Home ข่าวทั่วไปรอบวัน พลเอกประยุทธ์ประชุม ครม.ที่จันทบุรี

พลเอกประยุทธ์ประชุม ครม.ที่จันทบุรี

602
0
SHARE

 

 

เว็บไซต์รัฐบาลไทย  รายงานข่าว พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นำคณะไปประชุมครม.นอกสถานที่  ที่จันบุรี วันที่ 6 ก.พ.2561  เป็นข่าวแต่ละช่วงเหตุการณ์ ประกอบด้วย

 

นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่เยี่ยมชมวิถีชีวิตชุมชนริมน้ำจันทบูรและวิสาหกิจเพื่อสังคม “จันทบูรโมเดล”

นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่เยี่ยมชมวิถีชีวิตชุมชนริมน้ำจันทบูรและวิสาหกิจเพื่อสังคม ตลาดเก่าริมน้ำจันทบูร บ้านเรียนรู้ชุมชน บ้านพักประวัติศาสตร์หลวงราชไมตรี และชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เป็นการอนุรักษ์ โดยใช้หลักคิดคือชุมชนจะต้องร่วมรับผลประโยชน์โดยตรง

วันนี้ (5 กุมภาพันธ์ 2561) เวลา 18.30 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะรัฐมนตรี ลงพื้นที่พบปะเยี่ยมชุมชนริมน้ำจันทบูร เป็นชุมชนที่ใช้วิธีและกระบวนการเพื่อสร้างทางเลือกใหม่ในการอนุรักษ์ โดยใช้หลักคิดคือชุมชนจะต้องร่วมรับผลประโยชน์โดยตรง เพื่อให้เกิดรายได้แก่ชุมชนได้ดำเนินการอนุรักษ์โดยใช้ วิธีการอนุรักษ์อย่างมีส่วนร่วมด้วยแนวคิดกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) ออกแบบปรับปรุง ฟื้นฟู ตัวอาคารสถาปัตยกรรมเรือนไม้เก่าแก่ ดำเนินการเป็นโรงแรมและแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ (Historic Inn) โดยที่ชุมชนร่วมเป็นเจ้าของ และปรับชุมชนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์แห่งใหม่ สร้าง รายได้ให้กับคนในชุมชน เกิดเป็นตัวอย่างการอนุรักษ์ย่านชุมชนเก่า หรือเรียกอีกอย่างว่า “จันทบูรโมเดล”

การอนุรักษ์ด้วยแนวคิดกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) โดยรูปแบบการอนุรักษ์และการฟื้นฟูย่านชุมชนเก่าของชุมชนริมน้ำจันทบูร มีขั้นตอนดังนี้
1. การก่อตั้งบริษัท หลังจากที่ชุมชนยอมรับการใช้แนวคิดกิจการเพื่อสังคมเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการงานอนุรักษ์ของชุมชน จึงมีการก่อตั้งบริษัทชุมชนขึ้นมา ชื่อว่า “บริษัท จันทบูรรักษ์ดี จำกัด” 2. การพัฒนารูปแบบของกิจกรรมหรือค้นหาสินค้า รูปแบบธุรกิจเชิงอนุรักษ์ที่ได้วางไว้ คือ การปรับปรุงบ้านหรืออาคารเก่าในชุมชนดำเนินการเป็นโรงแรมและแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ (Historic Inn)  3. การระดมทุน หลังจากที่ได้บ้านหลวงราชไมตรีในการปรับปรุงเพื่อทำเป็นบ้านพักหรือโรงแรม 4. การปรับปรุงและพัฒนากิจการ ในระหว่างการระดมทุน ก็ได้ดำเนินการบูรณะปรับปรุง บ้านหลวง ราชไมตรีตามหลักวิชาการอนุรักษ์สถาปัตยกรรม  และ 5. การประชาสัมพันธ์ หลังจากเปิดกิจการให้บริการ แรกเริ่มใช้วิธีการประชาสัมพันธ์แบบปากต่อปาก หลังจากนั้นจึงมีการใช้สื่อให้ช่วยประชาสัมพันธ์มากขึ้น

นายกรัฐมนตรี เดินเยี่ยมชมพร้อมกล่าวทักทายประชาชนที่มาให้การต้อนรับ และชื่นชมในการอนุรักษ์ย่านชุมชนเก่าจนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์แห่งใหม่ เป็นการสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอีกด้วย  จากนั้น นายกรัฐมนตรี ได้กล่าว อวยพรผู้สูงอายุที่มาต้อนรับให้สุขภาพแข็งแรง ให้มีสุขภาพที่ดี ต่อจากนั้นได้ชิมอาหารพื้นเมืองที่ประชาชนมาออกร้าน “ตลาดประชารัฐ ถนนวัฒนธรรม”  ชมการแสดงของเด็กนักเรียนที่มารอต้อนรับ

จากนั้น นายกรัฐมนตรีได้เขียนสมุดลงนาม “ขอขอบคุณในการต้อนรับของชุมชนริมน้ำจันทรบูรรู้สึกดีใจ ภูมิใจที่ได้เกิดมาเป็นคนไทย มีอัตลักษณ์ประวัติศาสตร์อันงดงาม ขอให้ทุกคนรักสามัคคีเป็นพลังอันเข้มแข็งของประเทศไทย เดินหน้าตามวิสัยทัศน์ มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน”

ต่อจากนั้น นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีได้ร่วมถ่ายภาพกับประชาชนเชื้อสายเวียดนามที่อาศัยอยู่ในชุมชน และเยี่ยมชมและลงนามในสมุดเยี่ยมของอาสนะวิหารแม่พระปฏิสนธินิรมล ได้กล่าวว่ารัฐบาลได้วางรากฐานเพื่อรองรับการพัฒนาประเทศในอนาคต อยากให้ทุกคนไม่เพียงแต่รักนายกรัฐมนตรีแต่ขอให้รักรัฐมนตรีทุกคน เพราะได้ช่วยกันพัฒนาประเทศร่วมกัน ย้ำอำนาจเป็นของประชาชนทุกคน

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้แวะชมการอนุรักษ์หัตถกรรมพื้นบ้านจากโรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์และกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมชมการสาธิตการทำเสื่อจันทบูรและการทำพลอย ซึ่งเป็นหัตถกรรมที่สำคัญและเป็นจุดเด่นของจังหวัดจันทบุรี

 

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

 

…………………………

 

นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคตะวันออก (EEC)

นายกรัฐมนตรีขอให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันขับเคลื่อนภาคตะวันออกไปสู่วิสัยทัศ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”

วันนี้ (5 กุมภาพันธ์ 2561) เวลา 20.30 น. ณ ห้องประชุมแกรนด์บอลรูม โรงแรมมณีจันท์ รีสอร์ท ตำบลพลับพลา อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี  พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC)  ร่วมกับภาคเอกชน ผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อพิจารณาแนวทางการพัฒนาภาคตะวันออกซึ่งเป็นฐานเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ โดยมี  รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี หัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  เข้าร่วมประชุม  ซึ่งสรุปสาระสำคัญ ดังนี้
ก่อนการประชุม  นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานฯ ได้กล่าวว่า วันนี้เป็นการประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC)  ซึ่งทุกคนทราบดีว่าอะไรคืออุปสรรคปัญหาและศักยภาพของตนเอง รัฐบาลมีความตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะขับเคลื่อนทุกอย่างให้เป็นไปได้ แต่การจะขับเคลื่อนนั้น ลำพังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาลฝ่ายเดียวคงไม่สามารถที่จะดำเนินการได้ ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาสังคม NGOs องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันขับเคลื่อนภาคตะวันออกให้ไปสู่วิสัยทัศน์ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” แต่ต้องเป็นความยั่งยืนที่ไม่ดำเนินการอย่างฉาบฉวย ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวม ซึ่งประเทศไทยมี 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร ดังนั้น การที่จะอนุมัติงบประมาณโครงการใด ๆ ก็ตามขอให้มีการพิจารณาดำเนินการตามความพร้อม  และพยายามแก้ไขในสิ่งที่เป็นข้อพกพร่อง ในส่วนของรัฐบาลก็จะพยายามแก้ไขปัญหาในเรื่องต่าง ๆ  เช่น เรื่องของกฎหมาย และจะไม่ดำเนินการในเชิงที่สร้างคะแนนนิยมที่ผิด ๆ  ไม่เช่นนั้นจะเป็นปัญหาของประเทศในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของงบประมาณ
พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวขอบคุณประชาชนและหน่วยงานทุกภาคส่วนของจังหวัดจันทบุรีที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น การลงพื้นที่ในครั้งนี้ทำให้ได้รับรู้และเห็นถึงความหวังของประชาชนที่มีต่อหน่วยงานภาครัฐและรัฐบาลในการที่จะทำให้ประชาชนได้มีอนาคตที่ดีในวันข้างหน้าต่อไป

ที่ประชุม ได้มีการพิจารณาเพื่อขอให้รัฐบาลสนับสนุนโครงการและกิจกรรม 6 ด้าน ดังนี้
1. ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ขอรับการสนับสนุน 4 เรื่อง ประกอบด้วย  1.1 โครงข่ายถนน ได้แก่ 1) การศึกษาออกแบบก่อสร้างถนน จำนวน 5 เส้นทาง ดังนี้ (1) เส้นทางเฉลิมบูรพาชลทิศ (อู่ตะเภา-ชลบุรี-ระยอง-จันทบุรี) เพื่อการท่องเที่ยว (2) เส้นทางเลียบชายทะเลจังหวัดชลบุรี ส่วนต่อขยาย(เชื่อมต่อบูรพาวิถี-บางทราย) เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจร และส่งเสริมการท่องเที่ยว (3) เส้นทางสาย ค1 ผังเมืองรวมเมืองบ้านบึง เพื่อแก้ไขปัญหาจราจร (4) เส้นทางเชื่อมขุนด่านปราการชล ช่วงแยกศรีนาวา-หินตั้ง จังหวัดนครนายก เพื่อการท่องเที่ยว และ (5) เส้นทางตัดใหม่จากแยก 3259-จุดผ่อนปรนบ้านเขาดิน อำเภอคลองหาด จังหวัดสระแก้ว    ส่วนที่ 2 ขอรับการสนับสนุนการปรับปรุงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้เส้นทางโดยการเพิ่มช่องทางจราจรรองรับการพัฒนา จำนวน 6 เส้นทาง ดังนี้ (1) เส้นทางเขาไร่ยา-แพร่งขาหยั่งจังหวัดจันทบุรี เพื่อสนับสนุนการขนส่งและการท่องเที่ยวเขาคิชกูฏ (2) เส้นทางบ้านป่าวิไล-ด่านชายแดนบ้านแหลม จังหวัดจันทบุรี เพื่อรองรับการค้าชายแดน (3) เส้นทางนครนายก-บางหอย-บ้านสร้าง-พนมสารคาม เพื่อสนับสนุนการขนส่ง (4) เส้นทางคลองหลวงแพ่ง-ปราจีนบุรี เชื่อมจังหวัดจันทบุรีและจังหวัดปราจีนบุรีเพื่อสนับสนุนการขนส่งและอุตนหากรรม (5) เส้นทางปราจีนบุรี-ศรีมหาโพธิ เพื่อสนับสนุนการขนส่งและอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรม อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี และ (6) เส้นทางบางบุตร-ชุมแสง จังหวัดระยอง เพื่อสนับสนุนการเชื่อมโยงจังหวัดระยองกับพื้นที่ EECi ในอำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง    1.2  ระบบขนส่งสาธารณะ  ขอให้มีการศึกษาออกแบบรถไฟทางคู่สายระยอง-จันทบุรี-ตราด เพื่อเชื่อมต่อรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-ระยองเพิ่มเส้นทางรถไฟโดยสารด่วนพิเศษ (sprinter) สายกรุงเทพฯ-อรัญประเทศ เพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนระหว่างกรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรีและสระแก้ว  และให้มีการศึกษาเพื่อจัดทำแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนเพื่อเชื่อมโยงสถานีรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-ระยอง กับแหล่งท่องเที่ยวอุตสาหกรรม และแหล่งชุมชน ในพื้นที่เมืองพัทยา ศรีราชา และแหลมฉบัง เป็นต้น  1.3 น้ำอุปโภคบริโภค ขอให้การประปาส่วนภูมิภาคขยายการให้บริการน้ำประปาโดยนำน้ำจากเขื่อนขุนด่านปราการชล มาผลิตเป็นน้ำประปา และขยายเขตจ่ายน้ำให้กับประชาชนด้วยการเพิ่มสถานี เพิ่มแรงดันและวางท่อจ่ายน้ำ เพื่อแก้ปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำ เป็นต้น   1.4 ไฟฟ้า  ขอให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค บรรจุแผนปรับปรุงระบบจำหน่ายไฟฟ้าแรงสูงที่มั่นคง ทนภาระทางไฟฟ้าที่หนัก ในปี พ.ศ. 2561-2562
2. ด้านอุตสาหกรรม การค้า การลงทุน และการค้าชายแดน  ขอรับการสนับสนุนดังนี้   2.1 ยกระดับด่านชายแดนท่าเส้น อำเภอเมืองตราด เป็นจุดผ่านแดนถาวร  2.2 ขอให้พัฒนาจังหวัดจันทบุรี เป็นนครอัญมณีศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของโลก  ส่งเสริมพัฒนาการออกแบบเครื่องประดับ พร้อมสนับสนุนสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมชุมชนผู้ผลิตอัญมณี   2.3 การบริหารท่าเทียบเรือแหลมฉบับฝั่งบี
3. ด้านการเกษตร ขอให้มีการพัฒนาผลไม้คุณภาพปลอดภัยอย่างครบวงจร ทั้งต้นทาง กลางทางและปลายทาง เพื่อให้ผลไม้ของไทยเป็นที่ยอมรับในระดับสากล เป็นศูนย์เจรจาธุรกิจเพื่อซื้อขายผลไม้ภาคตะวันออก และศูนย์ซื้อขายผลไม้ทั้งในระบบออนไลน์และออฟไลน์
4. ด้านการท่องเที่ยว  ขอรับการสนับสนุนและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ภายใต้โมเดลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์   การออกแบบปรับปรุงและพัฒนาเส้นทางจักรยานเพื่อท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เชิงนิเวศและเชิงชุมชน ในพื้นที่ท่องเที่ยวของภูมิภาคแถบภาคตะวันออก   รวมถึงการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม 2 แห่ง คือ เมืองโบราณดงละคร  และหมู่บ้านไทยพวนจังหวัดนครนายก   การพัฒนาการท่องเที่ยวเมืองรองด้วยกิจกรรม MICE   และขอสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์พัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการท่องเที่ยว และโรงแรมภาคตะวันออกเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างเป็นระบบและมีมาตรฐาน
5. ด้านคุณภาพชีวิต  ขอรับการสนับสนุน ดังนี้  (1) ยกระดับโรงพยาบาลปลวกแดง จังหวัดระยอง จากโรงพยาบาลชุมชนประจำอำเภอ เป็นโรงพยาบาลขนาด 100-120 เตียง เพื่อรองรับแรงงานในนิคมอุตสาหกรรม   (2)  พิจารณาจัดสรรอัตรากำลังบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุข รวมทั้งเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ ให้กับโรงพยาบาลมาบตาพุด จังหวัดระยอง   (3) การจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านอุบัติเหตุฉุกเฉินและโรคหัวใจ เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคมภาคตะวันออกของโรงพยาบาลพระปกเกล้า จังหวัดจันทบุรี และโรงพยาบาลศูนย์ชลบุรี  (4) การจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านอุบัติเหตุฉุกเฉินเพื่อรองรับการขยายตัวของ EEC และการท่องเที่ยว ของโรงพยาบาลศูนย์ชลบุรี จังหวัดชลบุรี  (5) การจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศ ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จังหวัดนครนายก  (6) การพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินครบวงจรของ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ จังหวัดปราจีนบุรี
6. ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ขอรับการสนับสนุน ดังนี้  (1) ระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียในอำเภอปลวกแดง และเขตควบคุมมลพิษ จังหวัดระยอง   (2)  ขอให้กระทรวงคมนาคมร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ศึกษาการขุดลอกแม่น้ำบางปะกองจังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อแก้ไขปัญหาแม่น้ำตื้นเขิน และศักยภาพการขนส่งพืชผลทางการเกษตรทางน้ำ   (3) ขอให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาช้างป่าที่ออกมารบกวนประชาชนนอกพื้นที่เขตป่าอนุรักษ์ ของป่ารอยต่อ 5 จังหวัด   และ (4) ขอรับการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม การระบายน้ำ ระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียเมืองพัทยาอย่างครบวงจร

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับทุกข้อเสนอที่ต้องการให้รัฐบาลส่งเสริมสนับสนุน โดยเบื้องต้นได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาและศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการดำเนินการตามขั้นตอน เพื่อให้เกิดความเหมาะสม คุ้มค่ากับงบประมาณของแผ่นดิน และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในแต่ละพื้นที่อย่างยั่งยืนต่อไป

—————————————

 

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

 

 

นายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมผลงานเด่นของมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี

นายกรัฐมนตรีย้ำให้เผยแพร่ผลงานวิจัยและพัฒนาให้สังคมรับรู้อย่างกว้างขวาง พัฒนาไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องตรงกับความต้องการของผู้บริโภคและตลาดต่อไป

วันนี้ (6 ก.พ.61) เวลา 07.54 น. ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี ตำบลท่าช้าง อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี บรรยากาศก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2561 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สักการะพระบรมราชินยานุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าร้าไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 เพื่อความเป็นสิริมงคล
จากนั้น นายกรัฐมนตรี ได้พบปะทักทายนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี  ณ บริเวณโถงชั้น 1 อาคารคณะวิทยาการจัดการ โดยได้กล่าวว่า นักศึกษาทุกคนคือรากฐานที่สำคัญของประเทศในการที่จะร่วมกันพัฒนาขับเคลื่อนประเทศชาติไปสู่อนาคต โดยให้คำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ ช่วยกันลดความขัดแย้ง อันจะทำให้สามารถเดินหน้าประเทศไปสู่เป้าหมายที่กำหนด พร้อมแนะนำให้นักศึกษาทุกคนศึกษาเรียนรู้ในสาขาที่สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศและตรงกับความต้องการของตลาดเพื่อจบออกมาแล้วจะได้มีอาชีพและงานทำที่มั่นคง สามารถเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ รวมทั้งเน้นย้ำกับนักศึกษาคณะครุศาสตร์ที่มาให้การต้อนรับว่า “ครู” วันนี้ต้องมีการเรียนรู้ไปพร้อมกับนักเรียนและต้องพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต ให้สอดคล้องและทันกับเทคโนโลยีและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง
พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี ได้เยี่ยมชมนิทรรศการผลงานเด่นของมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี  เช่น โครงการฟื้นฟูปะการังและสร้างแหล่งเรียนรู้ โดยคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งได้ใช้หลักวิชาการมาพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรแนวปะการัง รวมทั้ง การถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่ชุมชนเกิดเป็นห้องเรียนธรรมชาติของชุมชน ตระหนักถึงคุณค่าและการอนุรักษ์ปะการังและสิ่งแวดล้อมในแต่ละพื้นที่ เพื่อความร่วมมือที่จะใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน
โครงการยกระดับมาตรฐานนการแปรรูปอาหารภาคตะวันออก โดยคณะเทคโนโลยีการเกษตร ได้เข้าไปดูแลกลุ่มผู้แปรรูปอาหารในภาคตะวันออกให้สามารถผลิตและแปรรูปอาหารได้ถูกต้อง ตามกฎหมายและเกิดความปลอดภัยตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน
โครงการเพิ่มมูลค่าพลอยตกเกรดด้วยกระบวนการทางด้านการออกแบบสําหรับเครื่องประดับ  ซึ่งเป็นการนําพลอยตกเกรดมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องประดับที่ตอบสนองความต้องการของตลาด และเพิ่มมูลค่าได้ก่อให้เกิดโอกาสทางธุรกิจสําหรับ ผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อย หรือวิสาหกิจชุมชนด้านอัญมณีและเครื่องประดับ และเป็นแนวทางในการเพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบประเภทอื่นๆ ต่อไป
โครงการส่งเสริมการใช้ภาษาเขมร โดยสํานักศิลปวัฒนธรรมและพัฒนาชุมชน ได้จัดโครงการส่งเสริมการใช้ภาษาเขมร ซึ่งเป็นภาษาประจําชาติของประเทศกัมพูชา และเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีพื้นที่ชายแดนติดต่อกับจังหวัดจันทบุรี มีการแลกเปลี่ยนทางด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม มีการใช้แรงงานจากชาวกัมพูชาเป็นจํานวนมากและมีความเกี่ยวข้องในด้านต่าง ๆ  ทั้งภาครัฐ และเอกชน การสื่อสารภาษาเขมรจึงเป็นสิ่งจําเป็นที่ทุกหน่วยงานทุกภาคส่วนต่างให้ความสําคัญ อีกทั้งชุมชนในจังหวัดจันทบุรีหลายภาคส่วนมีความต้องการที่จะเรียนรู้ภาษาเขมรเพื่อการใช้ประโยชน์ ในการทำธุรกิจและการประกอบอาชีพอื่น ๆ เป็นต้น
ศูนย์ผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น แห่งเดียวในภาคตะวันออก โดยคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา จัดโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่นประจำปี การศึกษา 2561 ตามระบบ Thai University Central Admission System (TCAS) เพื่อเข้าร่วมเป็นสถาบันผลิตครู ของโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ของสถาบันผลิตครู ปีการศึกษา 2561
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวย้ำว่า ผลงานวิจัยและพัฒนาต่าง ๆ ต้องผลักดันเผยแพร่ให้สังคมภายนอกได้รับรู้อย่างกว้างขวางเพื่อเป็นการพัฒนาไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องตรงกับความต้องการของผู้บริโภคและตลาดต่อไป

——————-

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

 

รูป

https://goo.gl/HnHbtL

 

 

 

matemnews.com  6 กุมภาพันธ์ 2561