Home ข่าวทั่วไปรอบวัน ” ‘ขอเวลาอีกไม่นาน’ แต่ความสง่างามหมดเมื่อครบ 4 ปี”

” ‘ขอเวลาอีกไม่นาน’ แต่ความสง่างามหมดเมื่อครบ 4 ปี”

819
0
SHARE

 

 

 

Thirachai Phuvanatnaranubala

https://goo.gl/qipRx1

 

 

” ‘ขอเวลาอีกไม่นาน’ แต่ความสง่างามหมดเมื่อครบ 4 ปี”

 

ในวันอังคารที่ 22 พฤษภาคม 2561 จะครบรอบ 4 ปีของการปฏิวัติ คสช. …

 

ต้องตั้งคำถามว่า ความสง่างามจะหมดไปหรือไม่?

 

ไม่กี่วันมานี้ พลเอกประวิตรแสดงความเห็นต่อสื่อมวลชนว่า คสช. ทำงานมาตลอด ถ้า 4 ปีไม่ดีจริง อยู่ไม่ได้ …

 

คสช. เข้ามามีแต่ความสงบเรียบร้อย มีด้านไหนที่ไม่ดีบ้าง?

 

คนส่วนใหญ่ ยังจำวิกฤติการเมืองสมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ได้ดี …

 

ถึงแม้ประเทศไทยเผชิญสถานการณ์ตึงเครียดทางการเมืองมามากก็ตาม แต่วิกฤตในปี 2556/7 นั้นยืดเยื้อยาวนานมากเป็นพิเศษ

 

ประชาชนจำนวนมากเฝ้าดูโทรทัศน์เลือกข้างกันทุกวัน ภาพพจน์ของประเทศตกต่ำ สะท้อนไปถึงด้านเศรษฐกิจ

 

ดังนั้น เมื่อ คสช. ปฏิวัติรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ จึงได้รับคำแซ่ซ้องยินดี อย่างน้อยความตึงเครียดยุติชั่วคราว และเป็นการให้เวลาประเทศครุ่นคิด …

 

น่าจะมีการพิจารณาหาทางออกอย่างไร?

 

เพื่อป้องกันมิให้มีความขัดแย้งทำนองนี้เกิดขึ้นอีก

 

ดังนั้น ในช่วงแรกของวาระปฏิวัติ ประชาชนส่วนใหญ่จึงเทคะแนนให้ คสช. ในผลงานการสร้างความสงบเรียบร้อย เป็นปัจจัยหลัก

 

แต่การบริหารประเทศนั้น มีปัจจัยอื่นอีกมากมาย นอกเหนือจากการรักษาความสงบเรียบร้อย …

 

นอกเหนือจากการบริหารงานเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขของประชาชนประจำวัน

 

ไม่ว่าในด้านการวางแผนระยะยาวเพื่อพัฒนาประชาชน และพัฒนาประเทศ

 

ไม่ว่าในด้านการสร้างความเป็นธรรมในสังคม ให้ทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายเท่าเทียมกัน

 

ไม่ว่าในด้านการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ให้ทุกคนมีโอกาสตั้งต้นขั้นต่ำ ที่เท่าเทียมกันมากขึ้น

 

ไม่ว่าในด้านการป้องปรามการทุจริตคอร์รัปชัน และธรรมาภิบาล โดยเฉพาะการทำตัวเองให้เป็นตัวอย่างที่ดีแก่ประชาชน

 

ไม่ว่าในด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน การเปิดรับฟังความเห็น หรือคำท้วงติงของประชาชน อย่างจริงใจ

 

และไม่ว่าในการบริหารรัฐบาลแบบโปร่งใส ตามหลัก Open government ของสหประชาชาติ

 

แต่ที่ผ่านมา 4 ปี รัฐบาล คสช. ทำงานด้านเหล่านี้น้อยมาก เป็นเพราะเหตุใด?

 

ผมคิดว่า เป็นเพราะไม่มีการกำหนดวาระที่ชัดเจนสำหรับ คสช. นี่เอง

 

และเมื่อไม่มีวาระที่ชัดเจน ก็ย่อมไม่มีแรงกดดัน ที่จะต้องวางแผนสำหรับ 100 วันแรก 100 วันที่สอง 100 วันที่สาม ฯลฯ …

 

ดังเช่นที่รัฐบาลมาเลเซีย เพิ่งจะแสดงตัวอย่างให้เห็น …

 

และดังที่สื่อมวลชนในหลายประเทศ จะตั้งเป็นหมุดเวลา เพื่อประชาชนจะประเมินรัฐบาล และเพื่อรัฐบาลจะประเมินตัวเอง

 

การกำหนดวาระในการบริหารประเทศนั้น เป็นกติกาหลักในระบบการเมืองส่วนใหญ่ของโลก …

 

เพราะคณะบุคคลที่ทำหน้าที่บริหารประเทศนั้น จะต้องไม่ใช่การดำรงตำแหน่งจนชีวิตจะหาไม่ …

 

อันแตกต่างจากตำแหน่งประมุขของประเทศที่เป็นศูนย์รวมแห่งจิตใจ

 

การกำหนดวาระสำหรับคณะบุคคลที่ทำหน้าที่บริหารประเทศ …

 

นอกจากจะเปิดให้มีการเปลี่ยนแปลงบุคคลที่อาจจะทำงานได้ดีกว่าแล้ว …

 

ยังเปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบเก้าอี้ ภายหลังจากรัฐบาลเดิมลุกออกไป ว่ามีสิ่งใดแปดเปื้อนอยู่หรือไม่?

 

ในการสอบบัญชีของบริษัทเอกชนนั้น ประเด็นที่จะต้องตั้งข้อสงสัยประการหนึ่ง คือกรณีถ้าหากมีเจ้าหน้าที่ด้านการเงินที่ขยันผิดปกติ …

 

แทนที่จะลาพักร้อนเหมือนชาวบ้าน กลับขยันทำงานไม่มีวันหยุด …

 

เพียงเพื่อพยายามจะนั่งทับหลักฐานการทุจริต มิให้ผู้อื่นสังเกต

 

หลักการกำหนดวาระในการบริหารประเทศ 4 ปีนั้น มีอยู่ในการเมืองไทยอยู่แล้ว โดยรัฐธรรมนูญปี 2550 กำหนดไว้ในมาตรา 104 และปี 2560 ในมาตรา 99

 

ดร.วีระพงษ์ รามางกูร เคยตั้งข้อสังเกตไว้ว่า เมื่อทหารยึดอำนาจ เข้ามาเป็นรัฐบาลแล้ว ทหารก็ไม่ใช่ทหารอีกต่อไป …

 

“แต่กลายเป็นนักการเมืองไปแล้ว …

 

และเป็นนักการเมืองที่ไม่ได้รับความยินยอมจากประชาชน …

 

แต่เป็นนักการเมืองที่แต่งตั้งตนเองขึ้นมา …”

 

และเมื่อทหารกลายเป็นนักการเมือง เมื่อทอดเวลานานไป ก็อาจจะสวมใส่พฤติกรรมของนักการเมือง …

 

อาจจะอดไม่ได้ ที่จะวางแผนเพื่อสืบทอดอำนาจ …

 

อาจจะอดไม่ได้ ที่จะทำโครงการเพื่อนายทุน ทั้งระดับชาติ และระดับนานาชาติ เพื่อเอื้อต่อการหาทุนตั้งพรรคการเมือง …

 

อาจจะอดไม่ได้ ที่จะสร้างกติกา เพื่อประโยชน์ของกลุ่มของตน …

 

อาจจะไม่อดทนต่อคำวิพากวิจารณ์ ที่ทำให้ตนเองเสียคะแนน …

 

จึงอาจจะอดไม่ได้ ที่จะใช้กฎหมายห้ำหั่นคู่ต่อสู้

 

ซึ่งกรณีการแจ้งความเอาผิดพรรคเพื่อไทย ที่มีบางบุคคลในพรรคออกมาวิจารณ์รัฐบาล คสช. นั้น ก็ถูกวิจารณ์ได้ว่าเข้าลักษณะนี้

 

ทั้งนี้ การที่พลเอกประวิตรแสดงความเห็นต่อสื่อมวลชนว่า คสช. ทำงานมาตลอด ถ้า 4 ปีไม่ดีจริง อยู่ไม่ได้นั้น เป็นการประเมินตนเองแบบแคบ …

 

เพราะการปกครองภายใต้อำนาจของกระบอกปืน และโดยมีอำนาจพิเศษนั้น แตกต่างจากสถานการณ์ปกติมาก

 

พลเอกประวิตรตั้งคำถามว่า ที่ คสช. เข้ามานั้น มีด้านไหนที่ไม่ดีบ้าง?

 

คำถามนี้ จะมีคนตอบในใจ แต่อาจจะไม่อยากตอบออกมาดังๆ

 

แต่ถ้าท่านตั้งคำถามใหม่ว่า ที่ คสช. เข้ามานั้น มีด้านไหนที่ดีบ้าง?

 

มีอะไร ที่สมควรจะได้ทำใน 4 ปี แต่ไม่ได้ทำบ้าง?

 

มีกลไกด้านบริหาร และด้านสังคมใด ที่สร้างไว้ ที่จะยังประโยชน์แก่ชนรุ่นหลังอย่างจริงจังบ้าง?

 

คราวนี้ ท่านจะได้คำตอบที่น่าสนใจ และน่าจะเป็นประโยชน์ในการบริหารประเทศชาติสืบไปด้วย

 

คำถามอย่างนี้แหละครับ ที่ทำให้ผมฉุกคิด

 

ครบรอบ 4 ปีของการปฏิวัติ คสช. ความสง่างามกำลังจะหมดลงเสียแล้ว!!!

 

วันที่ 18 พฤษภาคม 2561

ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล

Facebook Thirachai Phuvanatnaranubala

 

matemnews.com 

19 พฤษภาคม 2561