Home ข่าวทั่วไปรอบวัน พลเอกประยุทธ์ทำกิจกรรมและประชุม ครม.อุบลราชธานี

พลเอกประยุทธ์ทำกิจกรรมและประชุม ครม.อุบลราชธานี

505
0
SHARE

 

 

 

เว็บไซต์รัฐบาลไทย รายงาน

 

วันนี้ (24 ก.ค.61) เวลา 07.40 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางมายังอาคารเทพรัตนสิริปภา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ตำบลเมืองศรีไค อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อเป็นประธานการประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 (ราชธานีเจริญศรีโสธร : อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ และยโสธร) และเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 5/2561 ณ ห้องบอลรูม เอบี ชั้น 2 อาคารเทพรัตนสิริปภา โดยก่อนการประชุมฯ นายกรัฐมนตรี ได้พบปะกับนักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่มาให้การต้อนรับอย่างเป็นกันเองและอบอุ่น

พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการแสดงผลงานของนักศึกษาและมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ประกอบด้วย 1) โครงการวิจัยพัฒนาจิ้งหรีดเพื่อเป็นอาหารแห่งอนาคตแบบครบวงจร โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาให้จิ้งหรีดเป็นสัตว์เศรษฐกิจใหม่ของภูมิภาค และเกษตรกรสามารถเพาะเลี้ยงจำหน่ายเป็นอาชีพหลักได้ ซึ่งขณะนี้ได้มีการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จากจิ้งหรีด 2 รูปแบบ คือ ชนิดผงพร้อมชง กับชนิดก้อนแบบคริกเก็ตคิ้ว ซึ่งสามารถรับประทานได้ง่ายและสะดวก โดยในอนาคตจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ชนิดผงพร้อมชงให้มีกลิ่นที่ดียิ่งขึ้น
2) ผักเกษตรอินทรีย์ จากศูนย์การเรียนรู้เกษตรอินทรีย์เมืองศรีไค เป็นการรวมกลุ่มของประชาชนในชุมชนปลูกผักอินทรีย์ในโรงเรือนแบบยกโต๊ะ  ซึ่งการปลูกผักดังกล่าวนอกจากปลอดสารพิษแล้วยังป้องกันเชื้อราในดิน ทำให้ได้ผลผลิตที่ดีมีคุณภาพปลอดภัยต่อผู้บริโภค

3) ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวเม่า เช่น ข้าวเม่าแปรรูปบรรจุถุงสำหรับหุงและรับประทานได้ทันที ก๋วยจั๊บญวนจากข้าวเม่า ผลิตภัณฑ์ผงข้าวเม่าพร้อมชง ฯลฯ

4) คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลฯ นำเสนอผลงานวิจัยเกี่ยวกับการแปรรูปพืชสมุนไพรที่ดำเนินการร่วมกับศูนย์แพทย์แผนไทยพนา ทั้งผลิตภัณฑ์ยา อาหารเสริม และเครื่องสำอาง เช่น ผลิตภัณฑ์สมุนไพรจากขมิ้น ฟ้าทะลายโจร ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางเซรั่มจากสมุนไพร สครับมะขาม อาหารเสริมเห็ดนางรม (แบบเม็ด) มีสรรพคุณบำรุงร่างกาย ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดสำหรับผู้มีอาการเป็นโรคเก๊า และเจลพริก บรรเทาอาการปวด ขณะนี้ผลิตภัณฑ์เห็ดนางรมและเจลพริก อยู่ระหว่างดำเนินการในเรื่องการจดสิทธิบัตรจาก อย. คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้เรียบร้อยในเร็ว ๆ นี้และพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับจำหน่ายให้ผู้บริโภคต่อไป

5) ผลิตภัณฑ์ต้นแบบผ้าจากเปลือกไหม ผลงานของนายกฤษดา รัตนางกูร คณะศิลปประยุกต์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งเป็นการนำเปลือกไหมที่ดึงทิ้งมาพัฒนาต่อยอดทอเป็นผลิตภัณฑ์ผ้าเปลือกไหมที่สวยงาม ซึ่งเป็นการพัฒนาต่อยอดสู่ความยั่งยืนในการสร้างตราสินค้าให้กับชุมชน
6) ทีมหุ่นยนต์ กันเกรา (นักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลฯ) ซึ่งเป็นทีมชนะเลิศการแข่งขันหุ่นยนต์ ABU แห่งประเทศไทย ประจำปี 2561 (แชมป์ ABU Robocon 2018 Thailand) และเป็นตัวแทนประเทศไทยไปเข้าร่วมแข่งขัน ABU Robocon 2018  ณ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามในวันที่ 24 – 28 สิงหาคม 2561

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวชื่นชมการดำเนินงานต่าง ๆ ดังกล่าว พร้อมย้ำการลดต้นทุนการผลิตในเรื่องของการทำเกษตรอินทรีย์เพื่อให้ได้ผลผลิตและราคาที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งแนะนำให้นักศึกษาเรียนในสาขาที่สอดคล้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ และการพัฒนาประเทศในอนาคต และมีการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องให้ทันกับสถานการณ์และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ขณะเดียวกันได้ให้กำลังใจกับทีมหุ่นยนต์กันเกรา (นักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลฯ) ซึ่งเป็นตัวประเทศไทยไปเข้าร่วมแข่งขัน ABU Robocon 2018 ณ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ขอให้ทุกคนตั้งใจมั่น ทำหน้าที่ตนเองอย่างเต็มที่แม้ผลที่ออกมาจะเป็นอย่างไรก็ตาม และให้นำผลที่ได้มาพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นต่อไปอีก และขอให้ทุกคนประสบความสำเร็จ

 

วันนี้ (24 กรกฎาคม 2561) เวลา 08.40 น. ณ ห้องประชุมมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 (อุบลราชธานี ยโสธร ศรีษะเกษ อำนาจเจริญ) โดยมีคณะรัฐมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนภาคเอกชน ผู้แทนภาคการเกษตรกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 เข้าร่วมประชุม

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวก่อนการประชุมว่า การประชุม ครม.นอกสถานที่ มีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามความก้าวหน้าโครงการต่าง ๆ ที่ได้มีการสั่งการไปแล้ว รวมถึงเพื่อติดตามรับฟังปัญหาจากประชาชน เพื่อให้ได้ข้อมูลนำไปแก้ไขปัญหาให้ตรงตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่ โดยรัฐบาลให้ความสำคัญกับกลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 โดยเฉพาะเรื่องความเป็นอยู่ ซึ่งอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าภูมิภาคอื่น ๆ จึงต้องการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่รับฟังปัญหาจากส่วนราชการและประชาชนในพื้นที่พบว่ามีแต่ปัญหาเดิม ๆ โดยกลุ่มจังหวัดฯ เป็นกลุ่มจังหวัดที่มีศักยภาพ แต่ยังไม่สามารถใช้ได้อย่างเต็มที่ จึงต้องร่วมมือกันพัฒนา เพิ่มศักยภาพ เพิ่มโอกาส สร้างความเท่าเทียม ไปสู่กลุ่มจังหวัดที่มีการพัฒนาในด้านต่าง ๆ อย่างเชื่อมโยง เพื่อเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนในกลุ่มจังหวัด

สำหรับข้อเสนอการประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 ประกอบด้วย 1. ด้านการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ แบ่งออกเป็นดังนี้ 1.1 โครงข่ายคมนาคมทางถนน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการค้า การลงทุน การค้าชายแดนของกลุ่มจังหวัดฯ โดยขยายเป็น 4 ช่องจราจรตลอดสาย จัดทำเกาะกลางถนน และศึกษาออกแบบเส้นทางสำคัญเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ จำนวน 12 เส้นทาง  ด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมชี้แจงว่า โครงข่ายคมนาคมทางถนน จำนวน 12 เส้นทางที่กลุ่มจังหวัดเสนอ บางโครงการอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการและมีงบประมาณแล้ว บางโครงการจะได้เร่งศึกษาความเป็นไปได้ต่อไป ด้านนายกรัฐมนตรีกล่าวเพิ่มเติมว่าโครงการที่ได้ดำเนินการไป ต้องสร้างการรับรู้สร้างความเข้าใจต่อประชาชนและสื่อมวลชนให้รับทราบความก้าวหน้าการดำเนินโครงการ ส่วนการขยายถนนขอให้คำถึงผลประโยชน์ที่ส่วนรวมจะได้รับเป็นหลัก ในเรื่องของการสร้างเกาะกลางถนน นายกรัฐมนตรีได้เสนอให้ใช้แบริเออร์แทนการสร้างเกาะกลางถนน เพื่อความรวดเร็วในการดำเนินการ และเพื่อประหยัดพื้นที่ถนน

1.2 โครงข่ายคมนาคมทางอากาศ ขอขยายอาคารสนามบินนานาชาติอุบลราชธานี เพื่อรองรับการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ การลงทุน และเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาคอินโดจีน โดยให้เร่งรัดดำเนินการให้เร็วขึ้นจากแผนที่กำหนดไว้เดิมในปี 2565 ประกอบด้วย ขอเพิ่มลานจอดเครื่องบินเพื่อรองรับเที่ยวบินเพิ่มขึ้น และสะพานเทียบพร้อมส่วนต่อเติม รวมถึงอาคารจอดรถยนต์ และปรับปรุงต่อเติมร้านค้า พร้อมขอให้ปรับปรุงและต่อเติมอาคารที่พักผู้โดยสาร จุดตรวจค้นรถยนต์และจุดตรวจค้นบุคคล โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมกล่าวชี้แจงว่า การขอขยายอาคารสนามบินอุบลราชธานีบางส่วนได้ดำเนินการแล้ว ในส่วนการจัดทำอาคารผู้โดยสารใหม่จะเริ่มดำเนินการในปีงบประมาณ 2565 ส่วนการปรับปรุงอาคารจอดรถจะดำเนินการในปีงบประมาณ 2563 สำหรับการเร่งรัดศึกษาสนามบินมุกดาหารและสนามบินเลิงนกทานั้น จะเร่งดำเนินการศึกษาและนำผลมาพิจารณาความเป็นไปได้เสนอให้รัฐบาลพิจารณาต่อไป

1.3 โครงข่ายคมนาคมทางราง ขอให้เร่งรัดศึกษาโครงการรถไฟทางคู่วารินชำราบ – ช่องเม็ก จังหวัดอุบลราชธานี และเร่งรัดศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการรถไฟจากสถานีวารินชำราบ – อำนาจเจริญ – เลิงนกทา เชื่อมโครงการรถไฟทางคู่ “บ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม” เพื่อส่งเสริมการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวทางด้านตะวันออกของภาคอีสานกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมกล่าวชี้แจงว่า ได้ดำเนินการศึกษาและบรรจุอยู่ในแผนการดำเนินการแล้ว

2. ด้านการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร และแก้ไขปัญหาอุทกภัย ขอรับสนับสนุนโครงการการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร จำนวน 40 โครงการ และการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัย จำนวน 5 โครงการ  เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติกล่าวชี้แจงว่า โครงการต่าง ๆ ที่กลุ่มจังหวัดเสนอสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์น้ำ และอยู่ในกลุ่มเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ในแผนแล้ว

3. ด้านการยกระดับการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร เพื่อยกระดับการผลิตและการแปรรูปผลผลิตด้านเกษตรไปสู่การเป็น Smart Farmer จึงขอรับการสนับสนุนโครงการจำนวน 3 โครงการ ดังนี้ 3.1 โครงการก่อสร้างโรงงานต้นแบบด้านการแปรรูปสินค้าเกษตร  นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้สำนักงบประมาณพิจารณาเรื่องงบประมาณในการทำโครงการก่อสร้างโรงงานต้นแบบ โดยเฉพาะโรงงานด้านการแปรรูปเนื้อสัตว์ ส่วนด้านเครื่องดื่มและเครื่องสำอาง มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการเป็นเจ้าภาพร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงวิทยาศาสตร์ศึกษาความเป็นไปได้ เน้นผลประโยชน์และความคุ้มค่าเป็นหลัก 3.2 โครงการยกระดับกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 ให้เป็นกลุ่มคลัสเตอร์ต้นแบบด้านเกษตรอินทรีย์ นายกรัฐมนตรีสั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและส่วนราชการกำหนดพื้นที่ทำการเกษตรอินทรีย์ให้ชัดเจน กำหนดกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจนว่ามีพื้นที่ทำการเกษตรอินทรีย์เท่าไร และจะขยายไปอีกจำนวนเท่าไร เน้นการทำการเกษตรอินทรีย์แบบปลอดสารพิษให้ได้จริง

4. ด้านคุณภาพชีวิต ขอรับการสนับสนุน ดังนี้ 4.1 โครงการเพิ่มศักยภาพให้บริการของโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ 4.2 ขอรับการสนับสนุนและยกระดับศูนย์การแพทย์แผนไทย-พนา เป็นศูนย์การแพทย์ครบวงจรบริการคลินิกแพทย์แผนไทยเพื่อส่งเสริมสุขภาพ รักษา และฟื้นฟู ผลิต จำหน่ายยาสมุนไพรที่มีคุณภาพเน้นการใช้สมุนไพรคุณภาพดีในท้องถิ่น ยกระดับเป็นศูนย์ศึกษาพัฒนาคุณภาพด้านการแพทย์แผนไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ 4.3 ขอรับการสนับสนุนครุภัณฑ์ทางการแพทย์ สำหรับการพัฒนาศักยภาพโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเดชอุดม  นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขรับหลักการไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง และนำเสนอให้รัฐบาลพิจารณาต่อไป

5. ด้านการท่องเที่ยว กลุ่มจังหวัดมีแหล่งท่องเที่ยววัฒนธรรมขอมโบราณ แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร สถานที่สำคัญทางศาสนา รวมถึงวัฒนธรรมชนเผ่าในพื้นที่หลากหลาย แต่สภาพเส้นทางคมนาคมติดต่อบางช่วงยังเป็น 2 ช่องจราจรและไม่มีเกาะกลางถนน เป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุแก่นักท่องเที่ยว จึงขอรับการสนับสนุนโครงข่ายคมนาคมรองรับการท่องเที่ยว และการพัฒนาศักยภาพแหล่งท่องเที่ยว นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการ

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ขอให้จัดลำดับความสำคัญและความเร่งด่วนของแผนงาน อะไรที่สามารถดำเนินการได้ขอให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาไปก่อน อย่ารอให้รัฐบาลช่วยเหลือฝ่ายเดียว พร้อมกล่าวย้ำว่าในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประชาชนขอให้เร่งดำเนินการ เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนที่จะได้รับ โดยรัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว พร้อมให้การสนับสนุน ในส่วนเรื่องการสนับสนุนงบประมาณจะสนับสนุนโครงการที่มีความเชื่อมโยงในกลุ่มจังหวัดเป็นหลัก เพื่อให้เกิดการใช้จ่ายงบประมาณแบบบูรณาการ โดยจะไม่เน้นสนับสนุนงบประมาณเพื่อหวังผลทางการเมืองให้แต่ละจังหวัดตามที่ได้มีการนำเสนอข่าวในสื่อต่าง ๆ

 

วันนี้ (24 ก.ค.61) เวลา 13.15 น. มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ตำบลเมืองศรีไค อำเภอวารินชำราบ จังอุบลราชธานี ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 5/2561 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงการเตรียมการจัดงานเลี้ยงขอบคุณทุกฝ่ายที่ให้การช่วยเหลือนำ 13 เยาวชนทีมหมูป่า อะคาเดมี ออกจากถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อำเภอแม่สาย จังหวัดชียงรายว่า นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานพระราชานุญาตให้รัฐบาลใช้พระลานพระราชวังดุสิตเป็นสถานที่จัดงาน การจัดงานเลี้ยงขอบคุณทุกฝ่าย และพระราชอาหารเลี้ยงผู้ร่วมงาน ในวันที่ 1 สิงหาคม 2561 ภายใต้ชื่องาน “รวมใจเป็นหนึ่งเดียว” “United as One”  โดยขณะนี้อยู่ระหว่างประสานงานกับคณะทำงานและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกส่วน ทั้งนี้ การที่ทุกภาคส่วนของประเทศได้เข้าไปช่วยเหลือทีมหมูป่านั้น หลายประเทศชื่นชมประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง ต่างประเทศต่างกล่าวว่าไม่มีการช่วยเหลือประชาชนใดในโลกที่มีความสำเร็จเท่าประเทศไทยในวันนี้  ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการบรูณาการร่วมกันของทุกภาคส่วน ตั้งแต่พระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ลงมาจนถึงประชาชน การบริหารจัดการของทุกหน่วยที่เกี่ยวข้อง ความร่วมมือของพลเรือน ตำรวจ ทหาร ภาคเอกชน ความตลอดจนร่วมมือจากต่างประเทศ

 

อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญที่ต้องการให้ทุกคนตระหนักคือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความผิดของใคร เพราะเป็นเรื่องที่ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดขึ้นและเป็นเรื่องทางธรรมชาติ ขณะที่เด็ก ๆ เองก็บริสุทธิ์ใจ แต่เหตุที่เกิดขึ้นนำไปสู่การแก้ปัญหา ซึ่งการแก้ปัญหาต้องทำหลายเรื่องพร้อมกัน ทั้งการบูรณาการหน่วยงาน การจัดตั้งศูนย์บรรเทาสาธารณภัยแก้ปัญหา การจัดชุดช่วยเหลือ รวมถึงการซักซ้อมการทำงานอยู่ตลอดเวลา พร้อมขอความร่วมมือสื่อมวลชนขอให้ระมัดระวังในการไปพูดคุยหรือสัมภาษณ์เด็กและผู้ปกครอง เพราะอาจจะมีปัญหาในอนาคต  ขณะที่ในฐานะรัฐบาลก็ต้องมีมาตรการที่เหมาะสมในการที่จะแก้ปัญหาดังกล่าว ซึ่งสิ่งที่แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นครั้งนี้สำเร็จคือความร่วมมือและการบูรณาการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน รวมไปถึงขวัญกำลังใจ การฝึกซ้อมความพร้อมของหน่วยงานราชการทุกหน่วย สำคัญที่สุดคือข้อมูลที่เป็นไปตามข้อเท็จจริง และการตัดสินใจบนข้อมูลที่ถูกต้องภายใต้เวลาที่ถูกต้อง เพราะหากตัดสินใจผิดก็ไม่ประสบความสำเร็จเช่นนี้

 

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มีสิ่งที่เสียใจอย่างเดียวคือการเสียชีวิตของ นาวาตรี สมาน กุนัน ที่ได้เสียสละชีวิตและเป็นวีระบุรุษของพวกเราไปแล้ว ซึ่งเชื่อว่านาวาตรี สมานฯ คงจะกำลังมองว่าสิ่งที่เสียสละไปได้เกิดประโยชน์และคุณค่าอะไรกับประเทศไทย จึงขอฝากสิ่งเหล่านี้ไว้กับทุกคนด้วยไม่ว่าต่อไปจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม รวมไปถึงฝากถึงผู้ปกครองและเด็ก ๆ ด้วยไม่มีใครโทษใครทั้งสิ้น เป็นเรื่องของการสร้างเสริมประสบการณ์ของพวกเราในเรื่องของการแก้ปัญหาภัยพิบัติของพวกเรา

 

นายกรัฐมนตรีแนะให้ทำประเทศไทยเป็นสถานที่พักผ่อนและฟื้นฟูสุขภาพ

นายกรัฐมนตรีแนะให้นำศักยภาพการท่องเที่ยวของประเทศไทยเป็นสถานที่พักผ่อนและฟื้นฟูสุขภาพ ดึงนักท่องเที่ยวอยู่ในประเทศให้นานขึ้น สร้างรายได้และอาชีพในพื้นที่

 

วันนี้ (24 ก.ค.61) เวลา 13.15 น. มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ตำบลเมืองศรีไค อำเภอวารินชำราบ จังอุบลราชธานี ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 5/2561 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงความกังวลในเรื่องของการพัฒนาการทางร่างกายของเด็กแรกเกิดและก่อนวัยเรียนว่า จากสถิติและการประเมินตัวชี้วัดในเรื่องดังกล่าวค่อนต่ำกว่าที่กำหนดทั้งเรื่องการพัฒนาการทางสมองที่มีการทดสอบไอคิว และขีดความสามารถในการเรียนในระดับพื้นฐานค่อนต่ำ ซึ่งเรื่องนี้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องแก้ไขจากข้อมูลข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ที่ปรากฏออกมา รวมไปถึงการดูแลในเรื่องของการขาดสารไอโอดีนให้เพียงพอ โดยในส่วนของมหาวิทยาลัยอุบลฯ ได้มีการคิดค้นวิจัยในเรื่องของการเสริมโปรตีนด้วยจิ้งหรีดและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากจิ้งหรีดซึ่งจากการศึกษาวิจัยดังกล่าวพบว่าจิ้งหรีดมีโปรตีนสูง อย่างไรก็ตามการดำเนินการดังกล่าวไม่ใช่มุ่งเพียงเฉพาะที่จะขายสิ้นค้าและผลิตภัณฑ์เท่านั้น แต่ต้องเป็นการตระหนักถึงการที่จะผลิตผลิตภัณฑ์ออกมาให้ผู้บริโภคได้รับประทานในสิ่งที่เป็นประโยชน์ และอยากให้มีการส่งเสริมให้ประชาชนและเกษตรกรสามารถที่จะเลี้ยงไว้บริโภคเองในครัวเรือนได้ด้วยและเป็นการเลี้ยงแบบอินทรีย์ เพื่อให้คนในครอบครัวไม่ขาดสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายโดยเฉพาะเรื่องของโปรตีน

 

นายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิต การพัฒนาการเกษตรและการเพิ่มรายได้ให้มากขึ้นว่า ต้องฝากความหวังไว้ที่สถาบันการศึกษาต่าง ๆ และโรงเรียนจำนวน 2,000 กว่าโรงเรียนใน 4 จังหวัด(อุบลราชธานี อานาจเจริญ ศรีสะเกษ และยโสธร) ให้ความรู้กับประชาชนเพื่อเรียนรู้ที่จะช่วยเหลือตัวเองได้ในเบื้องต้นทั้งเรื่องของปัญหาการขาดแคลนนำ้ นำ้ท่วม หรือการชำรุดของอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ซึ่งได้สั่งการเรื่องดังกล่าวกับกระทรวงมหาดไทยเรียบร้อยแล้ว โดยเฉพาะขอให้ท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็นนายกเทศมนตรี นายก อบต. นายก อบจ. ให้ช่วยกันรวบรวมจิตอาสามาช่วยดูแลในส่วนที่มีปัญหาโดยเฉพาะเรื่องของน้ำท่วมหรืออุทกภัยเบื้องต้นก่อนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนไม่ให้ส่งผลกระทบและเสียหายเกินกว่าจะแก้ไข จึงอยากให้ทุกคนช่วยกันและผู้ว่าราชการจังหวัดต้องไปบูรณาการในเรื่องนี้

 

ทั้งนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าท้องถิ่นต่าง ๆ ทั้งหมดต้องมาดูแลประชาชนและพื้นที่รับผิดชอบของตนเองโดยไม่ต้องรอให้หน่วยงานส่วนกลางมาแก้ไขให้หรือรองบประมาณเท่านั้น เพราะบางเรื่องสามารถแก้ไขปัญหาได้ทันทีในเบื้องต้นก่อน จึงเรียกว่าเป็นการกระจายอำนาจและความรับผิดชอบ โดยต้องเตรียมความพร้อมทุกอย่างในพื้นที่ของตนเองให้พร้อมรับทุกสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น

 

ส่วนด้านการท่องเที่ยวนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ประเทศไทยมีศักยภาพในเรื่องนี้มาก โดยเฉพาะภาคอีสานถือเป็นดินแดนแห่งอาหาร ป่า และวัฒนธรรม ซึ่งตรงนี้ไปคิดหาแนวทางในการที่จะทำให้มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการมุ่งเน้นในเรื่องการท่องเที่ยวเมืองหลักและเมืองรอง รวมถึงการท่องเที่ยวชุมชนให้มีความสอดคล้องเชื่อมโยงกัน รวมทั้งต้องทำให้ประเทศไทยเป็นพื้นที่แห่งการพักผ่อนและฟื้นฟูเพื่อรักษาสุขภาพ โดยเป็นการสนับสนุนส่งเสริมให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศมาท่องเที่ยวและพักผ่อนอยู่ในประเทศไทยให้นานขึ้น ประมาณ 15 – 30 วัน ในพื้นที่ที่มีที่ธรรมชาติและที่พักที่สะดวกสบายในราคาที่เหมาะสม รับประทานอาหารที่เป็นอาหารอินทรีย์ ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้และอาชีพให้กับคนในพื้นที่มากขึ้น

 

นายกรัฐมนตรี ยืนยันการเดินทางลงพื้นที่ครั้งนี้ไม่ได้มารับข้อเสนอของบุคคลใด แต่มารับฟังประชาชน เพราะการสื่อสารสองทางเป็นสิ่งสำคัญ รวมไปถึงการมีแผนที่จะขยายอาคารสนามบินนานาชาติอุบลราชธานี เพื่อรองรับการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ และการเร่งรัดศึกษาความเป็นไปได้สนามบินมุกดาหารและสนามบินเลิงนกทา ทั้งนี้โครงการทั้งหมดเป็นโครงการที่ใช้งบประมาณจำนวนมากแต่เป็นโครงการที่อยู่ในแผนงานอยู่แล้ว ซึ่งการใช้งบฯ ในเรื่องดังกล่าวต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.การใช้งบประมาณที่ต้องเป็นไปอย่างเหมาะสม จึงขอความร่วมมือทุกฝ่ายช่วยกันลดภาระค่าใช้จ่ายในกรณีที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้และมูลค่าให้น้อยลงให้มากที่สุด เพื่อนำเงินมาเพิ่มในส่วนของในเรื่องดังกล่าว จะทำให้ทุกคนมีโอกาสที่เท่าเทียมกัน

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

 

matemnews.com 

24 กรกฎาคม2561