Home ข่าวประชาสัมพันธ์ นักวิชาการลงความเห็นเกี่ยวกับพ.ร.ก. การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล

นักวิชาการลงความเห็นเกี่ยวกับพ.ร.ก. การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล

1190
0
SHARE

ตามที่พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยเป็นพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2561 เกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีจากสินทรัพย์ดิจิทัล โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2561 เป็นต้นไป ได้มีสาระสำคัญ คือ กำหนดการจัดเก็บภาษีในอัตราร้อยละ 15 ของเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้จากการถือ หรือ ครอบครองโทเคนดิจิทัล และ ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนคริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) หรือ โทเคนดิจิทัล (Digital Token) และ กำหนดการเรียกเก็บ Capital Gains Tax (CGT) สำหรับบุคคลธรรมดาจากการทำธุรกรรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล จากการประกาศพระราชกำหนดดังกล่าว ทำให้เกิดเสียงวิเคราะห์ วิจารณ์ ถกเถียงในแวดวงนักการเงิน รวมถึง นักวิชาการต่างๆ โดยมีทั้งเห็นด้วย และ ไม่เห็นด้วยกับการจัดเก็บภาษีตัวนี้

 

 

ผศ.ดร.นงนุช ตันติสันติวงศ์ หัวหน้าหลักสูตรปริญญาโท Risk and Finance และ อาจารย์นักวิจัย ศูนย์ด้านการเงินดิจิทัล (Centre for Digital Finance) จาก มหาวิทยาลัย เซาธ์แธมตัน (University of Southampton) ประเทศอังกฤษ ได้แสดงความเห็นว่า การกำหนดให้มีการจัดเก็บภาษีเงินได้จากเงินส่วนต่างกำไรที่เกิดจากมูลค่าที่เปลี่ยนไปของ Digital tokens ที่ถือครองไว้หรือจากการโอนสินทรัพย์ Cryptocurrencies หรือ Digital tokens ตามประมวลรัษฎากรในอัตราร้อยละ 15 นั้นก็นับว่าถูกต้อง เพราะก็คืออัตราเดียวกันกับอัตราภาษีรายได้นิติบุคคลขั้นต่ำของไทย (อัตราภาษีสำหรับกำไรสุทธิที่ไม่เกิน 3 ล้านบาท)

ทั้งนี้ในประเทศไทยนั้น กำไรที่ได้จากการซื้อขายหุ้นของบุคคลธรรมดาได้รับการยกเว้นภาษี ในขณะที่กำไรที่ได้จากการซื้อขายหุ้นของนิติบุคคลต้องนำไปรวมกับเงินได้แล้วเสียภาษีตามอัตราภาษีรายได้นิติบุคคล นั่นหมายความว่าการจัดเก็บภาษีร้อยละ 15 จากกำไรในการถือครองหรือโอน Cryptocurrencies หรือ Digital Tokens ก็ไม่ได้แปลกอะไร

นอกจากนี้ การจัดเก็บภาษีนี้ยังสอดคล้องกับการจัดเก็บภาษี cryptocurrencies ในประเทศต่างๆ โดยอัตราภาษีของไทยนี้ถือว่าต่ำกว่าต่างประเทศอยู่มาก อย่างเช่น ญี่ปุ่นเก็บร้อยละ 50-55 ของกำไรสุทธิ และอเมริกาเก็บในอัตราภาษีร้อยละ 10-39.6 ขึ้นอยู่กับระดับรายได้รวมของผู้จ่ายภาษีหลังรวมกำไรจาก cryptocurrencies หรือ digital tokens และ ระยะเวลาถือครอง cryptocurrencies

ผศ.ดร.นงนุช ได้ให้ข้อมูลต่อไปถึง สิ่งที่แตกต่างระหว่างการจัดเก็บภาษีกำไรจากสินทรัพย์ดิจิทัลของไทยและของต่างประเทศ คือ 1) การปรับแก้ประมวลรัษฎากรของไทยครั้งนี้ไม่ได้มีการกล่าวถึงผู้ผลิต cryptocurrency หรือที่เราเรียกว่า cryptocurrency miners (พระราชกำหนดฯ ก็ไม่ได้กล่าวถึงผู้เล่นในตลาดที่สำคัญนี้เช่นกัน) ในขณะที่ต่างประเทศกำหนดให้มีการจัดเก็บภาษีกำไรที่ผู้ผลิตได้จากการผลิตและขาย cryptocurrency ด้วย 2) การจัดเก็บภาษีกำไรจากการซื้อขายหลักทรัพย์ทั่วไปในต่างประเทศมีการแบ่งกำไรจากการถือครองไม่เกิน 1 ปีออกจากกำไรจากการถือครองนานกว่า 1 ปี แต่ของไทยนั้นไม่สนใจในเรื่องระยะเวลาการถือครองก่อนมีการโอน cryptocurrency หรือ digital tokens 3) การจัดเก็บภาษีในไทยเป็นแบบคงที่ ในขณะที่ต่างประเทศจัดเก็บแบบก้าวหน้าเช่นเดียวกับเงินได้ประเภทอื่น ดังนั้นหากกำไรจากการเทรด cryptocurrencies หรือ digital tokens มีมูลค่าเกินกว่า 3 ล้านบาท ก็เท่ากับว่ามีการจัดเก็บภาษีในอัตราที่ต่ำกว่าเงินได้ประเภทอื่นซึ่งรายได้ที่เกินกว่า 3 ล้านจะถูกจัดเก็บที่ร้อยละ 20

 

 

ดร.กุลบุตร โกเมนกุล รองคณบดี ฝ่ายบริหารและวิเทศสัมพันธ์ วิทยาลัยนานาชาติ และ อาจารย์ประจำ สาขาการเงินและการลงทุน คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ให้ความเห็นว่า การกำหนดระเบียบควบคุมดูแล การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญอย่างมาก ซึ่งในประเทศต่างๆ ก็ได้มีการทยอยประกาศ ออกข้อกำหนดเกี่ยวกับภาษีในการทำธุรกิจที่ใช้สกุลเงินดิจิทัลตั้งแต่ต้นปี 2018 โดยมีเนื้อหาในลักษณะที่หลากหลาย

อย่างเช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกา กลต.ก็ออกมาเตือนให้นักลงทุนใน cryptocurrencies ให้ทราบถึงความเสี่ยงจากการลงทุน รวมถึงได้ทำการระงับ (Halt) การระดมทุนผ่านICOไปหลายบริษัท อย่างไรก็ตาม ทางภาครัฐก็ยังมีมุมส่งเสริมเช่น การสนับสนุนให้ Commodity Futures Trading Commission (CFTC) กลายเป็นหน่วยงานแรกที่อนุญาตให้ คริปโทเคอร์เรนซี เทรดกันได้บนตลาดอนุพันธ์

นอกจากนี้ หน่วยงานจัดเก็บภาษีของประเทศสหรัฐอเมริกา Internal Revenue Service (IRS) ได้จัดการกับใช้ข้อบังคับเกี่ยวกับเงินเสมือนจริง (Virtual Currency) โดยปฎิบัติเช่นเดียวกับการเก็บภาษีซื้อขายที่ดิน

ส่วนประเทศในสหราชอาณาจักร หน่วยงานจัดเก็บภาษีที่เรียกว่า Her Majesty’s Revenue & Customs (HMRC) มีการประกาศไว้ อย่างชัดเจนให้มีการเรียกเก็บภาษีทั้ง ภาษีเงินได้นิติบุคคล (Corporate Tax), ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (Income Tax) และ CGT ในกรณีที่บริษัท หรือตัวบุคคล ได้ทำการซื้อ-ขายบิทคอยน์ (Bitcoin) หรือ สกุลเงินๆใน cryptocurrencies แล้วเกิดผลกำไร เช่นเดียวกันกับ การเก็บภาษีจากการทำธุรกรรมแล้วเกิดผลกำไรในสกุลเงินต่างประเทศ (Foreign Currency)

อย่างไรก็ตาม ดร.กุลบุตร กล่าวต่อไปว่า การที่ภาครัฐได้เข้ามากำกับดูแล เกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีจากสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นสิ่งที่เหมาะสมแล้ว เพราะนอกจากสอดคล้องกับ ระบบตลาดการเงินในประเทศอื่นๆ ยังสามารถควบคุมการนำสกุลเงินดิจิทัลไปใช้ทางที่ผิด เช่น การฟอกเงิน การหลีกเลี่ยงภาษีต่างๆ ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีหลักฐานที่ไม่มากในการนำเงินเสมือนจริง ไปใช้ในการฟอกเงิน แต่ก็ควรมีผู้คุมกฏ และ กฏหมายมาดูแลตรงนี้ เพื่อลดความเสี่ยงที่cryptocurrencies จะถูกนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ที่ไม่ดีในอนาคต