พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รองประธานคณะกรรมการติดตามกลไกและพิจารณาการปกป้องคุ้มครองสัตว์ แถลงแก่ผู้สื่อข่าวที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 16 พ.ค.2561 ว่า
“การสัมมนาแนวทางการบริหารจัดการปัญหาลิงในพื้นที่วิกฤต ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อม การทำนิคมลิง และเตรียมความพร้อม เมื่อนิคมลิงพร้อม ทุกอย่างพร้อม เราถึงจะกลับมาทำประชาพิจารณ์กับพี่น้องประชาชน ที่ได้รับผลกระทบหรือหมูบ้านต่างๆ ว่ามีความต้องการแบบใด ต้องการให้ลิงอยู่กับพี่น้องประชาชนต่อจะต้องทำอย่างไรต่อไป หรือจะยินยอมให้นำลิงส่วนเกินไปอยู่นิคมลิง ที่ผ่านมามีการพยายามแก้ปัญหาข้อพิพาทคนและลิงมาตลอดหลาย10 ปี การทำหมันเป็นกระบวนการหนึ่งที่ช่วยได้มาก แต่ไม่เพียงพอกับการเจริญพันธุ์ของลิง การทำนิคมลิงจึงเป็นทางเลือกหนึ่งในการแก้ปัญหาในอนาคต ขอยืนยันว่ากลไกต่างๆในการโยกย้ายลิงจะคำนึงถึงสวัสดิภาพเป็นหลัก เพราะสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ชุดนี้เป็นผู้ออกกฎหมาย พรบ.ทารุณกรรมสัตว์ด้วยตัวเอง จะมีการจัดการให้ดีที่สุด เพื่อให้ประชาชนและลิงอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืนและมีความสุข ไม่ต้องกังวลใจเรื่องเอาลิงไปปล่อยเกาะ เพราะเป็นแค่ถ้อยคำเท่านั้น เพราะเกาะที่เป็นนิคมลิง จะเป็นสถานที่ให้พวกเขาได้อยู่อย่างมีความสุขจนถึงบั้นปลายชีวิต เรื่องนี้ไม่ถือว่าขัดต่อกฎหมายทารุณกรรมสัตว์ เพราะเราไม่ได้ไปฆ่าหรือทำร้าย ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ เราจะไม่ย้ายออกไป เพราะเป้าหมายสูงสุด คือการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ส่วนที่มีนักวิชาการบางฝ่ายเป็นห่วงสวัสดิภาพของลิงนั้น ได้หารือกับนักวิชาการบางท่าน รวมถึงทุกฝ่ายทั้งกลุ่มคนรักลิงและคนที่มีปัญหากับลิง ต่างก็ยินดีที่จะให้ความเห็นเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด เป็นไปตามวิสัยทัศน์ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. ที่ให้ไว้เกี่ยวกับการบริหารจัดการลิงที่ลพบุรี ซึ่งการดำเนินการบางเรื่องต้องใช้ระยะเวลา แต่สำหรับพื้นที่ที่เป็นปัญหาจริงๆ อาจต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว โดยพื้นที่ที่จะโยกย้ายลิงไปจะดูแลเป็นอย่างดี ตามมาตรฐานของกฎหมาย และจะมีหน่วยงานค่อยติดตามงานอย่างต่อเนื่อง พื้นที่จะใช้ทำนิคมลิงนั้น เบื้องต้นจะใช้จังหวัดภูเก็ตเป็นต้นแบบ เพราะมีการดำเนินการเรื่องนี้มานานพอสมควร โดยมีการลงพื้นที่สำรวจเกาะ 5 เกาะ ที่มีความพร้อมในระดับหนึ่ง แต่จำเป็นต้องเติมให้สมบรูณ์เช่น แหล่งอาหาร แหล่งน้ำจืด เมื่อมีความพร้อมแล้วถึงมีการจัดทำประชาพิจารณ์กับประชาชน หากทุกฝ่ายมีข้อคิดเห็นอย่างไรก็สามารถเสนอมายังสนช.ได้ เพื่อร่วมกันหาทางออกให้ลิงอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในส่วนของจังหวัดภูเก็ต เทศบาลตำบลป่าคลอก จะมีการทำประชาพิจารณ์ ทั้ง 5 เกาะในพื้นที่ที่มีปัญหา โดยจะมีการสอบถามว่า หากจะต้องการให้ย้ายลิงส่วนเกินไปจากพื้นที่จะนำไปไว้ที่ไหนอย่างไร โดยจะชี้แจงขั้นตอนต่างๆให้ประชาชนเข้าใจ หากประชาชนเห็นด้วยก็พร้อมที่จะย้ายทันที แต่ถ้าประชาชนยืนยันพอใจจะอยู่ร่วมกับลิงก็ไม่มีปัญหา ก็จะจัดการทำหมันหรือเติมเต็มระบบนิเวศในบริเวณชุมชนให้รองรับการอยู่ร่วมกันได้ งบประมาณที่จะใช้โครงการนี้ คาดว่าจะใช้ไม่มาก เพราะส่วนใหญ่เป็นแหล่งธรรมชาติอยู่แล้ว แต่ที่กังวลคือไม่อยากให้ระบบนิเวศเดิมของเกาะต่างๆ ที่จะทำนิคมลิงได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะสัตว์ที่อยู่อาศัยเดิม หรือพืชพันธุ์ต่างๆ เพียงแต่ต้องมีการเติมเต็มในสิ่งที่ลิงต้องการเพื่อใช้เป็นอาหาร และเป็นกระบวนการทดลองเบื้องต้นเพื่อหาทางออก หากทำแล้วไม่ประสบความสำเร็จหรือหลายฝ่ายไม่สบายใจ หรือไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ก็จะแสวงหาวิธีการอื่นต่อไป”
matemnews.com
16 พฤษภาคม 2561