เว็บไซต์รัฐบาลไทยรายงาน
วันนี้ (23 เมษายน 2560) เวลา 09.30 น. ณ ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นำนายฟรานซิส เกอร์รี่ (Francis Gurry) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก(World Intellectual Property Organization : WIPO) เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในโอกาสเยือนไทยเพื่อกล่าวสุนทรพจน์พิเศษซึ่งจัดโดยของกระทรวงพาณิชย์ ภายหลังการหารือ พลโท วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญการหารือดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวต้อนรับผู้อำนวยการใหญ่องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลกในนามของรัฐบาลและประชาชนไทย และยินดีที่ทราบว่าองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลกได้เคยทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลผู้นำโลกด้านทรัพย์สินทางปัญญา หรือ Global Leader Award แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อปี 2552 ซึ่งนับเป็นเกียรติและความภาคภูมิใจของคนไทย โอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ในเรื่องการพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของไทยในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ประเทศไทย 4.0 โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ภายใต้นโยบายดังกล่าว จะเน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งมีความเชื่อมโยงและจำเป็นต้องอาศัยความรู้เรื่องทรัพย์สินทางปัญญาเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อน จึงหวังว่าองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลกจะร่วมมือกับรัฐบาลในการสร้างความรู้และความเข้าใจแก่ประชาชน
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงแนวทางการพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาของรัฐบาล ด้วยการจัดทำโรดแมพด้านทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 รวมถึงนโยบายขับเคลื่อนประเทศสู่ประเทศไทย 4.0 โดยผู้อำนวยการใหญ่องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลกได้ชื่นชมนายกรัฐมนตรีที่เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในเรื่องการคุ้มครองและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาทั้งในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ นอกจากนั้น นายฟรานซิส เกอร์รี่ ยังได้กล่าวถึงความสำคัญของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีความหลากหลายในด้านวัฒนธรรม ประเพณี และมีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เป็นที่ดึงดูดความสนใจของนานาชาติ
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ในปัจจุบันโลกมีความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม พันธุกรรม ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องใหม่ จึงขอให้องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลกร่วมสร้างความเข้าใจ ตลอดจนเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาหรือข้อขัดแย้งต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตให้กับกลุ่มประเทศอาเซียนเป็นส่วนรวม มากกว่าที่จะมองแค่ประเทศใดประเทศหนึ่ง เนื่องจากประเทศเหล่านี้มีพื้นฐานมาจากเกษตรกรรมและยังคงมีผู้มีรายได้น้อยเป็นจำนวนมาก ดังนั้นจึงอยากให้องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลกพิจารณาถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับกลุ่มดังกล่าวจากการกำหนดแนวทางคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา
ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีและผู้อำนวยการใหญ่องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลกต่างยินดีที่สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (USTR) ประกาศปรับสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของไทยจากบัญชีประเทศที่ต้องจับตามองพิเศษ (Priority Watch List: PWL) เป็นบัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง (Watch List: WL) ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญของรัฐบาลไทยและการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบังคับใช้กฎหมาย นายกรัฐมนตรียังได้เน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาของไทยให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และยินดีสานต่อความร่วมมือกับองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก เพื่อให้ความร่วมมือบรรลุผลอย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น
matemnews.com
23 เมษายน 2561