พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงแก่ผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 30 พ.ค.2561 ว่าด้วย แนวทางการยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครอง พิพากษาให้ ป้าทุบรถ – น.ส.บุญศรี แสงหยกตระการ กับพวกรวม 4 คน ชนะคดีตั้งแต่วันที่ 16 พ.ค.2561โดย คณะกรรมการ มี นายวันชัย ถนอมศักดิ์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธาน ได้พิจารณารายละเอียดตามคำสั่งศาลใน 3 ประเด็น ที่ยังมีความคิดเห็นที่คลาดเคลื่อน ประกอบด้วย
1.ส่วนที่เกี่ยวกับสำนักการโยธา ต้องเป็นผู้ดำเนินการตามมาตรา 39 ทวิ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ในการขอใบอนุญาตก่อสร้าง จากการตรวจสอบ พบว่า สำนักการโยธา ได้พิจารณาและใช้อำนาจดำเนินการถูกต้องตามกฎหมาย โดยยึดประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 พ.ศ.2530 และคำวินิจฉัยคณะกรรมการกฤษฎีกา รวมทั้งคู่มือปฏิบัติของราชการและกรมที่ดิน ไม่ได้ห้ามก่อสร้างเป็นอาคารพาณิชย์ จึงได้ยึดคำสั่งดังกล่าวในการออกใบอนุญาตถูกต้องแล้ว
2.ส่วนที่เกี่ยวกับสำนักงานเขตประเวศ มีการบังคับใช้กฎหมาย 3 ฉบับ ได้แก่
พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 แก้ไขฉบับเพิ่มเติม 2535 ตามมาตรา 40 42 43 เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการเพิกถอนใบอนุญาตพร้อมแจ้งความดำเนินคดี โดยศาลจังหวัดพระโขนง มีคำสั่งให้ปรับผู้กระทำความผิด เจ้าหน้าก็มีการดำเนินการมาโดยตลอด
พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 ได้ออกคำสั่งให้แก้ไข เมื่อเจ้าของตลาดไม่ดำเนินการแก้ไข เจ้าหน้าที่ก็ได้ทำการฟ้องศาลจังหวัดพระโขนงอีกครั้ง โดยศาลมีคำสั่งให้ปรับ
ส่วน พ.ร.บ.รักษาความสะอาด และความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 ทหารและเจ้าหน้าที่เทศกิจได้ประชุมติดตาม เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาร่วมกัน จะเห็นว่าทั้ง สำนักการโยธา และสำนักงานเขตประเวศ ดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งกรุงเทพมหานครยังมองคลาดเคลื่อนกับศาลอยู่
3.ในส่วนของค่าเสียหายที่กรุงเทพมหานครจะต้องจ่ายเงินชดใช้ความผิดฐานละเมิด หากพิจารณาตามข้อเท็จจริงแล้ว เจ้าหน้าที่ กทม.ได้ดำเนินการตามกฎหมายแล้ว ก็ไม่น่าจะต้องรับผิดชอบในมุมของการละเมิด แต่หากต้องรับผิดชอบ ก็พบว่ามีผู้ละเมิดร่วมด้วย คือ ผู้ที่จอดรถขวางหน้าบ้าน และเจ้าของตลาดทั้ง 5 แห่ง ดังนั้นก็น่าจะแบ่งสัดส่วนรับผิดชอบร่วมกัน กรุงเทพมหานครไม่น่าจะรับผิดชอบค่าเสียหายเพียงฝ่ายเดียว
การคำนวณจำนวนเงินค่าเสียหายของศาล คิดรวม 365 วัน ตลอดระยะเวลา 7 ปี แต่ตลาดเปิดขายจริงเพียงเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์เท่านั้น นับ 1 ปี มีเพียง 102 วัน ดังนั้นหากจะให้ กรุงเทพมหานครรับผิดชอบค่าเสียหาย ก็ยินดีจ่ายเงินเยียวยาให้ แต่ต้องมีการแบ่งสัดส่วนตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ
คณะกรรมการ จะสรุปรายละเอียดสำนวนทั้งหมดเสนอต่อ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และปลัดกรุงเทพมหานครเห็นชอบ ก่อนเสนออัยการพิจารณา ในการอุทธรณ์ทั้ง 3 ประเด็นดังกล่าว ต้องให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 มิ.ย.นี้ หากอัยการพิจารณายื่นอุทธรณ์ ก็ต้องชะลอเอาผิดด้านวินัยกับข้าราชการประจำไว้ก่อน จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด
กรุงเทพมหานครมีความเห็นควรอุทธรณ์คำสั่งศาล จะส่งสำนวนให้อัยการเป็นผู้แก้ต่างให้กรุงเทพมหานคร ก็อยู่ที่ดุลพินิจทางอัยการว่าจะเห็นชอบตามที่กรุงเทพมหานครเสนอหรือไม่ ต้องภายในวันที่ 15 มิ.ย.นี้ ที่จะสามารถอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน ส่วนที่ศาลสั่งให้รื้อถอนตลาดทั้งหมด กรุงเทพมหานครได้สั่งปิดและให้หยุดขายไปแล้ว ที่มีผู้ค้าไปค้าขายเมื่อวันที่ 26 พ.ค.2561 เขตประเวศได้เข้าไปทำความเข้าใจแล้ว และกรุงเทพมหานครได้ออกประกาศให้เจ้าของรื้อถอนตลาดภายใน 60 วัน หากไม่ทำตาม เราก็มีขั้นตอนของกฎหมายที่จะดำเนินการต่อไป ในส่วนของข้าราชการที่เกี่ยวข้องมีความผิดทางวินัย เป็นอำนาจของฝ่ายประจำโดยอำนาจของปลัดกรุงเทพมหานคร
matemnews.com
30 พฤษภาคม 2561