หลังมีข่าวน้ำในเขื่อนขณะนี้มีมากกว่าปี 2554 ที่น้ำท่วมให,กรุงเทพฯแล้ว ต่อมาตอนบ่าย 2 ส.ค.2561 พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า ว่า ตนได้สั่งการเรื่องการระบายน้ำของเขื่อนทั้งหมดล่วงหน้ามาเป็นเวลากว่า 1 เดือนแล้ว โดยใช้หลักเกณฑ์ว่า ระดับน้ำต้องไม่เกินเกณฑ์ควบคุมระดับน้ำตัวบน (Upper Rule Curve) หมายถึงให้น้ำอยู่ในเกณฑ์ควบคุมระดับน้ำ (Rule Curve) และให้ระบายน้ำออกเป็นระยะ
หลายเขื่อนที่มีปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้นผิดปกติในขณะนี้นั้น เกิดจากพายุที่เข้ามาในระยะเวลาค่อนข้างสั้น ส่งผลให้มีปริมาณน้ำเข้าไปในบางเขื่อนภายในวันเดียวมากถึง 30 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่ระบายออกได้เพียง 2-3 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้เขื่อนเหล่านั้นมีปริมาณกักเก็บน้ำในเกณฑ์สูง ตน ได้กำชับนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. เมื่อวันที่ 1 ส.ค.2561 อีกครั้งว่า ให้ทุกเขื่อนตรวจสอบเรื่องการระบายน้ำให้มากขึ้น รวมถึงมอบหมายให้อธิบดีกรมชลประทานดูแลเขื่อนขนาดใหญ่ และขนาดกลางที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมชลประทาน ทราบว่า ในวันนี้อธิบดีกรมชลประทานได้เดินทางลงไปในพื้นที่ทั้งหมดเพื่อเพิ่มการระบายน้ำและรักษาระดับน้ำในเขื่อนไว้ ขณะที่เขื่อนขนาดกลาง และขนาดเล็กที่อยู่ในการดูแลของท้องถิ่น เมื่อวานนี้ผมได้สั่งการให้ปลัดกระทรวงมหาดไทย ดูแลความมั่นคงของเขื่อนและอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กแล้ว
ผู้สื่อข่าวถามประเด็นอาจมีพายุลูกใหม่เข้ามาในวันที่ 5 สิงหาคมนี้ พล.อ.ฉัตรชัยตอบว่า
ต้องดูกรมอุตุนิยมวิทยา ขณะนี้ สทนช. จะเป็นหน่วยงานหลัก มีเลขาธิการ สทนช. เป็นผู้ติดตามสถานการณ์ภาพรวม โดยใช้ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะของกรมชลประทานเป็นศูนย์ติดตาม และได้ทราบว่า สถานการณ์น้ำบางพื้นที่เริ่มดีขึ้น เพราะมีการระบายน้ำ โดยผมสั่งการให้เลขาธิการ สทนช.ประจำการที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะเพื่อติดตามสถานการณ์น้ำตลอดเวลาและรายงานให้ตนทราบทุกวัน การระบายน้ำต้องระมัดระวัง เพราะส่งผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตรและที่อยู่อาศัยของประชาชน เมื่อวานนี้ผมได้หารือกับกระทรวงมหาดไทยว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องแจ้งประชาชนเรื่องการระบายน้ำ โดยเน้นย้ำว่า ต้องแจ้งประชาชนให้ชัดเจนว่า ระดับน้ำจะสูงขึ้นจากเดิมเท่าไร และจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่กว้างแค่ไหน เพราะหากแจ้งเพียงปริมาณน้ำที่ถูกระบายออกมา ประชาชนจะไม่เข้าใจ เช่น ประชาชนอาจไม่เข้าใจถ้าระบายน้ำออกมา 20 ล้านลูกบาศก์เมตรแล้วจะส่งผลกระทบอย่างไร
ส่วนกรุงเทพมหานครนั้นต้องดูปริมาณน้ำจากตอนเหนือเป็นหลัก ขณะนี้ทราบว่า บริเวณที่มีปริมาณน้ำมากจะอยู่บริเวณขอบของประเทศ เช่น จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ติดแม่น้ำโขง หรือจังหวัดที่ติดกับชายแดนของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ซึ่งปริมาณน้ำส่วนนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อกรุงเทพมหานคร
matemnews.com
2 สิงหาคม 2561