“น้องนิว” อายุ15 ปี ป่วยปวดท้องอย่างรุนแรง พี่สาวนำส่ง ร.พ.ชะอำ เพชรบุรี หมอไม่มีอุปกรณ์ทันสมัยพอที่จะรักษาจึงส่งตัวเป็นคนไข้ฉุกเฉินไปให้ รพ.สมเด็จพระจอมเกหล้าฯ โรงพยาบาลประจำจังหวัดเพชรบุรี เมื่อไปถึงเจ้าหน้าที่ให้นั่งบนรถเข็นคนไข้รอพบหมออยู่ในพื้นที่ตรวจทั่วไป จนเด็กช็อกหมดสติลงบนพื้นห้องรอคิว เจ้าหน้าที่ปั๊มหัวใจฟื้นขึ้นมาจึงได้เข้าห้องเอ็กซ์เรย์ และรอผลจนขาดใจตาย เป็นกรณีสะเทือนจิตใจคนไทยทั้งประเทศ เพราะได้เห็นความทุกข์ทรมานจากคลิปที่พี่สาวโพสต์ในโซเชียลเป็นช็อต ๆ
ต่อมาเมื่อบ่าย 24 ก.ค. นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข (สธ.) พร้อมคณะ เปิดแถลงข่าวแก่สื่อมวลชนที่กระทรวง ว่า
“ต้องขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิต โรคที่เป็นนั้นเกิดขึ้นได้ยาก และไม่ได้พบได้บ่อย บางครั้งในชีวิตของแพทย์บางคนอาจไม่พบเลย จึงไม่อยากให้ประชาชนมองเป็นตัวอย่าง ว่า หากรอนานจะมีผลเสีย เพราะระบบของการแพทย์ทั่วโลกทุกคนต้องรอคิว แต่สิ่งที่สำคัญคือกระบวนการคัดกรอง ซึ่ง สธ. ได้ดำเนินการในเรื่องนี้ โดยเมื่อไปถึงสถานบริการก่อนที่จะมีการตรวจก็จะมีการวัดความดัน ตรวจชีพจร หากพบความผิดปกติ ก็จะมีการคัดกรองว่า มีความเร่งด่วนมากน้อยหรือพอนั่งรอได้ เป็นต้น ผมไม่อยากให้ประชาชนวิตกกังวลว่า การไปนั่งรอจะต้องเกิดกรณีลักษณะนี้ทุกราย เพราะต้องดูที่อาการมากกว่า และระบบของเราก็มีการคัดกรองก่อน บางครั้งก็จะมีพยาบาลมาคอยสอบถาม หากนั่งรอแล้วเกิดมีอาการไม่พึงประสงค์ก็น่าจะมีช่องทางให้สามารถไปบอกกับเจ้าหน้าที่ได้ เรื่องนี้ทั้ง 2 ฝ่ายต้องเข้าใจกันซึ่งกันและกัน เนื่องจากทุกฝ่ายอยากได้รับบริการที่รวดเร็วและดีที่สุด แต่ก็ต้องเข้าใจในจำนวนของเจ้าหน้าที่ด้วย จากกรณีที่เกิดขึ้น สธ. พร้อมที่จะปรับปรุงให้ระบบบริการให้ดีขึ้น ทุกโรงพยาบาลกำลังหาทางแก้ไข ทั้งเรื่องการเข้าพบแพทย์ และได้รับการตรวจที่เร็วที่สุด โดยขณะนี้มีการพัฒนาหลายรูปแบบ อาทิ กระจายระบบการตรวจไม่ให้มากระจุกที่โรงพยาบาลจังหวัด หรือโรงพยาบาลศูนย์อย่างเดียว โดยตั้งคลินิกหมอครอบครัว ตั้งเป้าว่าภายใน 10 ปี จะมีคลินิกหมอครอบครัวรอบโรงพยาบาลขนาดใหญ่ สามารถดูแลคัดกรองได้อย่างรวดเร็ว หากมีปัญหาต้องส่งต่อไปโรงพยาบาลใหญ่ก็สามารถส่งได้โดยตรง ส่วนระบบนัดหมายก็จะใช้เทคโนโลยีที่ทำให้มีความรวดเร็วมากขึ้นเช่นเดียวกับระบบจ่ายยา ผมเชื่อว่าโรงพยาบาลทุกสังกัด พยายามที่จะทำให้ประชาชนได้รับการดูแลที่ดีที่สุด”
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต รองปลัด สธ. และเป็นโฆษกกระทรวง กล่าวในการแถลงข่าวว่า ต้องขอแสดงความเสียใจกับทางครอบครัว ส่วนในเรื่องกระบวนการตรวจรักษาของโรงพยาบาลพระจอมเกล้า กระทรวงไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะเป็นนโยบายของ สธ. ที่อยากให้ประชาชนได้รับบริการที่ดี มีคุณภาพ และได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วมากที่สุด แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นพบว่ามีการสูญเสีย สธ. ไม่อยากให้เกิดขึ้น ต้องพยายามหาสาเหตุและหาทางแก้ไขต่อไป โดย สธ. ได้มีการตั้งคณะกรรมกรสอบข้อเท็จจริงแล้วว่าการรักษาเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ เพื่อให้เกิดความยุติธรรมกับทุกฝ่าย จะทราบผลภายใน 2 – 3 วัน ส่วนเจ้าหน้าที่ก็น่าเห็นใจ เพราะว่าทำงานหนักอยู่แล้ว สาเหตุการเสียชีวิตทราบว่าเกิดจากเส้นเลือดใหญ่แตก ถือเป็นกรณีที่พบได้น้อยและวินิจฉัยได้ยาก ทั้งยังเกิดขึ้นในเด็กที่พบได้น้อยมากประมาณ 3 – 5 คนต่อประชากรล้านคน และส่วนมากพบในผู้สูงอายุที่มีความดันโลหิตสูงมาก่อน เป็นกลุ่มไขมันพอกเส้นเลือดทำให้เส้นเลือดเปราะบาง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม โรคนี้ต้องใช้เครื่องมือที่พิเศษ หรือเครื่องสแกนคอมพิวเตอร์ที่จะทำให้เห็นแบบสามมิติ ไม่สามารถตรวจได้ด้วยวิธีปกติ สธ. มีความเป็นห่วงและเห็นถึงความสำคัญในการตรวจวินิจฉัยให้รวดเร็วขึ้น จะมีการกำชับเป็นพิเศษ อยากขอความร่วมมือประชาชนให้บอกอาการให้ละเอียดทุกครั้งเพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถให้การรักษาที่แม่นยำและรวดเร็วขึ้น การช่วยเหลือและการเยียวยาเด็กที่เสียชีวิตเป็นไปตามมาตรา 41 ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ขณะที่ทางโรงพยาบาลก็จะมีการช่วยเหลืออีกทางหนึ่งด้วย อยากขอให้ประชาชนเชื่อมั่นในระบบการให้บริการของ สธ. เพราะแต่ละปีมีการให้บริการประชาชนทั่วประเทศกว่า 100 ล้านคนต่อปี มีการให้บริการเต็มที่ ถึงแม้เจ้าหน้าที่จะมีจำกัด การรอคอยมีบ้างแต่ทางเจ้าหน้าที่ก็จะมีการจัดลำดับความสำคัญให้ อยากให้ประชาชนร่วมมือกันช่วยกัน ความเร่งด่วนใครก็อยากได้ แต่เราต้องดูตามความเร่งด่วนของโรค ที่มีวิธีการดูแลทางการแพทย์ดูแลอยู่แล้ว แต่หากเจ้าหน้าที่ทอดทิ้งละเลยประชาชนเรายอมไม่ได้”
https://www.facebook.com/nusajee/videos/pcb.10212253428804474/10212253424804374/?type=3&theater
https://www.facebook.com/nusajee/videos/pcb.10212253428804474/10212253425204384/?type=3&theater
https://www.facebook.com/nusajee/videos/pcb.10212253428804474/10212253425484391/?type=3&theater
Matemnews.com 24 กรกฎาคม 2560