รัฐบาล ชวนเที่ยวงานศิลป์ CRAFTS BANGKOK 2018 พร้อมดึงผู้ประกอบการกว่า 320 ร้านคราฟต์ ร่วมแสดงและจำหน่ายสินค้าศิลปหัตถกรรมฝีมือคนไทย ระหว่างวันที่ 29 มี.ค. – 1 เม.ย.นี้ ไบเทค บางนา
วันนี้ (27 มีนาคม 2561) เวลา 8.30 น. ณ บริเวณโถงกลาง ตึกบัญชาการ 1 ก่อนการประชุม คณะรัฐมนตรี นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ เข้าพบ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อประชาสัมพันธ์และเชิญชวนคนรักงานศิลป์เที่ยวชมงาน CRAFTS BANGKOK 2018 ภายใต้แนวคิด “หัตถศิลป์ไร้พรมแดน” หวังต่อยอดงานคราฟต์เชิงพาณิชย์สู่ระดับสากล พร้อมดึงผู้ประกอบการกว่า 320 ร้านคราฟต์ ร่วมแสดงและจำหน่ายสินค้าศิลปหัตถกรรมฝีมือคนไทย ระหว่างวันที่ 29 มี.ค. – 1 เม.ย.นี้ ไบเทค บางนา
นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ หรือ SACICT เปิดเผยว่า “งาน ‘CRAFTS BANGKOK 2018’ เป็นงานแสดงและจำหน่ายผลงานหัตถศิลป์จากฝีมือนักสร้างสรรค์ชั้นนำของเมืองไทยที่พัฒนาต่อยอดมาจากงานนวัตศิลป์นานาชาติ หรือ International Innovation Craft Fair ที่จัดขึ้นในช่วงเดือนมีนาคมของทุกปี ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีตลอด 6 ปีที่ผ่านมา การจัดงาน CRAFTS BANGKOK ในครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีพบปะแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ทักษะฝีมือ ความชำนาญ ตลอดจนสร้างแรงบันดาลใจและความคิดสร้างสรรค์ของผู้ทำงานหัตถศิลป์ ทั้งจากไทยและจากต่างชาติ ให้เกิดการต่อยอดในเชิงพาณิชย์ในระดับสากล ซึ่งเป็นการตอกย้ำให้เห็นชัดเจนว่า งานคราฟต์หรืองานหัตถศิลป์เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเราทุกๆ คน (Today Life’s Crafts)”
สำหรับงาน CRAFTS BANGKOK 2018 จัดขึ้นภายใต้แนวคิด ‘Social Craft Network’ หรือ ‘หัตถศิลป์ไร้พรมแดน’ โดยมีหัวใจหลัก 3 สร้าง ได้แก่ 1) สร้างเครือข่าย งานศิลป์ที่เราจะสร้างเครือข่ายเพื่อพัฒนาต่อยอด 2) สร้างคุณค่า ปลูกจิตสำนึก สร้างความตระหนักและรับรู้ในคุณค่าของศิลปหัตถกรรมไทยและ 3) สร้างโอกาส เวทีการค้าด้วยผลิตภัณฑ์นวัตศิลป์ อันเป็นแนวโน้มการทำงานหัตถกรรมในปัจจุบันที่มีการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อการสื่อสารเชื่อมโยง และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างกัน ทำให้เกิดการพัฒนาแนวคิดและกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ร่วมกัน เพื่อสร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมไปสู่การใช้งานที่ร่วมสมัยในปัจจุบันและอนาคตอย่างยั่งยืน
ภายในงานจะได้พบกับนักสร้างสรรค์งานหัตถศิลป์กว่า 320 ร้านคราฟต์ แบ่งออกเป็น 9 โซน ในพื้นที่รวมกว่า 9,000 ตารางเมตร ประกอบด้วย
โซนการจัดแสดงและจำหน่าย
- Theme Area พื้นที่จำลองแนวคิดการจัดงาน “Social Craft Network” หรือ“หัตถศิลป์ไร้พรมแดน” 2. International Cooperation Area พื้นที่จัดแสดงสำหรับองค์กรส่งเสริมหัตถกรรมจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นครั้งแรกของประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนที่ได้ต้อนรับผู้แทนและผลงานจากพันธมิตรของ SACICT 3. SACICT Alliances พื้นที่จัดแสดงผลงานความร่วมมือระหว่าง SACICT และพันธมิตรทั้งภาครัฐและภาคเอกชน 4. ABOUT SACICT พื้นที่จัดแสดงผลงานบทบาทองค์กรในการเป็นผู้นำและสร้างโอกาสในงานหัตถศิลป์ผ่าน SACICT Craft Center, Smart Craft, Craft Studio (ร้าน SACICT Shop) และ Craft Society 5. Royal Projects พื้นที่จัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์โครงการในพระราชดำริและพระดำริต่างๆ ได้แก่ มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ศูนย์ศิลปาชีพ บางไทรฯ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ โครงการกำลังใจในพระดำริ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้า พัชรกิติยาภา และร้านจิตรลดา 6. Local Craft Network พื้นที่จัดแสดงและจำหน่ายของเครือข่ายหัตถกรรมท้องถิ่น ที่เป็นสมาชิกของ SACICT เปิดให้บริหารจัดการพื้นที่และกิจกรรมโดยกลุ่มเครือข่าย เช่น แพร่คราฟต์ สกลเฮ็ด สิปปการสยามสไตล์ Root Bangkok เป็นต้น 7. Hand to Hand พื้นที่จัดแสดง สาธิต และจำหน่ายสินค้าของ ครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ที่มีผลงานในแนวดั้งเดิมและนวัตกรรมร่วมสมัย จำนวน 43 ราย 8. Smart Craft พื้นที่จัดแสดงและจำหน่ายของสมาชิก SACICT ที่มีผลงานที่พัฒนาแล้วในแนวนวัตกรรมและร่วมสมัย เช่น แนวดีไซน์ แนวธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แนวเพื่อสังคม เป็นต้น จำนวน 240 ราย และผู้ประกอบการต่างประเทศ 33 ราย และ 9. Craft The Future พื้นที่จัดแสดงและจำหน่ายโดยสถาบันการศึกษาที่เป็นพันธมิตรในกรอบความร่วมมือกับ SACICT จำนวน 10 สถาบัน
นอกจากนี้ ยังมีการลงนามความร่วมมือระหว่างศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) และสถาบันวิจัยและพัฒนาหัตถกรรมแห่งชาติไต้หวัน (NTCRI) รวมถึงการเสวนาพิเศษจากวิทยากรชั้นนำ กิจกรรม Workshop และรายการบันเทิงในรูปแบบ Today Life’s Crafts อีกด้วย
ทั้งนี้ ขอเชิญชวนผู้ที่สนใจในงานฝีมือและรักในงานศิลป์ อย่าพลาดชมงาน CRAFTS BANGKOK 2018 ได้ในระหว่างวันที่ 29 มีนาคม – 1 เมษายน 2561 เวลา 10.00 – 20.00 น. ณ ฮอลล์ 103 – 104 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมทีมประชาสัมพันธ์โครงการฯ โทรศัพท์ 092 360 5757 , 084 090 1212
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
เว็บไซต์รัฐบาลไทยรายงาน
matemnews.com
27 มีนาคม 2561