นายรักษ์เกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงแก่ผู้สื่อข่าว เมื่อบ่ายวันที่ 26 ก.ค.2560 ผลการตรวจสอบโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ S-26T ระหว่างกองทัพเรือกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ตามคำร้องของ นายศรีสุวรรณ จรรยา ว่า
ไม่พบเหตุผิดปกติหรือมีการ กระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญ จึงมีมติให้ยุติเรื่องดังกล่าว โดยจากการตรวจสอบพบว่าการจัดซื้อเรือดำน้ำซึ่งมีการก่อหนี้ผูกพัน วงเงิน 13,500 ล้านบาท ได้มีการขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรีภายใน 60 วัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2560 ใช้บังคับแล้ว โดยเสนอ ครม.พิจารณาตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2559 จึงเป็นการดำเนินการตามมาตรา 23 วรรค3 ของพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 และที่แก้ไขเพิ่มเติมแล้ว จึงถือว่าชอบด้วยวิธีการงบประมาณ ส่วนมติครม.วันที่ 18 เมษายน 2560 เป็นการรับทราบและเห็นชอบตามความเห็นของสำนักงบประมาณก่อนดำเนินการเท่านั้น อีกทั้งการจัดซื้อดังกล่าวยังเป็นไปตามยุทธศาสตร์เสริมสร้างศักยภาพการป้องกันประเทศ ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2537 โดยมีการปรับปรุงโครงการให้สอดคล้องกับสถานการณ์มาโดยลำดับ จึงมิได้เป็นการสร้างภาระแก่ประเทศชาติหรือประชาชนโดยไม่จำเป็นหรือเกินสมควรแต่อย่างใด
ส่วนกรณีที่ขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า โครงการจัดซื้อเรือดำน้ำถือเป็นหนังสือสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อนหรือไม่นั้น กฤษฎีกามีความเห็นว่าไม่มีลักษณะเป็นสัญญาตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 178 เนื่องจากเป็นข้อตกลงจัดสร้างเรือดำน้ำเป็นการทำสัญญาซื้อขายเชิงพาณิชย์ในทำนองเดียวกับการทำสัญญาระหว่างเอกชนกับเอกชน จึงไม่จำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน อีกทั้งกรณีนี้ไม่ได้อยู่ในอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดินที่จะดำเนินการได้ เนื่องจากเป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรีที่จะพิจารณาว่าจะเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่
นอกจากนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินยังมีมติไม่ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และ 2550 ขัดรัฐธรรมนูญเพราะองค์ประชุมไม่ครบ ตามที่ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย ยื่นคำร้อง เนื่องจากเป็นเรื่องของกระบวนการตรากฎหมายไม่เกี่ยวกับเนื้อหากฎหมายว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ จึงไม่อยู่ในอำนาจที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะดำเนินการได้
Matemnews.com 26 กรกฎาคม 2560