เฟชบุ้คมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เผยแพร่
เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ประเทศฝรั่งเศสได้ประกาศกฎหมายห้ามใช้อุปกรณ์รับประทานอาหาร เช่น มีด ส้อม ช้อน จาน และแก้ว ที่ทำจากพลาสติก โดยกฎหมายดังกล่าวจะมีผลใน ค.ศ. 2020 และเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานสู่การเติบโตสีเขียว (Energy Transition for Green Growth Act) ที่ได้ประกาศแบนถุงพลาสติกทั่วประเทศ
อย่างไรก็ดี นี่ไม่ใช่เรื่องน่าตื่นตะลึงแต่อย่างใด การห้ามแจกถุงพลาสติกโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายถูกห้ามในหลายประเทศเป็นเวลากว่าทศวรรษ เช่น ไอร์แลนด์ (บังคับใช้ ค.ศ. 2002) เดนมาร์ก (บังคับใช้ ค.ศ. 2003) เบลเยียม (บังคับใช้ ค.ศ. 2007) เม็กซิโก (บังคับใช้ ค.ศ. 2010) เวลส์และอิตาลี (บังคับใช้ ค.ศ. 2011) สก็อตแลนด์ (บังคับใช้ ค.ศ. 2014) และอังกฤษ (บังคับใช้ ค.ศ. 2015) ตัวอย่างเหล่านี้ต่างเป็นแนวทางการแก้ปัญหาโดยใช้กฎหมาย
สำหรับประเทศจีน บังคลาเทศ แอฟริกาใต้ อูกันดา โซมาเลีย รวันดา บอตสวานา เคนยา เอธิโอเปียประกาศห้ามใช้ถึงพลาสติกอย่างเด็ดขาดสำหรับสหรัฐอเมริการัฐบาลกลางไม่ได้มองประเด็นนี้เป็นเรื่องของประเทศโดยเปิดโอกาสให้แต่ละรัฐกำหนดกฎหมายของตัวเอง
สำหรับกลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นค่อนข้างช้า แม้ว่าแหล่งท่องเที่ยวหลายแห่งจะถูกคุกคามจากขยะพลาสติก EcoMENA รายงานว่ารัฐบาลในหลายประเทศพยายามสร้างจิตสำนึกและการตระหนักของสาธารณชน โดยพยายามหลีกเลี่ยงการห้ามใช้โดยเด็ดขาด
ในปี ค.ศ. 2009 กระทรวงสิ่งแวดล้อมและน้ำของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้เริ่มโครงการรณรงค์ “สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ปลอดพลาสติก” เพื่อกำจัดถุงพลาสติก 500 ล้านถุงออกจากระบบส่วนประเทศอย่างซาอุดิอาระเบียกาตาร์และคูเวตดำเนินการรณรงค์ขนาดเล็กโดยเน้นการทำความสะอาดในทะเลทะเลทรายและในเมือง
ปี ค.ศ. 2014 ประเทศจอร์แดนได้ประกาศแผนการห้ามใช้ถุงพลาสติกและพลาสติกห่ออาหารในการขายอาหาร แต่สองปีที่ผ่านมาก็แทบไม่เห็นการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว ในปี ค.ศ. 2017 ประเทศอิสราเองจะเริ่มบังคับใช้กฎหมายที่ห้ามแจกจ่ายถุงพลาสติกโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และห้ามใช้ถุงพลาสติกที่บางเกินกว่า 20 ไมครอน
เมืองฮูร์กาดา ประเทศอียิปต์ เป็นเมืองแรกในอียิปต์ที่ปลอดถุงพลาสติกตั้งแต่ปี ค.ศ. 2009 การห้ามใช้ถุงพลาสติกยังสร้างรายได้ให้กลุ่มแม่บ้านในการผลิตถุงผ้าเพื่อทดแทนการใช้ถุงพลาสติกอีกด้วย
สำหรับกฎหมายที่กำลังจะบังคับใช้ในฝรั่งเศส ระบุให้จำหน่ายหรือใช้ผลิตภัณฑ์สำหรับรับประทานอาหารที่เป็นพลาสติกที่มีส่วนผสมของวัสดุที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติอย่างน้อยร้อยละ 50 เท่านั้น ข้อบังคับดังกล่าวเกิดจากการบรรลุข้อตกลงปารีส ที่มีเป้าหมายรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เมื่อปลายปีที่ผ่านมา นับว่าเป็นประเทศแรกในโลกที่ข้ามผ่านการแบนถุงพลาสติกสู้พลาสติกสำหรับรับประทานอาหาร
การผลิตพลาสติกจำเป็นต้องใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งมีหลักฐานยืนยันว่าคือสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ จะกลายเป็นภูเขาขยะ หรืออาจปนเปื้อนสู่มหาสมุทรหรือทางน้ำ ซึ่งส่งผลกระทบทางลบต่อสัตว์ป่า
การใช้พลาสติกของมนุษย์กลายเป็นเรื่องแพร่หลายอย่างมาก โดยนักวิทยาศาสตร์ได้คาดการณ์ว่าภายในปี ค.ศ. 2050 จะมีพลาสติกมากกว่าปลาในทะเล หรือพลาสติกอาจมีมากพอที่จะกลายเป็นแหล่งเชื้อเพลิงฟอสซิลแหล่งใหม่ในศตวรรษหน้า
“เราจะเป็นประเทศตัวอย่างที่ลดการปล่อยปล่อยแก๊สเรือนกระจก มีรูปแบบการผลิตพลังงานที่หลากหลาย และมีการติดตั้งพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้น” ฟร็องซัว ออล็องด์ ประธานาธิบดีฝรั่งเศสแสดงความเห็น
อย่างไรก็ดี บริษัทบรรจุภัณฑ์อย่าง Pack2Go แสดงความไม่เห็นด้วยกับกฎหมายดังกล่าว โดยมองว่าการออกกฎหมายของประเทศฝรั่งเศสขัดต่อข้อตกลงของสหภาพยุโรปว่าด้วยการเคลื่อนย้ายผลิตภัณฑ์อย่างเสรีและการปกป้องผู้ผลิต
ถอดความและเรียบเรียงจาก ‘France bans plastic cups, plates, and cutlery in a bid to save the planet’ โดย Chase Purdy และ ‘France’s new ban on plastic throwaways should be extended globally’ โดย Laurie Balbo
ถอดความและเรียบเรียงโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์
matemnews.com 16 เมษายน 2561