ศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤต สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ชื่อย่อ สทนช. ออกคำแถลงเมื่อวันที่ 11 ส.ค.2561 สรุปสถานการณ์น้ำ ว่า
เข้าสู่อิทธิพลพายุดีเปรสชั่นบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน คาดว่าจะเคลื่อนเข้าปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนในช่วงวันที่ 13-14 สิงหาคม 2561 ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรง ส่งผลวันที่ 13-16 ส.ค. 61 ประเทศไทยยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก
โดยลุ่มน้ำเพชรบุรี มีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนแก่งกระจาน และไหลผ่านทางระบายน้ำล้น (Spillway) ลดลง ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเพชรบุรี มีแนวโน้มลดลงตามการระบายน้ำจากเขื่อน แต่ยังคงมีระดับสูง
ส่วนแม่น้ำสายสำคัญ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคตะวันออก ระดับน้ำเพิ่มขึ้น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างมีระดับน้ำน้อย ภาคกลางและใต้มีระดับปานกลางถึงน้ำมาก
สถานการณ์แม่น้ำระหว่างประเทศ เช่น แม่น้ำโขง ระดับน้ำลดลงปัจจุบันระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง
สถานการณ์ฝนมากขึ้นใน 31 จังหวัด ดังนี้
+ ภาคเหนือ : จังหวัดเชียงราย พะเยา น่าน ตาก กำแพงเพชร สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร และเพชรบูรณ์
+ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดหนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
+ ภาคกลาง : จังหวัดราชบุรี กาญจนบุรี อุทัยธานี และนครสวรรค์
+ ภาคตะวันออก : จังหวัดฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี และตราด
+ ภาคใต้ : จังหวัดระนอง และพังงา
ทั้งนี้ คาดว่าปริมาณฝนสะสม 7 วัน ที่เกิน 150 มม. มีพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำเอ่อล้นตลิ่งและดินโคลนถล่มเป็นพิเศษ 7 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สกลนคร มุกดาหาร ภาคตะวันออก ปราจีนบุรี ตราด ภาคใต้ ระนอง พังงา สุราษฎร์ธานี
สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ
อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีระดับเกินเกณฑ์ควบคุม (Upper Rule Curve) และปริมาณน้ำเกินร้อยละ 80 ของความจุ มีจำนวน 4 แห่ง ดังนี้
- เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำ (06.00 น.) ปริมาณน้ำ 731 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 103% ปริมาณน้ำไหลเข้า 12.92 ล้าน ลบ.ม./วัน กรมชลประทานได้ติดตั้งกาลักน้ำ จำนวน 15 ชุด เพื่อช่วยเร่งระบายน้ำออกจากอ่างฯ ปริมาณน้ำระบายออกรวม 182.88 ลบ.ม./วินาที น้ำล้นทางระบายน้ำ (Spillway) สูง 49 ซม. (เมื่อวาน 54 ซม.) แนวโน้มปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างลดลง และจากการคาดการณ์สภาพภูมิอากาศ อาจมีฝนตกมากขึ้นส่งผลให้น้ำในเขื่อนเพิ่มขึ้นในสัปดาห์หน้า ยังต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ต่อไป
สภาพน้ำในพื้นที่ท้ายน้ำ ยังอยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง ระดับน้ำท้ายเขื่อน ที่สถานี B.3A อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี (04.00 น.) ระดับน้ำ 3.44 ม. (เมื่อวาน 3.52 ม.) ระดับตลิ่ง 4.40 ม. ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 0.96 ม. ปริมาณน้ำไหลผ่าน 162.80 ลบ.ม./วินาที (เมื่อวาน 170.40 ลบ.ม./วินาที) ทำให้พื้นที่ริมสองฝั่งลำน้ำในบริเวณอำเภอแก่งกระจาน อำเภอท่ายาง อำเภอบ้านลาด อำเภอเมือง และอำเภอบ้านแหลม ที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมมีแนวโน้มทรงตัว
การบริหารจัดการน้ำ มีการพร่องน้ำในแม่น้ำเพชรบุรีล่วงหน้า และตัดยอดน้ำผ่านระบบชลประทาน รวมถึงการพร่องน้ำจากอ่างเก็บน้ำโดยกาลักน้ำ/เครื่องสูบน้ำ ทำให้ระดับน้ำที่อำเภอเมืองเพชรบุรี (สถานี B.15) มีระดับลดลง ต่ำกว่าตลิ่ง 0.50 ม. (เมื่อวาน 0.69 ม.) แต่ยังต้องเฝ้าระวัง
- เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำ ปริมาณน้ำ 535 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 103 % ปริมาณน้ำไหลเข้า 6.09 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำไหลออก 5.23 ล้าน ลบ.ม.
สภาพน้ำในพื้นที่ท้ายน้ำ ยังคงปกติ คาดว่าจะไม่มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากไม่มีน้ำล้นตลิ่ง การบริหารจัดการน้ำ ติดตั้งช่องทางพิเศษกาลักน้ำ 22 ชุด เพื่อช่วยเร่งระบายได้ การแจ้งเตือนและการช่วยเหลือ มีการแจ้งและให้ติดตามสถานการณ์น้ำในจังหวัดสกลนคร บึงกาฬ นครพนม ซึ่งลำน้ำอูนและลำน้ำสงคราม ไหลผ่าน
- เขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรีสภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำ มีปริมาณน้ำ 7,548 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 85% ปริมาณน้ำไหลเข้า 52.96 ล้าน ลบ.ม. (แนวโน้มลดลง) มีปริมาณน้ำไหลออก 41.53 ล้าน ลบ.ม.
สภาพน้ำในพื้นที่ท้ายน้ำ จากการติดตามสภาพน้ำด้านท้ายน้ำไม่มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำ
การบริหารจัดการน้ำ แผนการระบายน้ำอยู่ที่วันละ 43 ล้าน ลบ. ม. ตลอดเดือนสิงหาคมและกันยายน 2561 การแจ้งเตือนและการช่วยเหลือ มีการแจ้งให้พื้นที่ท้ายเขื่อนตามลำน้ำแควน้อยให้ทราบถึงแผนการระบายน้ำของอ่างเก็บน้ำ
- เขื่อนปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำ มีปริมาณน้ำ 317 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 81% ปริมาณน้ำไหลเข้า 6.77 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำไหลออก 9.48 ล้าน ลบ.ม.
สภาพน้ำในพื้นที่ท้ายน้ำ ระดับน้ำในแม่น้ำปราณบุรีจะมีระดับค่อยๆสูงขึ้น ทั้งนี้ต้องเฝ้าระวังระดับน้ำจากอัตราการระบายที่เพิ่มขึ้น การบริหารจัดการน้ำ มีการเพิ่มการระบายน้ำขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างที่ต้องเฝ้าระวังมีความจุเกิน 100% ขนาดใหญ่ 2 แห่ง เขื่อนน้ำอูน (103%) เขื่อนแก่งกระจาน(103%) ขนาดกลาง 17 แห่ง (เพิ่มขึ้น 1 แห่ง) ซึ่งอยู่ใน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 14 แห่ง (เพิ่มขึ้น 1 แห่ง) และภาคตะวันออก 3 แห่ง (เท่าเดิม)
อ่างเฝ้าระวัง (80-100%) ขนาดใหญ่ 4 แห่ง เขื่อนศรีนครินทร์ (87%) เขื่อนวชิราลงกรณ (85%) เขื่อนรัชชประภา (84%) เขื่อนปราณบุรี (81%) ขนาดกลาง 58 แห่ง ( ลดลง 3 แห่ง ) แยกเป็น ภาคเหนือ 4 แห่ง (ลดลง 1 แห่ง) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 44 แห่ง (เพิ่มขึ้น 1 แห่ง) ภาคตะวันออก 5 แห่ง (ลดลง 2 แห่ง ) ภาคกลาง 1 แห่ง (ลดลง 1 แห่ง) และภาคใต้ 4 แห่ง (เท่าเดิม)
มีพื้นที่เฝ้าระวังจากการเร่งระบายน้ำ : อ่างฯขนาดใหญ่ที่มีระดับน้ำสูงกว่าเกณฑ์ควบคุม 8 แห่งและอ่างฯที่มีปริมาณน้ำมากกว่า 80% โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ต้องเฝ้าระวัง เขื่อนแก่งกระจาน เขื่อนวชิราลงกรณ เขื่อนปราณบุรี และเขื่อนน้ำอูน รวมถึงอ่างขนาดกลางและขนาดเล็ก ที่มีปริมาณน้ำ 100%
matemnews.com
11 สิงหาคม 2561