จากการที่ได้มีนักข่าวญี่ปุ่นกับทีวีในสหรัฐอเมริกา ตามไปที่บ้านของสมาชิกหมูป่าอคาเดมี่บางคน และสัมภาษณ์นำไปเผยแพร่ในสื่อประเทศตัวเองเมื่อวันที่ 19 ก.ค.2561 ปรากฏว่าอาจจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายโกของไทย
วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวที่ ปปช.เมื่อวันที่ 20 ก.ค.2561 ว่า
“รู้สึกเป็นห่วงหลังสื่อต่างชาติไปสัมภาษณ์สมาชิกทีมหมูป่าฯ กลัวว่าจะทำให้สื่ออื่นๆทำตาม ทาง กระทรวงพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ และ นายอำเภอต้องเข้าไปดูแล ผมได้โทรศัพท์ ถึงผู้ว่าเชียงรายเมื่อวานนี้ เพื่อกำชับให้ช่วยดูแลเรื่องนี้เป็นพิเศษ เพราะแม้สื่อไทยจะอยู่ในระเบียบ แต่สื่อต่างชาติกลับไม่ทราบว่ามีข้อห้ามหรือเตือนอะไรบ้าง เขาอาจไม่รู้พิษสงของการกฎหมายคุ้มครองเด็ก เดี๋ยวจะเกิดปัญหา แม้จะไม่ได้ตั้งใจก็ตาม แต่ถ้าผิด ก็สามารถดำเนินคดีกับต่างชาติได้”
เฟชบุ้คชื่อบัญชี ธวัชชัย ไทยเขียว โพสต์เผยแพร่ 20 ก.ค.2561 ความว่า
สื่อต่างประเทศปฎิบัติต่อเด็กและเยาวชนผู้ประสบภัยต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ควรจะเป็นเป็นเรื่องที่น่าเสียใจและไม่ควรให้อภัย
กระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็กและเยาวชนเหตุผลที่ต้องใช้วิธีการพิจารณาสืบพยานเด็ก โดยให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์เป็นผู้แปลคำถามในระหว่างชั้นสอบถามปากคำในกระบวนการก่อนพิจารณาพิพากษาของศาลและให้มีการบันทึกแถบเสียงและภาพไว้ด้วยนั้น ก็มุ่งเพื่อที่จะไม่ให้ มีการสอบปากคำซ้ำในกระบวนการยุติธรรมชั้นถัดไป โดยมีจุดมุ่งสำคัญเพื่อมิให้เปิดบาดแผลที่อยู่ในตะกอนใจของเด็กและเยาวชน เนื่องจากอยู่ในวัยที่เปราะบางและต้องได้รับการปกป้องรักษา รวมถึงในระหว่างสอบปากคำเด็กและเยาวชนยังได้บัญญัติให้เด็กสามารถร้องขอมีบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลที่เด็กไว้ใจร่วมนั่งเป็นเพื่อนได้อยู่ด้วย เพื่อให้เด็กรู้สึกอบอุ่นและมีความปลอดภัย
กระบวนการสอบถามหรือสัมภาษณ์ของสื่อมวลชนหรือบุคคลอื่นใดกับเด็กที่ประสบภัยพิบัติที่ผ่านประสบการณ์ที่ตกอยู่ในภาวะทุกข์ยากตื่นกลัวสุดขีดนั้น แม้ไม่มีกระบวนการหรือกฎหมายกำหนดไว้ชัดเจนเฉกเช่นเดียวกับเด็กหรือเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมก็ตาม แต่ก็ควรจะเทียบเคียงเอาวิธีกระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็กและเยาวชนไปใช้ได้เท่าที่จำเป็น
ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยก็สามารถดำเนินการได้เป็นอย่างดีและน่าชมเชยเป็นอย่างยิ่ง
แต่น่าเสียดายที่สื่อต่างประเทศที่เราคิดและเข้าใจว่าเป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก และกระบวนการปกป้องเด็กและเยาวชนเป็นอย่างดีแล้ว กลับมีมาตรฐานต่ำกว่าที่คิด เสมือนขาดสามัญสำนึกซึ่งมนุษย์ธรรมดาธรรมดาพึงระลึกได้ รวมขาดความรับผิดชอบได้เช่นนี้ ทั้งที่รู้ว่าประเทศไทยได้วางระบบการปกป้องดูแลและคุ้มครองเด็กผู้ประสบภัยกลุ่มนี้ไว้อย่างไร
สื่อไทยโวยสื่อนอก เอารังนกมาล่อ-เข้าถึงตัวหมูป่า ทั้งๆ ที่ทางการสั่งห้าม
น.ส.อณิรา ธินนท์ ผอ.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จ.เชียงราย แถลงแก่ผู้สื่อข่าวในบ่ายวันเดียวกัน ว่า ขณะนี้ทางจังหวัดเชียงรายกำลังสอบสวนและติดตามเรื่องนี้อยู่ ว่าข้อความหรือภาพที่ออกสื่อนำความเสียหาย หรือนำไปแสวงหาประโยชน์ในทางใดบ้าง หากว่าพบมีการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.การแสวงหาผลประโยชน์ จะมีโทษจำคุก 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ ขณะนี้ นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผวจ.เชียงราย ได้ขอความร่วมมือและขอร้อง สื่อมวลชนทุกแขนง อย่าได้ละเมิดคำสั่ง คำขอร้อง หรือไปรบกวนเข้าสัมภาษณ์เด็กหมูป่าออกสื่อ ในระยะนี้ต้องช่วยกันให้เด็กเข้าที่เข้าทาง ได้เรียนหนังสือให้ทันเพื่อน และให้ผู้ปกครองเด็กได้ทำมาหากินได้สะดวก เจ้าหน้าที่ พม.ไม่สามารถเฝ้าเด็กได้ตลอด 24 ชม. ได้แต่ขอร้องทุกฝ่ายให้ทำตามกติกา ระยะแรก ๆ นี้ขออย่าได้ติดตามทำข่าวเด็กและผู้ปกครอง ขณะนี้ นอภ.แม่สาย ได้เรียกประชุมกำนัน และผู้ใหญ่ ให้มาช่วยดูแลในพื้นที่ที่เด็กอยู่แล้ว ส่วนเรื่องการถ่ายทำภาพยนตร์และสารคดีนั้น ต้องรอนโยบายเบื้องบนจะสั่งการมาเท่านั้น
matemnews.com
20 กรกฎาคม 2561