เฟชบุ้ค Wassana Nanuam รายงาน
ไม่ทุบทิ้ง แต่ ทำเป็น”ศูนย์เรียนรู้ “ของชาวเชียงใหม่ หวังว่า ศาลจะเข้าใจ
“บิ๊กเจี๊ยบ” พลเอกเฉลิมชัย ผบ.ทบ. เผย มีหลายข้อเสนอ แต่จะเลือกข้อเสนอที่ดีที่สุด โดยเฉพาะ ข้อเสนอ ให้ บ้านพักศาล 45 หลัง เป็นศูนย์เรียนรู้ ของ จ.เชียงใหม่ ให้ประชาชนทุกคนได้ใช้ประโยชน์ และมีส่วนร่วม ช่วยกันดูแล หวังว่า ศาลคงจะเข้าใจ ชี้ การทุบทิ้ง เป็นสิ่งที่ง่าย แต่มีผลกระทบตามมา โดยเฉพาะความเสียหายกว่า 200ล้าน ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ การฟื้นฟู สภาพแวดล้อม ให้เป็นดั่งเดิม แม้จะเป็นสิ่งยาก และต้องใช้เวลา เชื่อยังไม่ต้องใช้ ม.44 เพราะสามารถพูดคุยกันได้ ชี้ ต้องรอบคอบ หาทางออกทุกฝ่ายพอใจ เผย “แม่ทัพ3-ผวจ.เชียงใหม่” ตั้งกก.ตรวจสอบรายละเอียด กำหนดส่งข้อมูล 29 เม.ย. ยันไม่ควรใช้อารมณ์ตัดสินปัญหา เชื่อเป็นบรรทัดฐานต่อไป
พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก และเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการก่อสร้างอาคารศาลอุทธรณ์ภาค 5 และที่พักข้าราชการตุลาการ ที่มีการใช้พื้นที่ของกรมธนารักษ์ในต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ซึ่งตั้งบริเวณเชิงดอยสุเทพและใกล้กับเขตอุทยานแห่งชาติสุเทพ-ปุยว่า พล.ท.วิจักขฐ์ สิริบรรสพ แม่ทัพภาคที่ 3 ได้ประชุมเสวนาในพื้นที่เมื่อวันที่ 9 เม.ย. ที่ผ่านมากับผู้ไม่ยอมรับการก่อสร้างบ้านพักดังกล่าว
ซึ่งได้ข้อสรุปประเด็นสำคัญคือ เขาต้องการให้รื้อบ้านพัก จำนวน 45 หลังที่อยู่บริเวณด้านบน โดยพื้นที่ทั้งหมดมี 147 ไร่ แบ่งเป็นส่วนด้านบนสุด 40 ไร่ ซึ่งไม่ได้ใช้งาน และยังคงเป็นป่าเหมือนเดิม แต่ในส่วนที่สองจำนวน 47 ไร่ ใช้สร้างพื้นที่บ้านพัก จำนวน 45 หลัง และส่วนที่สามคือพื้นที่ด้านล่างลงมาที่สร้างอาคารสำนักงานศาล และอาคารที่พักที่ประชาชนไม่ได้ติดใจ
ทั้งนี้ข้อยุติเมื่อวันที่ 9 เม.ย. นั้นทางแม่ทัพภาคที่ 3 และผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่จะตั้งคณะกรรมการไปตรวจสอบรายละเอียดว่ามีความจำเป็นต้องรื้อในส่วนใดบ้าง และรายงานให้ตนรับทราบในวันที่ 29 เม.ย.
ในส่วนของศาลนั้นทางสำนักงานเลขานุการศาลยุติธรรมได้ทำหนังสือเสนอมาที่รัฐบาลโดยมีแนวทางเป็นเรื่องของรายละเอียดทางศาล ซึ่งจะต้องนำทุกส่วนมาบูรณาการแก้ไขปัญหาเพื่อหาทางออกร่วมกัน
ทั้งนี้ตนได้รับคำสั่งจากพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและรมว.กลาโหม ที่รับผิดชอบดูแลเรื่องนี้ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
แต่ทั้งนี้แนวทางที่หารือเบื้องต้นคือเพื่อไม่ให้มีผลกระทบกับผู้ประกอบการควรจะให้ดำเนินการให้ได้ข้อยุติเสร็จสิ้นภายใน 1-2 เดือนข้างหน้า
ส่วนพื้นที่ที่สร้างเสร็จเรียบร้อยแล้วก็ต้องคิดว่าจะดำเนินการอย่างไรให้เกิดประโยชน์กับประชาชนในพื้นที่มากที่สุด ตนคิดว่าศาลจะเข้าใจในประเด็นนี้
สำหรับประเด็นใครจะรับผิดชอบต่อการดำเนินการก่อสร้างบ้านจำนวน 45 หลัง เพราะมีบางกระแสให้ข้อคิดเห็นว่าควรทุบทิ้ง แต่ในแง่ข้อกฎหมายคือเงินจำนวน 200 กว่าล้านบาท ที่สร้างบ้านพักและมีการทุบทิ้งใครจะรับผิดชอบ เพราะจะเป็นการเสียประโยชน์ไปโดยเปล่าประโยชน์หรือไม่
“หรือเราควรใช้พื้นที่ดังกล่าวใช้เป็นพื้นที่ประโยชน์ในภาพรวมของจ.เชียงใหม่ เพื่อให้ประชาชนในจังหวัดได้ประโยชน์ เช่นการสร้างศูนย์เรียนรู้ เป็นต้น และต้องมีปรับภูมิทัศน์ให้สอดรับกับพื้นที่ ซึ่งต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง และต้องมีหน่วยงานที่รับผิดชอบชัดเจน”
อย่างไรก็ตามทั้งหมดต้องผ่านกระบวนการของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ และคิดว่าทางศาลคงไม่มีปัญหา ซึ่งตนจะเสนอพล.อ.ประวิตรอีกครั้งว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
“การทุบทิ้งเป็นสิ่งที่ง่าย แต่จะมีผลกระทบตามมา เพราะจะทำให้ภูมิประเทศกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ยากและต้องใช้เวลา แต่จะทำอย่างไรไม่ให้ทรัพยากรธรรมชาติเสียหายไป และให้เป็นความรับผิดชอบของคนเชียงใหม่ว่าจะปรับให้พื้นที่เป็นอย่างไร ”
ทางแม่ทัพภาคที่3 ต้องไปคุยกับทางผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เพื่อหาข้อสรุปให้ได้ดีที่สุด และผมคิดว่าขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้มาตรา 44 ในการแก้ไขปัญหา” พล.อ.เฉลิมชัย กล่าว
เมื่อถามว่ากรณีนี้จะกลายเป็นบรรทัดฐานและจะมีการเรียกร้องในลักษณะนี้อีกหรือไม่ พล.อ.เฉลิมชัย กล่าวว่า จึงต้องทบทวนด้วยความรอบคอบและคงไม่สามารถฟันธงในวันสองวันนี้ เพราะต้องทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับชาติบ้านเมืองและเป็นมาตรฐานต่อไป
ทั้งนี้ต้องเข้าใจว่าที่ดินนี้เป็นของทางราชการที่ได้รับการอนุมัติให้ก่อสร้างถูกต้องตามกฎหมาย และใช้งบประมาณของพี่น้องประชาชน ดังนั้นไม่ควรใช้อารมณ์หรือความรู้สึกในการแก้ไขปัญหา เราต้องรอบคอบดูทุกมิติ เพราะเป็นเรื่องของกฎหมาย
เมื่อถามว่ามีการประเมินหรือไม่ว่าเหตุใดกระแสคัดค้านมีมากขึ้นในช่วงหลัง พล.อ.เฉลิมชัย กล่าวว่า ทางในพื้นที่กำลังประเมินอยู่ แต่คิดว่าท้ายสุดจะต้องลงเอยจุดที่เหมาะสมร่วมกัน
matemnews.com 10 เมษายน 2561