“เป็นเรื่องที่สามารถเข้าใจได้โดยหลักธรรมชาติ ที่ผ่านมาสำหรับทุกเหตุการณ์เมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้น ทางภาครัฐได้ดำเนินการตามแนวทางหลัก2 ขั้นตอน คือ1.ขั้นตอนการแจ้งเตือนและเตรียมการ กับ2.ขั้นตอนการเผชิญสถานการณ์ ทั้งนี้ในขั้นตอนการแจ้งเตือนนั้นจะเห็นว่าทางรัฐบาล และคสช.มีการแจ้งเตือนเรื่องสภาพอากาศมาเป็นระยะว่าหลายพื้นที่เสี่ยงเกิดอุทกภัยจากข้อมูลที่ได้ประเมินมาตามระบบ โดยมีเป้าหมายหลัก 2 กลุ่มคือ ให้กลุ่มประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงเตรียมรับมือกับกลุ่มเจ้าหน้าที่จะต้องเตรียมการให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ ทั้งบุคลากร เครื่องมือเครื่องใช้ และสิ่งของจำเป็นต่อการช่วยเหลือ ส่วนขั้นตอนการเผชิญหน้ากับสถานการณ์ เป้าหมายเพื่อพยายามลดระดับความรุนแรงเรื่องผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนด้วยการระดมสรรพกำลังเข้าช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนผู้ได้รับผลกระทบผ่านรูปแบบต่างๆ หากใครที่ติดตามข่าวจะเห็นได้ว่าทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พยายามช่วยกันอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะผู้บังคับบัญชาได้ติดตามสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง เนื่องจากเกรงว่าอาจมีผู้ที่ไม่เข้าใจ หรือผู้ที่ไม่หวังดีพยายามสื่อสารคลาดเคลื่อนว่ารัฐบาล ไม่แจ้งเตือนประชาชน เพราะข้อมูลเหล่านั้นเป็นเพียงความเห็นส่วนบุคคลที่มีเรื่องการเมืองมาผสม โดยอาศัยสถานการณ์ความทุกข์ร้อนของประชาชนมาเป็นประเด็น ซึ่งผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่สามารถใช้วิจารณญาณพิจารณาได้จากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น อุทกภัยครั้งนี้ มีความต่างกับเมื่อปี 54 อย่างมาก เพราะในครั้งนั้นปริมาณฝนไม่ได้ตกมาในลักษณะฉับพลันแบบนี้ แต่เกิดจากปริมาณน้ำสะสมมีมากเกิน เนื่องจากระบบบริหารจัดการเกี่ยวกับการระบาย โดยสังเกตได้ว่าช่วงนั้นขณะที่เกิดเหตุอุทกภัยในแต่ละพื้นที่ ไม่ได้มีฝนตกลงมาเหมือนอย่างในครั้งนี้ อย่างไรก็ตามพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. ได้ให้กำลังใจและขอขอบคุณเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งฝ่ายพลเรือน ตำรวจ ทหาร รวมถึงภาคเอกชนทุกคนที่ได้ช่วยกันอย่างไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อยเพื่อพี่น้องประชาชน”
ความข้างต้น พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ แถลงแก่ผู้สื่อข่าวเมื่อตอนเช้าวันที่ 30 ก.ค.2560
Matemnews.com 30 กรกฎาคม 2560