พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว พร้อมทีมงานทำคดีเปิดพแถลงข่าวแก่สื่อมวลชน ที่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อตอนเช้าวันที่ 22 พ.ค.2561ว่า
“นโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้สั่งการให้ทุกกองบัญชาการในสังกัดกำชับกวดขันการแต่งตั้งโยกย้ายทุกระดับในสังกัด เป็นไปด้วยความเป็นธรรม ตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำหนดโดยเคร่งครัด และห้ามมีการซื้อขายตำแหน่งโดยเด็ดขาด เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2561 มีผู้เสียหายมาร้องเรียน เกี่ยวกับการแอบอ้างว่าเป็นตัวผม เรียกรับเงินซื้อขายตำแหน่งของข้าราชการตำรวจในพื้นที่ตำรวจภูธรภาค 4 ในวาระการแต่งตั้งประจำปี 2560 ระดับชั้นสัญญาบัตร ตำแหน่งรองผู้บังคับการถึงสารวัตร และระดับรองสารวัตรถึงระดับชั้นประทวน เหตุเกิดระหว่างเดือน ต.ค. 2560 จนถึงเดือน มี.ค.2561 มีผู้เสียหาย 6 ราย มูลค่าความเสียหาย เป็นเงิน 4,210,000 บาท จึงได้ทำการสืบสวนรวบรวบพยานหลักฐาน แล้วขออนุมัติหมายจับผู้ต้องหา คือ “นายไพจิตร์ สายยา”
โดยเมื่อประมาณปลายปี 2557 นายไพจิตร์ สายยา ได้หลอกลวงผู้เสียหายรายที่ 1 ใช้โทรศัพท์และอ้างตัวเป็น พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้บังคับการกองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ 191 พูดคุยกับผู้เสียหายรายที่ 1 เรื่อยมาจนกระทั่งกลางปี 2560 ทำให้ผู้เสียหายรายที่ 1 หลงเชื่อโดยสนิทใจว่าบุคคลที่คุยด้วยนั้น คือ พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ จริง ต่อมา ก่อนที่จะมีคำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายประจำปี 2560 ผู้ต้องหาได้อ้างว่าตัวผมสามารถโยกย้ายให้ข้าราชการตำรวจไปดำรงตำแหน่งในระดับสูงขึ้น หรือย้ายไปอยู่ในพื้นที่ๆต้องการได้ แล้ว นายไพจิตร์ สายยา ผู้ต้องหา ได้สั่งการให้ผู้เสียหายรายที่ 1 เป็นผู้จัดหาข้าราชการตำรวจที่มีความต้องการโยกย้าย และรวบรวมค่าดำเนินการทั้งหมดมาไว้ที่บัญชีของผู้เสียหายรายที่ 1 ก่อนที่จะโอนเงินเข้าไปยังบัญชีของนายไพจิตร มีการตกลงกันระหว่างผู้ต้องหาและผู้เสียหายว่า จะต้องจ่ายเงินค่ามัดจำเป็นจำนวนครึ่งหนึ่งก่อน ของแต่ละคนตามที่ได้ตกลงกันไว้ โดยมีมูลค่าความเสียหายทั้งหมด 6 ราย ได้แก่
จากสารวัตร ขึ้น รองผู้กำกับการ จ่ายเงิน 510,000 บาท
รองผู้บังคับการ ขอย้าย จ่ายเงิน 500,000 บาท
สารวัตร ขึ้น รองผู้กำกับการ จ่าย 2,500,000 บาท
ผู้กำกับการ ขอย้าย จ่าย 100,000 บาท
สารวัตร ขึ้น รองผู้กำกับการ จ่าย 500,000 บาท
ผู้บังคับหมู่ ขอย้าย จ่าย 100,000 บาท
แต่ เมื่อคำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายออกมา ผู้เสียหายทั้ง 6 ราย ไม่ได้โยกย้ายตามที่ตกลงกันไว้ จึงทวงถามนายไพจิตร์ ได้คำตอบว่า ต้องรอคำสั่งในวาระหน้าจะดำเนินการให้ได้อย่างแน่นอน และไม่มีการคืนเงินให้ผู้เสียหาย เป็นเหตุให้ผู้เสียหายทั้ง 6 ราย เกิดความสงสัยในตัวผู้ต้องหาว่าเป็น พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล จริงหรือไม่ จึงได้มาแจ้งเรื่องราวร้องทุกข์ที่ สภ.ศรีสงคราม จ.นครพนม
ชุดสืบสวน สืบสวนจนรู้ว่า คนร้ายได้ใช้บัญชีธนาคารออมสิน ชื่อบัญชี นายไพจิตร์ สายยา เลขที่บัญชี 020117110203 เพื่อใช้รับโอนเงินที่ได้มาจากการหลอกลวงผู้เสียหาย จึงได้รวบรวมพยานหลักฐานมอบให้พนักงานสอบสวนขออนุมัติหมายจับต่อศาลจังหวัดนครพนม ตามหมายจับที่ จ.94/2561 ลงวันที่ 21 พฤษภาคม 2561 ข้อหา “ฉ้อโกง โดยแสดงตนเป็นคนอื่น”
และมีความผิดต่อตัวบุคคล ที่มี พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบช.ทท. เป็นผู้เสียหายในข้อหา พรบ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 มาตรา 14 บัญญัติไว้ว่า “ โดยทุจริตหรือโดยหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน”
ตำรวจสืบรู้ นายไพจิตร์ อาศัยอยู่ อพาร์ทเมนท์แห่งหนึ่ง ในซอยอ่อนนุช 46 แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร จึงดักจับไว้ได้
บิ๊กโจ๊ก หรือ พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล กล่าวแก่นักข่าวว่า
“ผมยืนยันว่าไม่มีการซื้อขายตำแหน่งในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผมไม่เคยซื้อขายตำแหน่ง นายไพจิตร์ เป็นอดีตคนขับรถแท็กซี่ นำเงินที่ได้ทั้งหมดไปซื้อที่ดิน 16 ไร่ ต.คำตะกร้า จ.สกลนคร และรถยนต์ 1 คัน ไม่พบเส้นทางการเงินที่โอนไปยังบุคคลอื่นที่เหนือขึ้นไป และไม่พบความสัมพันธ์กับข้าราชการที่ทำให้สามารถเลื่อนตำแหน่งได้ ขณะที่ตำรวจทั้ง 6 คน ที่ซื้อตำแหน่งจะถูกดำเนินคดีอาญา ข้อหาสนับสนุนให้ผู้อื่นกระทำความผิด และตั้งกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง เป็น ตำรวจสังกัดภูธร ภาค 4 และ ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง”
matemnews.com
22 พฤษภาคม 2561