นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย เขียนข้อความโพสต์ในเฟชบุ้คชื่อบัญชี Watana Muangsook ความว่า
“หลักการที่ถูกปล้น”
“การพิจารณาคดีอาญาต้องทำต่อหน้าจำเลย” เป็นหลักการที่ทั่วโลกยอมรับ ดังปรากฏตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองของบุคคล (ICCPR) ข้อ 14 (d) ซึ่งบัญญัติว่าการพิจารณาคดีอาญาจะต้องกระทำต่อหน้าบุคคลนั้น ประเทศไทยในฐานะรัฐภาคีก็ได้ยอมรับกติกาดังกล่าวมาปฏิบัติ ต้นกำเนิดของหลักนี้น่าจะมาจากพุทธศาสนาดังปรากฏตามพระธรรมวินัยว่า การพิจารณาคดีสงฆ์ที่ต้องอธิกรณ์จะต้องกระทำต่อหน้าสงฆ์นั้น เรียกว่า “สัมมุขาวินัย” นอกจากนี้ยังมีหลักการสำคัญที่ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้บัญญัติรับรองไว้อีก เช่น หลักความเสมอภาคของบุคคลที่มีสิทธิจะได้รับการปฏิบัติและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน รวมทั้งกฎหมายไม่มีผลย้อนหลังในทางที่เป็นโทษแก่ผู้กระทำผิด ทั้งหมดถูกเรียกรวมกันว่า “หลักนิติธรรม”
บทบัญญัติของร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ทำลายหลักการดังกล่าวโดยสิ้นเชิง ข้ออ้างคือเพื่อป้องกันไม่ให้นักการเมืองที่กระทำความผิดหลบหนีไปต่างประเทศ เช่น กรณีนายกทักษิณที่ไม่อาจนำตัวมาดำเนินคดีในศาลไทยได้อันเป็นความเท็จ เพราะประเทศไทยมีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับต่างประเทศ แต่ที่ทุกประเทศปฏิเสธที่จะส่งตัวนายกทักษิณกลับมาดำเนินคดีตามที่รัฐบาลไทยร้องขอ เพราะเป็นคดีการเมืองที่เกิดจากการยึดอำนาจ ถูกดำเนินคดีโดย คตส. อันเป็นองค์กรที่จัดตั้งโดยคณะรัฐประหาร อีกทั้งบทบัญญัติของกฎหมายยังขัดกับกฎหมายระหว่างประเทศ ทางแก้คือต้องทำกฎหมายและกระบวนพิจารณาเป็นไปหลักนิติธรรมที่สากลยอมรับ ต่างประเทศก็จะให้ความร่วมมือในการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนกลับมาดำเนินคดี ดังเช่นกรณีของเณรคำ เป็นต้น หรือกรณีของนายกทักษิณก็เช่นกัน แต่แทนที่จะแก้ไขกฎหมายให้ประเทศมีความเป็นอารยะเผด็จการกลับทำลายหลักการสำคัญของกฎหมายให้ป่าเถื่อนมากขึ้น การยึดอำนาจครั้งนี้นอกจากจะทำให้เศรษฐกิจเสียหายอย่างยับเยินแล้ว ความเสียหายที่มากกว่าคือการทำลายหลักนิติธรรมอันเป็นหลักประกันความยุติธรรมและความน่าเชื่อถือของประเทศซึ่งประเมินค่ามิได้
วัฒนา เมืองสุข
พรรคเพื่อไทย
19 กรกฎาคม 2560
Matemnews.com 19 กรกฎาคม 2560