มีการประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ 3 ที่จังหวัดเสียมราฐ ราชอาณาจักรกัมพูชา เมื่อตอนเช้าวันที่ 5 เมษายน 2561 โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย ไปร่วมประชุมด้วย ก่อนการประชุมจะเริ่มขึ้นพลเอกประยุทธ์ ได้เข้าหารือทวิภาคีกับสมเด็จอัคคมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ฃ
พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงแก่ผู้สื่อข่าว สรุปผลการหารือว่า นายกฯไทย และและนายกฯกัมพูชา ยินดีต่อความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างไทยและกัมพูชาที่มีความใกล้ชิดและแน่นแฟ้น และเนื่องในโอกาส วันที่ 4 เม.ย. 2561 ที่ผ่านมา เป็นวันคล้ายวันเกิดของนายกฯกัมพูชา นายกฯ จึงได้กล่าวอวยพรในนามของรัฐบาลและตัวแทนประชาชนไทย ขอให้นายกฯกัมพูชาและครอบครัวมีความสุข สุขภาพแข็งแรง ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน และสมปรารถนาทุกประการ พร้อมขอให้การประชุมครั้งนี้ประสบความสำเร็จ เพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดให้ประชาชนตามลุ่มน้ำโขง ขณะเดียวกันผู้นำทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องเพิ่มพูนความร่วมมือทางด้านการค้า การลงทุน การเปิดจุดผ่านแดนระหว่างทั้งสองประเทศ และเส้นทางรถไฟ
เวลา 9.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ 3 อย่างไม่เป็นทางการ โดยนายกฯ ระบุว่า รัฐบาลไทยยินดีสนับสนุนการเสริมสร้างความมั่นคงด้านน้ำของประเทศสมาชิก เพื่อตอบสนองการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคมและรักษาสิ่งแวดล้อม ตามเงื่อนไขการพัฒนาของแต่ละประเทศ รวมทั้งความเป็นหุ้นส่วนอย่างใกล้ชิดของประเทศสมาชิกบนพื้นฐานของการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ การเคารพซึ่งกันและกัน และการมีผลประโยชน์ร่วมกัน เพื่อเดินหน้าไปด้วยกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง พร้อมเชื่อมั่นว่า ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดของประเทศสมาชิกจะทำให้ลุ่มแม่น้ำโขงของเกิดสันติภาพ ความมั่นคงและยั่งยืน ก่อให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจ และสามารถใช้กลไกความร่วมมือที่กำหนดไว้มาสู่การปฎิบัติที่เป็นรูปธรรม ตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ คาดหวังว่า คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง จะมีการพัฒนาองค์กรอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประเทศสมาชิก ในการบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างเป็นระบบต่อภัยพิบัติด้านน้ำแล้ง น้ำท่วม คุณภาพน้ำ และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีการกำหนดแผนงานและเป้าหมายที่มีกรอบระยะเวลาชัดเจนร่วมกัน พร้อมเน้นย้ำว่า ความท้าทายดังกล่าวเป็นประเด็นข้ามพรมแดน อีกทั้งเสนอให้ประเทศสมาชิกร่วมกันเสริมสร้างบทบาทการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการฯ ให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น โดยมีระเบียบปฏิบัติด้านการใช้น้ำ และเครื่องมือสนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบายให้แก่รัฐบาลประเทศสมาชิก พลเอกประยุทธ์ เสนอให้มีการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้คณะกรรมาธิการฯ เติบโต โดดเด่นและยืดหยุ่นเท่าทันต่อสถานการณ์การพัฒนาต่างๆ ในระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยพัฒนาให้เป็นเวทีด้านการทูตเรื่องน้ำของภูมิภาค จึงควรมีการบริหารจัดการอย่างมีธรรมาภิบาล การมุ่งเน้นนวัตกรรม การพัฒนาบนฐานทรัพยากร การใช้ทรัพยากรน้ำเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และเชื่อมั่นว่า การพัฒนาบทบาทความเข้มแข็งของคณะกรรมาธิการฯ มีส่วนสำคัญให้ภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เกิดความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน
คลิกอ่านเพชบุ้ค Wassana Nanuam
ซบ !!
เจอกันทีไร “สมเด็จ ฮุนเซน” ชอบ กอด และซบ “บิ๊กตู่”เสมอ…. เป็นสไตล์ของ “ฮุนเซน” พอดีว่า บิ๊กตู่ ตัวสูงกว่า เวลากอด ทักทายกัน เลย กลายเป็น “ซบ อก” ไป
บิ๊กตู้ บิน เสียมราฐ กัมพูชา ประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ 3
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำ ลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ 3 (The 3rd Mekong River Commission Summit) ในวันที่ 5 เมษายน 2561 ณ จังหวัดเสียมราฐ ราชอาณาจักรกัมพูชา
การประชุมครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมการประชุมประกอบด้วย 1.ผู้นำจากประเทศสมาชิกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง(Mekong River Commission: MRC) ได้แก่ ไทย กัมพูชา ลาว และเวียดนาม 2.รัฐมนตรีจากประเทศคู่เจรจา ได้แก่ จีนและเมียนมา 3.ผู้แทนรัฐบาลประเทศหุ้นส่วนการพัฒนาและองค์การระหว่างประเทศ เป็นการประชุมระดับผู้นำของประเทศสมาชิกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ที่มีกำหนดจัดขึ้นทุก 4 ปี เพื่อเป็นเวทีสำคัญด้านทรัพยากรน้ำระดับภูมิภาค ในการหารือและกำหนดนโยบายความร่วมมือด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและทรัพยากรที่เกี่ยวข้องในลุ่มน้ำโขง
1.ประเทศสมาชิกจะร่วมแสดงจุดยืนร่วมกันในการดำเนินการตามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2538 และสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals) 2.เพิ่มพูนความร่วมมือกับประเทศในลุ่มน้ำโขงตอนบน ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีนและสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา 3.เสริมสร้างความร่วมมือระหว่างคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) และกรอบความร่วมมืออื่นๆ ในภูมิภาครวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้กับหุ้นส่วนการพัฒนาต่อแนวความร่วมมือของ MRC และ 4.แลกเปลี่ยนประสบการณ์ องค์ความรู้และการประยุกต์สำหรับการบริหารจัดการลุ่มน้ำโขง ร่วมกับลุ่มน้ำนานาชาติอื่นๆ
ประเด็นที่นายกรัฐมนตรีจะผลักดันในการประชุมครั้งนี้ ได้แก่ ผลักดันความร่วมมือการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านภัยพิบัติจากภาวะน้ำแล้ง น้ำท่วม และคุณภาพน้ำ เสริมสร้างบทบาทการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงให้ เป็นศูนย์กลางความรู้ด้านทรัพยากรน้ำและทรัพยากรที่เกี่ยวข้องในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง สนับสนุนให้นำองค์ความรู้ทางเทคนิควิชาการที่มี เพื่อพัฒนาสู่ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศสนับสนุนการตัดสินใจด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและทรัพยากรที่เกี่ยวข้องในลุ่มน้ำโขง ซึ่งประเทศสมาชิก หน่วยงานภาครัฐ องค์กรพัฒนาและประชาชน สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง นอกจากนี้ ไทยจะผลักดันให้ คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงมีความเข้มแข็งและโดดเด่น โดยการร่วมออกแบบองค์กร ให้ทันต่อสถานการณ์การพัฒนาด้านต่างๆ ทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาค ซึ่งมุ่งเน้นการดำเนินงานที่สำคัญ คือ การบริหารจัดการอย่างมีธรรมภิบาล การมุ่งเน้นนวัตกรรม การพัฒนาบนฐานทรัพยากร (Nature-Based Solutions) การใช้ทรัพยากรน้ำเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยพัฒนาสู่การเป็นเวทีด้านการทูตเรื่องน้ำของภูมิภาค
สำหรับผลของการประชุมฯ ผู้นำรัฐบาลประเทศสมาชิกจะรับรองปฏิญญาเสียมราฐ ค.ศ. 2018 ซึ่งเป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์เชิงนโยบายของประเทศสมาชิกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ในการมุ่งเน้นการดำเนินงานตามพันธกรณีของความตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2538 มีสาระสำคัญ คือ การเพิ่มพูนความพยายามและความเป็นหุ้นส่วนของประเทศสมาชิก ในการพัฒนาและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และทรัพยากรที่เกี่ยวข้อง เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของลุ่มแม่น้ำโขง โดยไม่มีการลงนามและไม่มีถ้อยคำหรือบริบทใดที่มุ่งจะก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ
matemnews.com 5 เมษายน 2561