ที่ดูไม่เรียบร้อยนั้น สนามบินจ.ตรัง เป็นสนามบินที่เล็ก และเคยทำเรื่องขอขยายโดยผู้ว่าราชการจังหวัด เคยรายงานให้พล.อ.ประยุทธ์ ทราบแล้ว แต่พล.อ.ประยุทธ์ ถามกลับมาว่า “ท่านอดีตนายกฯชวน อนุมัติหรือยัง” ซึ่งตนก็อยากบอกว่า “ของบประมาณไปแล้ว แต่รัฐบาลให้งบมาร้อยกว่าล้าน ซึ่งมันไม่พอ” และเมื่อ 3 เดือนที่แล้วก็ได้เชิญพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ลงมาดูพื้นที่ซึ่งเห็นแล้วว่ารันเวย์ของเดิมยาว 2.1กิโลเมตร ต้องขยายเป็น 2.5กิโลเมตร เพื่อรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ หรือชาร์เตอร์ไฟท์แบบเหมาลำ ให้บินตรงมาลงที่จ.ตรัง เพื่อเป็นการเสริมสร้างการท่องเที่ยว คาดว่าในการขยายสนามบินจะใช้งบประมาณ 4,000 ล้านบาท โดยมีการออกแบบอาคาร สถานที่ ให้เป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่นไทยในภาคใต้ ซึ่งตนได้เสนอว่า ควรจะติดตั้งหลังคาประดิษฐ์ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ไปในคราวเดียวกันเลย เพื่อไม่ต้องสิ้นเปลืองงบประมาณ มารื้อของเก่าแล้วมาสร้างใหม่อีก ส่วนอาคารหลังเดิมก็ไม่ได้ทิ้ง ก็จะปรับปรุงเพื่อใช้เป็นอาคารรองแขก.
Matemnews.com 9 ธันวาคม 2560