Home ข่าวทั่วไปรอบวัน พ.ร.บ.ยุทธศาสต์ชาติมีผลบังคับใช้แล้ว

พ.ร.บ.ยุทธศาสต์ชาติมีผลบังคับใช้แล้ว

887
0
SHARE

 

ราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 31 ก.ค.2560  เผยแพร่พระราชบัญญัติ 2 ฉบับ

  1. พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2560

2.พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2560

 

พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 มาตรา 12 ให้มี “คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ” มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานฯ  ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นรองประธานฯคนที่ 1 ประธานวุฒิสภา เป็นรองประธานฯคนที่ 2 รองนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นรองประธานฯคนที่ 3

กรรมการประกอบด้วย  ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ประธานกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ประธานสภาหอการค้าไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย และประธานสมาคมธนาคารไทย

กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ   ให้คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิด อายุไม่เกิน 70 ปี มีความรู้ เชี่ยวชาญ หรือมีประสบการณ์ด้านการเมือง ความมั่นคง การบริหาราชการแผ่นดิน กฎหมาย เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การศึกษา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และอื่นๆ จำนวนไม่เกิน 17 คน วาระคราวละ 5 ปี

ให้เลขาธิการ  เป็นกรรมการและเลขานุการ ให้รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ที่เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติมอบหมาย เป็นผู้ช่วยเลขานุการ

 

มาตรา 15 ให้คณะกรรมการมีหน้าที่และอำนาจในการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี กำกับดูแลการปฏิรูปประเทศให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ

มาตรา 5 ให้มียุทธศาสตร์ชาติเป็นเป้าหมายในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาล  เพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนต่างๆ ให้สอดคล้องและบูรณาการกัน อันจะก่อให้เกิดเป็นพลังผลักดันร่วมกันไปสู่เป้าหมายดังกล่าว ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งจะต้องไม่น้อยกว่า 20 ปี และหน่วยงานของรัฐทุกหน่วยมีหน้าที่ดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ

การกำหนดนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรีก่อนที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดิน การจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ และแผนอื่นใด รวมทั้งการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และให้เป็นหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีกำกับดูแลและสนับสนุนให้ทุกหน่วยงานดำเนินการ

มาตรา 6 แผนต้องประกอบด้วย วิสัยทัศน์การพัฒนาประเทศ เป้าหมายการพัฒนาประเทศในระยะยาว และยุทธศาสตร์ด้านต่างๆ โดยเป้าหมายการพัฒนาประเทศในระยะยาว อย่างน้อยต้องมีเป้าหมายในด้านความมั่นคง ด้านคุณภาพและความเป็นอยู่ของประชาชน และด้านบทบาทของรัฐที่มีต่อประชาชน

เมื่อคณะกรรมการดำเนินการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติเสร็จแล้ว ให้เสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ หลังจากนั้นต้องส่งให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบภายใน 60 วัน หลังจากนั้นส่งให้วุฒิสภาพิจารณาเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบภายใน 30 วัน หากทั้ง 2 สภาพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลา ให้ถือว่าเห็นชอบ แต่ถ้าไม่เห็นชอบทั้ง 2 สภา ให้ร่างยุทธศาสตร์ชาติตกไป และให้คณะกรรมการดำเนินการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติขึ้นใหม่ภายใน 180 วัน และให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาใน 30 วัน และวุฒิสภาพิจารณาใน 15 วัน หลังจากร่างดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากทั้ง 2 สภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯถวายภายใน 20 วัน เพื่อมีพระบรมราชโองการประกาศใช้เป็นยุทธศาสตร์ชาติ
มาตรา 8 ให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติจัดให้ประชาชนทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมดำเนินการด้วย

มาตรา 11 ให้คณะกรรมการจัดให้มีการทบทวนยุทธศาสตร์ชาติทุก 5 ปี หรือกรณีสถานการณ์ของโลกหรือสถานการณ์ของประเทศเปลี่ยนแปลงไปจนไม่เหมาะสมที่จะดำเนินการตามด้านหนึ่งด้านใดได้ แต่ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อนดำเนินการ

มาตรา 24 เพื่อประโยชน์ในการติดตามผล ให้หน่วยงานของรัฐรายงานผลการดำเนินการดังกล่าวต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติภายในกำหนด

 

มามาตรา 25 กรณีหน่วยงานของรัฐไม่แจ้งต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ   โดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้มีมติส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการกับหัวหน้าหน่วยงานรัฐดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี กรณีมีมูลให้ผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกกล่าวหาพักราชการหรือพักงาน หรือสั่งให้ออกจากราชการหรืองานไว้ก่อน หรือสั่งให้พ้นตำแหน่งต่อไป

 

พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2560

มาตรา 259 ของรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้การปฏิรูปประเทศเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ ที่อย่างน้อยต้องมีวิธีการจัดทำแผนการมีส่วนร่วมของประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขั้นตอนในการดำเนินการปฏิรูปประเทศ การวัดผลการดำเนินการ และระยะเวลาดำเนินการปฏิรูปประเทศทุกด้าน

 

ให้จัดทำแผนการปฏิรูปประเทศในด้าน ดังต่อไปนี้

  1. ด้านการเมือง
  2. ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน
  3. ด้านกฎหมาย
  4. ด้านกระบวนการยุติธรรม
  5. ด้านการศึกษา
  6. ด้านเศรษฐกิจ
  7. ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
  8. ด้านสาธารณสุข
  9. ด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ
  10. ด้านสังคม
  11. ด้านอื่นตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด ที่ประชุมร่วมโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรีจะแยกด้านเป็นเรื่องต่างๆ ก็ได้

ให้มี  “คณะกรรมการปฏิรูปประเทศแต่ละด้าน”  เพื่อทำหน้าที่จัดทำร่างแผนการปฏิรูปประเทศ และปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติมอบหมาย ในกรณีที่มีการแยก ด้านใดออกเป็นเรื่อง

ให้มีคณะกรรมการปฏิรูปประเทศสำหรับเรื่องนั้นเป็นคณะแยกจากกัน ในการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมในส่วนที่เกี่ยวกับการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย และด้านการศึกษาของรัฐธรรมนูญ ให้คณะกรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งขึ้นตามมาตรา 260 หรือมาตรา 261 ของรัฐธรรมนูญ แล้วแต่กรณี เป็นผู้ดำเนินการ

 

การจัดทำร่างแผนการปฏิรูปประเทศตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ที่ประชุมร่วมกำหนด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ทั้งนี้ อย่างน้อยต้องกำหนดเรื่องการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยว รวมทั้งการรับฟังความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะขององค์กรฝ่ายตุลาการมาใช้ประกอบการพิจารณาในการจัดทำร่างแผนการปฏิรูปประเทศ   ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับองค์กรฝ่ายตุลาการด้วย

บทเฉพาะกาล มาตรา 29 ในวาระเริ่มแรก   ให้คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูป ให้แล้วเสร็จภายในสิบห้าวัน    นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ในระหว่างการจัดทำร่างแผนการปฏิรูปประเทศ

 

ในวาระเริ่มแรก หากคณะรัฐมนตรีเห็นสมควรเพื่อประโยชน์ในการเร่งรัดให้การดำเนินการดังกล่าวบรรลุวัตถุประสงค์ และแล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด คณะรัฐมนตรีอาจมีมติให้กรรมการปฏิรูปผู้ใดพ้นจากตำแหน่งได้

มาตรา 31 เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามกำหนดเวลาที่ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ รวมทั้ง ต้องกำหนดผลสัมฤทธิ์ที่คาดหวังว่าจะบรรลุภายในระยะเวลาห้าปีด้วย ทั้งนี้ เว้นแต่รัฐธรรมนูญจะกำหนด ระยะเวลาไว้เป็นอย่างอื่น

 

ในวาระเริ่มแรก การขยายระยะเวลาการดำเนินการจัดทำร่างแผนการปฏิรูปประเทศ ให้คำนึงถึงระยะเวลาตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

มาตรา 32 ให้นำรายงานผลการศึกษาและข้อเสนอแนะที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศ ของ

คณะรักษาความสงบแห่งชาติ

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ

สภาปฏิรูปแห่งชาติ

สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ

คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง กระทรวงกลาโหม

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ที่ได้จัดทำขึ้นก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ มาใช้ประกอบการพิจารณาจัดทำร่างแผนการปฏิรูปประเทศด้วย และให้ถือว่าการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อเสนอแนะในการปฏิรูปประเทศที่องค์กร หรือหน่วยงานของรัฐดังกล่าวได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานของรัฐและประชาชน เป็นส่วนหนึ่งของการรับฟังความคิดเห็นในการจัดทำร่างแผนการปฏิรูปประเทศ

 

บทเฉพาะกาล มาตรา 28 วาระเริ่มแรกให้คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน และให้ถือว่าการรับฟังความคิดเห็นที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2558 ที่ดำเนินการไปก่อนที่ พ.ร.บ.ฉบับนี้ใช้บังคับ ไม่เป็นการตัดอำนาจที่จะดำเนินการให้มีการรับฟังความเห็นเพิ่มเติม

ให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ  จัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติเบื้องต้นให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน นับแต่ที่ได้รับการแต่งตั้ง โดยยึดร่างยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2558 เป็นหลัก หลังจากนั้นให้รับฟังความคิดเห็นให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน ก่อนที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติพิจารณาใน 45 วัน และเสนอต่อคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาภายใน 30 วัน ก่อนเสนอต่อให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (ปฏิบัติหน้าที่แทนรัฐสภา) ภายใน 30 วัน และให้ สนช.ให้ความเห็นชอบภายใน 30 วัน ก่อนที่จะให้นายกรัฐมนตรีทูลเกล้าฯ

กรณี สนช.สิ้นสุดลงก่อนคณะรัฐมนตรีเสนอร่างยุทธศาสตร์ ให้คณะรัฐมนตรีเสนอร่างยุทธศาสตร์ที่เคยให้ความเห็นชอบแล้ว ต่อวุฒิสภาภายใน 30 วัน นับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภา เพื่อให้วุฒิสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน

มาตรา 29 กรณีที่การดำเนินการของหน่วยงานของรัฐไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติหรือแผนแม่บท เป็นผลจากมติคณะรัฐมนตรี หรือการดำเนินการของคณะรัฐมนตรีโดยตรง ให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติแจ้งให้วุฒิสภาทราบ ทั้งนี้ หากวุฒิสภาเห็นว่าเป็นปัญหามติคณะรัฐมนตรีชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ให้เสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยเร็ว หากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่ามติคณะรัฐมนตรีไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณา และมีมติให้เสร็จภายใน 60 วัน โดยให้ฟังข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายตามที่ปรากฏในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ

 

 

คลิกอ่านรายละเอียดในราชกิจจานุเบกษา

พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2560

พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาตร์ชาติ พ.ศ.2560

 

 

Matemnews.com  31 กรกฎาคม 2560