ในการหารือกับพรรคการเมือง ของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม ที่ห้องมัฆวาน สโมสรกองทัพบก ถนนวิภาวดีรังสิต เมื่อ 14 น.วันที่ 25 มิ.ย.2561 ได้มีการขอให้นักการเมืองที่เข้าร่วมฝากโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์สื่อสารอิเลคตทรอนิกทุกชนิดไว้ที่ทหารหน้าประตู โดยเขียนชื่อขอฃขอฃติดไว้
หลังการหารือแล้ว นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แถลงแก่ผู้สื่อข่าว ว่า รัฐบาลได้วางไทม์ไลน์เลือกตั้งไว้อย่างไวสุดหรือวันที่ 24 ก.พ. 2562
ถ้าเลือกตั้งวันดังกล่าวไม่ได้ จะเป็นวันที่ 31 มี.ค. 2562 วันที่ 28 เม.ย.2562
และอย่างช้าสุดคือวันที่ 5 พ.ค. 2562
ซึ่งเป็นกำหนดการที่ยังไม่ชัดเจน เพราะการกำหนดวันเลือกตั้งเป็นอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อีกทั้งปัจจัยจะมีการเลือกตั้งได้ ขึ้นอยู่กับความสงบเรียบร้อยในช่วงพระราชพิธีสำคัญ การรอโปรดเกล้าฯ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. อีกทั้งการเปลี่ยนผ่าน กกต.ชุดใหม่ที่จะต้องจัดการเลือกตั้ง แต่ กกต.ชุดเก่า ก็ยังทำหน้าที่ได้เช่นเดิม และต้องให้การเลือกตั้งท้องถิ่นไม่ชนการเลือกตั้งระดับชาติ และเหตุความสงบของบ้านเมืองในเวลานั้น
การปลดล็อกให้พรรคการเมือง จะเกิดขึ้นหลังการหารือในครั้งที่ 2 ที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ภายหลัง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับ ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา
การจัดประชุมพรรคสามารถจัดประชุมพรรคและการประกาศแบ่งเขตเลือกตั้งจะดำเนินการในช่วง 90 วัน ก่อนกฎหมาย ส.ส. ประกาศใช้
การจัดทำไพรมารี่โหวต ทาง กกต. เสนอให้จัดทำเป็นระดับภาคแทนรายจังหวัด โดยมีสาขาพรรค 4 สาขาใน 4 ภาค ซึ่งสามารถส่ง ส.ส. ลงเลือกตั้งได้ทุกเขต แต่ขอให้ผู้สมัครเป็นในพื้นที่ โดยในขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป ขอให้ติดตามต่อจากการประชุมครั้งหน้า
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว ว่า ตนรู้สึกพอใจการพูดคุยในวันนี้ และไม่มีอะไร มีเวลา 3 เดือนให้พรรคการเมืองเตรียมตัวก่อนการเลือกตั้งคิดว่าทัน
นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. ระบุว่า ในที่ประชุมมีพรรคการเมืองเสียงส่วนใหญ่เสนอให้ปลดล็อกการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมือง และงดทำไพรมารีโหวต ส่วนปลดล็อกหรือไม่อยู่ที่ คสช. วันเลือกตั้งทั่วไปยังกำหนดไม่ได้ ต้องขึ้นอยู่กับกฎหมายเลือกตั้ง 2 ฉบับจะโปรดเกล้าฯ เมื่อใดและต้องรอการบังคับใช้อีก 90 วันจากนั้นจะมีการเลือกตั้งใน 150 วัน โดย กกต.เสนอว่าในช่วง 90 วัน จะขอให้ทำการแบ่งเขตเลือกตั้งใน 60 วัน และต้องถามความเห็นพรรคการเมืองรวมทั้งประชาชนตามกฎหมาย ถ้า กฎหมายยังไม่มีผลใช้บังคับ กกต.จะยังไม่สามารถแบ่งเขตเลือกตั้ง และได้ขอให้ คสช. ใช้มาตรา 44 ในช่วง 60 วันเพื่อให้ กกต.แบ่งเขตเลือกตั้งได้ การกำหนดวันเลือกตั้งจะต้องดูที่ 90 วันแรกว่าจะพระราชทานกฎหมายลงมาเมื่อใด หากลงมาเร็วก็ร่นลงมา
ขณะที่ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า นายวิษณุ เครืองาม ได้แจ้งกับพรรคการเมืองที่เข้าร่วมประชุมว่า ปัจจัยที่จะจัดเลือกตั้งได้ขึ้นอยู่ 5 ข้อคือ
- การรักษาความสงบเรียบร้อยในพระราชบรมราชาภิเษก
- การปฏิบัติหน้าที่ของ กกต.ชุดใหม่
- การเลือกตั้งท้องถิ่นก่อน – หลัง การเลือกตั้งทั่วไป
- พระราชทาน กฎหมาย ส.ส. และ ส.ว. ลงมาประกาศใช้
- ความสงบเรียบร้อยทั่วประเทศ
นายวิษณุ ได้ระบุไทม์ไลน์เกี่ยวกับการเลือกตั้ง โดยคาดว่ากฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.จะบังคับใช้ในช่วง ก.ย. – ธ.ค. 2561 จะเป็นช่วงเวลารอการบังคับใช้กฎหมาย ส.ส.ใน 90 วัน โดยจะครบกำหนดวันบังคับใช้ในวันที่ 11 ธ.ค.2561 จากนั้นจะเป็นช่วง 150 วันที่จะต้องจัดการเลือกตั้งโดยจะจัดการเลือกตั้งได้ก่อนวันที่ 9 พ.ค. 2562 ซึ่งเป็นกำหนดวันที่ครบรอบ 150 วัน การเลือกตั้งอย่างเร็วสุดจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 ก.พ. 2562 จะมีเวลาหาเสียง 76 วัน วันที่ 31 มี.ค. 2562 จะมีเวลาหาเสียง 111 วัน วันที่ 28 เม.ย. 2562 จะมีเวลาหาเสียง 139 วัน และ วันที่ 5 พ.ค. 2562 จะมีเวลาหาเสียง 146 วัน
matemnews.com
25 มิถุนายน 2561