นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการ สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) มูลนิธิ สถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำ ประกาศเมื่อตอนเช้าวันที่ 16 มิ.ย.2561 ผลสำรวจ
เรื่อง ประชาชน คิดอย่างไรต่อ ยุทธศาสตร์ชาติ กับ อนาคตของประชาชน และ อนาคตของประเทศไทยที่ต้องการ กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพ
สอบถาม 1,150 ตัวอย่าง ระหว่าง วันที่ 5 – 15 มิ.ย. 2561พบว่า
อนาคตของประชาชนกับอนาคตของประเทศไทยที่ต้องการมากที่สุด ได้แก่ ร้อยละ 29.0 ระบุว่า ประชาชนคนไทยต้องมีงานทำมั่นคง มีเงินพอค่าครองชีพ ไม่ถูกคนต่างด้าวแย่งอาชีพ
ร้อยละ 22.6 ระบุ บ้านเมืองสงบสุข ไม่วุ่นวาย
ร้อยละ 17.3 ระบุ ประชาชนมีระเบียบวินัย มีการบังคับใช้กฎหมายจริงจังต่อเนื่อง
คำถาม ทำไมเรื่องการมีงานทำมั่นคง จึงขึ้นมาเป็นอันดับแรกแซงหน้าความสงบสุขของบ้านเมือง พบว่า คนไทยส่วนใหญ่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบ แต่ปัญหาคนไทยไม่มีงานทำที่มั่นคงกระทบต่อคนไทยจำนวนมาก คนตอบส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่า ทุกวันนี้คนไทยถูกแย่งอาชีพหลายอย่างที่เคยทำอยู่อย่างมั่นคงต่อเนื่องมา บางพื้นที่แรงงานต่างด้าวผันตัวเองมาเป็นเจ้าของค้าขายจำนวนมาก เช่น อาชีพค้าขายอิสระ ขายผักขายปลา ขายผลไม้ในตลาดสด อาชีพทำอาหาร
คนไทยถูกผลักออกไปทำอาชีพอิสระไม่มั่นคง หาเช้ากินค่ำ ไม่พอค่าครองชีพหันไปขายของออนไลน์ก็ไม่มีหน่วยงานรัฐใดสนับสนุนส่งเสริม ชีวิตเป็นไปตามยถากรรม บางคนจึงไปเล่นพนัน หวังรวยทางลัด ค้ายาเสพติด ก่ออาชญากรรม หลอกลวงต้มตุ๋น ฉ้อโกง ติดคุกมีคดีติดตัว ขาดหน่วยงานรัฐดูแลชีวิตการงานของคนไทยให้มั่นคง
นอกจากนี้ อาจกล่าวได้ว่า แย่แล้ว ที่ผลสำรวจพบว่า คนไทยส่วนใหญ่หรือร้อยละ 64.0 เคยได้ยินคำว่า ยุทธศาสตร์ชาติ แต่ เกินครึ่งหรือร้อยละ 54.9 ไม่รู้ว่า ยุทธศาสตร์ชาติคืออะไร และส่วนใหญ่หรือร้อยละ 90.2 ระบุ จำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ชาติ ด้วยภาษาง่ายๆ ชาวบ้านจำได้ง่าย จะได้ช่วยกันปกป้องผลประโยชน์ชาติร่วมกันได้ดีขึ้น
ที่ผ่านมาคนจัดทำยุทธศาสตร์เขียนยุทธศาสตร์ชาติออกมาเยอะเกินไป โดยใช้ภาษาวิชาการห่างไกลตัวประชาชนและขาดกลยุทธ์ในการสื่อสารกับประชาชน ยิ่งไปกว่านั้นคนออกแบบยุทธศาสตร์มุ่งแต่ใช้อำนาจรัฐ (State Power) ทำให้เกิดการเน้นการใช้กองกำลังปฏิบัติการที่ใช้งบประมาณสูง แต่ลงทุนด้านการหาข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำน้อยมากในการออกแบบยุทธศาสตร์ และให้ความสำคัญน้อย เช่นกันกับอำนาจจากภาคประชาชน (Non-State Power) ทำให้ออกแบบยุทธศาสตร์ได้ไม่ดีพอ ขาดพลังจากฐานรากของประชาสังคมสนับสนุน ประเทศไทยจึงอยู่ในวังวนของปัญหาและเสียงเรียกร้องเดิมๆ ต่อไป
matemnews.com
16 มิถุนายน 2561