ตามที่ผู้ประกอบเรือประมง 22 จังหวัดติดทะเลของไทยประชุมกัน และยื่นหนังสือให้รัฐบาลช่วยเหลือด้วยการยินยอมให้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายทำงานได้ตามกฎเกณฑ์ เนื่องจากแรงงานประมงหายาก ให้เวลา 7 วันหากรัฐบาลนิ่งเฉยจะหยุดจับปลาทั้งประเทศ ต่อมาบ่ายวันที่ 31 ก.ค.2561 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงประเด็นนี้ในการแถลงข่าวหลังประชุมครม.ที่ทำเนียบรัฐบาล ว่า
“ เรื่องตัวแทนสมาคมประมง ผมไม่อยากให้ใช้คำถามของสื่อถามมา ที่บอกขู่จะหยุดทำการประมงเพื่อประท้วงรัฐบาล และจะยื่นถวายฎีกา ผมว่า ไม่ต้องไปขยายความ เขาขู่รัฐบาลไม่ได้อยู่แล้ว เพราะรัฐบาลมีหน้าที่ในการกำกับดูแล ในการบริหารต่างๆให้เป็นไปตามกฎหมาย ตามกระบวนการ แต่อย่างไรก็ตามรัฐบาล ก็ฟังความต้องการ ต้องทำความเข้าใจกันว่า อะไรทำได้อะไรทำไม่ได้ สิ่งที่เขาเสนอขึ้นมาว่า วันที่ 1 ส.ค.จะยื่นหนังสือร้องเรียนและ 7 วัน ขอคำตอบ ผมก็รับเรื่องนี้ไว้และนำสู่การพิจารณา ประเด็นปัญหาตอนนี้กำลังพิจารณาดำเนินการอยู่ โดยกรมประมงกำลังดูเรื่องการซื้อเรือคืน ในเรื่องการขาดแคลนแรงงานประมงเป็นสิ่งที่ยาก เพราะเท่าที่จดทะเบียนไป คนที่จะมาเป็นแรงงานในเรือประมงหายากมาก ส่วนใหญ่ไม่ถนัดและไม่ชอบงานหนัก รัฐบาลโดยกระทรวงแรงงานผมได้ให้นโยบายไปแล้วว่า จะทำอย่างไรในการจัดหาแรงงานประมง ที่ส่วนใหญ่เป็นแรงงานประมงเรือทั้งในน่านน้ำและนอกน่านน้ำ ต้องไปดูว่า ใช้แรงงานต่างด้าวและแรงงานต่างประเทศจะควบคุมกันได้อย่างไร ต้องขอเวลา ให้เวลารัฐบาลบ้าง ที่ผ่านมาเราอาจจะไม่ได้ดูแลในเรื่องเหล่านี้มากนัก ก็ทำให้เกิดปัญหาเรื่องการติดตามดูแลเรื่องการค้ามนุษย์ เรื่องสวัสดิการแรงงาน เราต้องดูแลสวัสดิการของแรงงานทุกคนที่ทำงานในประเทศไทยด้วย ไม่ใช่ใครจ้างมาก็ได้ เสร็จแล้วภาระก็ตกอยู่ที่รัฐบาลหลายๆเรื่อง ทั้งเรื่องครอบครัว การรักษาพยาบาล การศึกษา เราต้องรับผิดชอบเขาด้วยทั้งหมด เพราะฉะนั้นต้องร่วมมือกันทั้งฝ่ายรัฐ เอกชน ธุรกิจ วันนี้ผมก็ส่งเสริมหารือกับหลายประเทศในการร่วมทำการประมงนอกน่านน้ำ ขณะเดียวกันต้องไปหาการแก้ปัญหาแรงงานประมงด้วย ในส่วนปัญหาวันนี้ที่เขาพูดมา คือการขาดแรงงาน การซื้อเรือคืน รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ ศูนย์บัญชาการแก้ไขการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) คณะทำงานเรื่องไอยูยูกำลังพิจารณาเรื่องนี้เป็นการด่วน เรื่องการแจ้งเรือเข้า-ออกวันนี้ ก็ยังมีปัญหาอยู่ว่า ทำยังไม่ค่อยเหมือนกัน มาตรฐานก็เกิดความไม่เข้าใจซึ่งกันและกัน ก็ให้ ศปมผ.เร่งดำเนินการให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ส่วนเรื่องการผลักดันไทยเข้าภาคีตรงนี้กำลังพิจารณา เราต้องเน้นว่า จะดูแลภาคประมงและแรงงานได้อย่างไร ผมพูดทั้งหมด ต้องดูแลทั้งต้นทาง กลางทาง และปลายทางด้วย ไม่ใช่ได้แรงงานเข้ามาแต่มีปัญหาเรื่องความมั่นคงตามมา มีปัญหาเรื่องการดูแลสิทธิประโยชน์ ขณะเดียวกันต้องดูเรื่องค้ามนุษย์หรือการลักลอบนำแรงงานเข้ามาในประเทศ ที่วันนี้จดทะเบียนแรงงานได้กว่าล้านคน ซึ่งไม่เคยทำได้มาโดยตลอด แต่วันนี้ทำมาแล้ว แน่นอนว่า ต้องมีผลกระทบทั้งสิ้น รัฐบาลไม่ได้จะทำไปเอาใจใครโดยไม่นึกถึงคนไทย มันต้องนึกถึงคนไทยอยู่แล้ว ผมถึงบอกว่า การจะทำอะไรก็ตามต้องคำนึงถึงกฎหมายของเราเอง และกฎหมายระหว่างประเทศด้วย เพราะตลาดเราอยู่ต่างประเทศ ถ้าตลาดไม่ได้อยู่ต่างประเทศ ก็ไม่ได้สนใจใครทั้งสิ้น จะทำอะไรก็ทำได้ ต้องเข้าใจตรงนี้ ไม่อย่างนั้นวันหน้าจะอยู่กันไม่ได้ทุกธุรกิจ”
matemnews.com
31 กรกฎาคม 2561