ศาลออกนั่งลังค์ ที่ห้องพิจารณา 907 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.2561อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาการ์ด กปปส.ขัดขวางการเลือกตั้ง หมายเลขดำที่ อ.886/2557 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง
นายนวการ ขอนศรี
นายประเสริฐ ด้วงทิพย์
เป็นจำเลยที่ 1-2 ในข้อหาร่วมกันกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถใช้สิทธิได้ฯ กรณีเมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2557 จำเลยทั้งสองกับพวกที่ใช้ชื่อ กปปส.ขัดขวางปิดประตูทางเข้าออกสำนักงานเขตดินแดง เพื่อไม่ให้สามารถจ่ายหีบบัตรเลือกตั้งให้กับ ผอ.ประจำที่เลือกตั้งกลางนอกเขตจังหวัด ทำให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ 6 ประกาศงดลงคะแนนเลือกตั้ง ทำให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งและผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่สามารถใช้สิทธิได้ เหตุเกิดที่แขวงและเขตดินแดง กทม. ขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ. 2550 มาตรา 76, 152 และให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยทั้งสอง 5 ปี โดยจำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้จำคุกจำเลยคนละ 1 ปี และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งคนละ 5 ปี
นายนวการ จำเลยที่ 1 ซึ่งได้รับการประกันตัวเดินทางมาศาล พร้อมทนายความ และมีนายถาวร เสนเนียม แกนนำ กปปส.เดินทางมาให้กำลังใจด้วย ขณะที่นายประเสริฐ จำเลยที่ 2 หลบหนี ศาลให้ออกหมายจับปรับนายประกัน
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือแล้วเห็นว่า กกต.ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้ง แม้มีการร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าการเลือกตั้ง 2 ก.พ. 2557 ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ แล้วต่อมาศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งต้องทำวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร การไม่มีเลือกตั้ง 28 เขต จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แต่ในวันที่มีการชุมนุมยังไม่มีความชัดเจนดังกล่าว ขณะนั้นยังมีความเห็นขัดแย้งว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ขณะดำเนินการ กกต.มีอำนาจทางกฎหมายจึงเป็นการเลือกตั้งโดยชอบ หากมีการเข้าดำเนินการขัดขวางมิให้มีการลงคะแนนเลือกตั้งได้ย่อมเป็นความผิด ส่วนที่จำเลยทั้งสองชุมนุมหน้าสำนักงานเขตดินแดงอ้างว่าเป็นการใช้เสรีภาพนั้น ศาลเห็นว่าเป็นเหตุการณ์อื่น คดีนี้ผู้ชุมนุมได้ขัดขวางการเลือกตั้งเป็นความไม่สงบ ผิดกฎหมาย ไม่ใช่การชุมนุมโดยชอบ
ส่วนที่จำเลยอ้างว่าไม่ได้เป็นผู้ล็อกกุญแจโซ่ประตูขัดขวางเจ้าหน้าที่ในการเลือกตั้ง โดยจำเลยที่ 1 อ้างว่าทำหน้าที่เพียงห้ามไม่ให้เกิดเหตุร้าย และจำเลยที่ 2 อ้างว่ามาสังเกตการณ์นั้น มีพยานเบิกความเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่รู้จักกับจำเลยทั้งสองมาก่อนและได้ถ่ายภาพไว้ กับพยานเจ้าหน้าที่ กกต.เบิกความว่าไม่สามารถเข้าไปยังสำนักงานเขตได้ เนื่องจากมีโซ่คล้องประตู โดยจำเลยทั้งสองทำหน้าที่เจรจาอยู่หน้าประตูดังกล่าว ทั้งนี้จำเลยที่ 1 ยังถือไมโครโฟนประกาศงดการเลือกตั้ง สิ่งที่จำเลยอ้างจึงขัดแย้งกับหลักฐานที่ปรากฏ ข้อเท็จจริงคือจำเลยทั้งสองยืนขวางประตูปกป้องมิให้ใครเปิดได้ มีพฤติการณ์แสดงออกโดยที่ไม่มีอำนาจตามกฎหมายในการขัดขวางไม่ให้ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งใช้สิทธิจนเวลาล่วงเลย 18.00 น. และที่อ้างว่าเจ้าหน้าที่สามารถเดินเข้าไปได้นั้น ก็มีผู้ชุมนุมซึ่งมีท่าทีขัดขวางแสดงอาการขึงขัง หากเจ้าหน้าที่เข้าไปไม่อาจหลีกเลี่ยงเหตุปะทะได้ จึงเป็นการอ้างเลื่อนลอยไม่น่ารับฟัง
สำหรับที่จำเลยยื่นฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบานั้น ศาลเห็นว่าจำเลยทั้งสองมีพฤติการณ์ไม่สำนึก จึงไม่มีเหตุเปลี่ยนดุลพินิจ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย พิพากษายืน ให้จำคุกจำเลยคนละ 1 ปี ไม่รอลงอาญา
matemnews.com
22 มิถุนายน 2561