“พิชัย” แนะ “บิ๊กตู่” แก้น้ำมันแพงโดยลดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ช่วยประชาชน “ย้อน” บิ๊กตู่ มีผลงานอะไร ด้านพลังงาน ทุกวันนี้ยังสับสนหาทิศทางไม่เจอ
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว. พลังงาน รัฐบาลพรรคเพื่อไทย แถลงแก่ผ้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2561 ว่า
ประชาชนกำลังเดือดร้อนกันอย่างมากจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมันดีเซลที่สูงแตะลิตรละ 30 บาทแล้ว ทั้งที่ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ราคาน้ำมันในตลาดโลกสูงกว่าบาเรลละ 100 เหรียญ ซึ่งสูงกว่าตอนนี้ที่อยู่ประมาณบาเรลละ 70 กว่าเหรียญมาก แต่ราคาดีเซลยังต่ำกว่า 30 บาท ทั้งนี้เพราะรัฐบาลในขณะนั้นเห็นใจประชาชนจึงลดการเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล และ การลดการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันสำหรับน้ำมันดีเซล เพื่อช่วยเหลือประชาชน ซึ่งอยากให้ พลเอก ประยุทธ์นำไปพิจารณาเอาแบบอย่าง เพราะ ราคาน้ำมันโลกน่าจะผันผวนระยะหนึ่งเท่านั้น เมื่อราคาน้ำมันโลกปรับลงมาสู่ปกติ ก็สามารถจะเรียกเก็บภาษีใหม่ได้ ทั้งนี้เพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชนส่วนใหญ่ไม่ให้สูงเกินไปจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังย่ำแย่ โดยปัจจุบันมีการเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลถึง 5.85 บาท ซึ่งน่าจะลดลงมาได้ ส่วนกองทุนน้ำมันก็เก็บน้อยอยู่แล้วเพราะความจำเป็นน้อยลงหลังจากลอยตัวราคาก๊าซ ดังนั้นจึงอยากให้รัฐบาลเร่งพิจารณาลดการจับเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลงเพื่อช่วยเหลือประชาชน
ทั้งนี้ พลเอกประยุทธ์เคยประกาศถามตนว่า ตอนอยู่ในตำแหน่งทำอะไร ทั้งที่ตนได้ทำหลายเรื่องเช่น ยกเลิกเบนซิน 91 ทำให้มีการใช้เอทานอลมากขึ้น งดการเก็บกองทุนน้ำมัน ลดการอุดหนุนพลังงานแสงอาทิตย์ตามราคาต้นทุนที่ต่ำลง ย้ายศูนย์ป้องกันน้ำท่วมเข้ากระทรวง ออกเครดิตการ์ดพลังงาน เริ่มลอยตัวราคาก๊าซ ฯลฯ
ดังนั้นจึงขอย้อนถามกลับ พลเอกประยุทธ์ ว่า ตลอด 4 ปี รัฐบาลนี้มีผลงานทางพลังงานอะไร เพราะยังไม่เห็นผลงาน จึงอยากให้พลเอกประยุทธ์ช่วยชี้แจงด้วยไม่ใช่เอาแต่ว่าคนอื่น
เพราะนอกจากไม่มีผลงานแล้วยังทำให้ทิศทางพลังงานของประเทศสับสน โดยเฉพาะเรื่องการงดซื้อพลังงานหมุนเวียน 5 ปี ที่สร้างความสับสนให้กับประชาชนและนักลงทุน ขนาดสภาอุตสาหกรรม ยังต้องออกมาเรียกร้อง อีกทั้งยังสวนกระแสโลกที่มุ่งสู่พลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาด แถมยังจะส่งเสริมโรงไฟฟ้าถ่านหินที่หลายประเทศกำลังจะเลิกใช้แล้ว พร้อมกับข้อครหาทุจริตการซื้อหุ้นเหมืองถ่านหินในอินโดนิเซียมูลค่าหมื่นล้านบาทแต่ได้หุ้นแค่ 11-12% และข้อครหาการออกใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าจำนวนมากเพื่อแลกผลประโยชน์ อีกทั้งยังห้ามประกาศราคาน้ำมันขึ้นลงล่วงหน้า ทั้งๆที่ประชาชนควรจะได้ทราบการปรับราคาก่อน
ซึ่งทั้งหมดนี้สร้างความงุนงงให้กับประชาชนในทิศทางพลังงานของรัฐบาลนี้เป็นอย่างมาก
นอกจากนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้ราคาน้ำมันโลกได้ลดลงตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ประเทศลดค่าใช้จ่ายลงปีละหลายแสนล้านบาท แต่รัฐบาลกลับไม่สามารถใช้โอกาสที่ประเทศจ่ายค่าน้ำมันลดลงนี้ให้เป็นประโยชน์กับเศรษฐกิจได้ เพราะการเจริญเติบโตของไทยต่ำมาโดยตลอด 4 ปี
คลิกอ่านข่าวบัตรเครดิตพลังงาน
matemnews.com
22 พฤษภาคม 2561