Home ข่าวทั่วไปรอบวัน ความลับที่ประชาชนรู้ไม่ได้

ความลับที่ประชาชนรู้ไม่ได้

623
0
SHARE

 

 

 

มานะ นิมิตรมงคล

https://goo.gl/sQXmdE

จากความลับทางทหาร สู่ ความลับทางการค้า:

 

ก่อนหน้านี้ เมื่อราชการจะจัดซื้ออะไรแพงๆ เขามักใช้คำว่า ‘ความลับทางทหาร’ หรือ ‘ความมั่นคงของชาติ’ เพื่อปกปิดข้อมูล แต่เมื่อถูกคัดค้านและตรวจสอบจากประชาชนมากขึ้นจึงเริ่มมีข้อจำกัดขึ้นมาบ้างว่าหน่วยงานไหนและภายใต้เงื่อนไขอะไรจึงจะอ้างเช่นนี้ได้

 

มาวันนี้ การซื้อดาวเทียม 7 พันล้านบาทได้อ้างว่า มีหลายเรื่องหลายอย่างเปิดเผยให้ประชาชนรู้ไม่ได้เพราะเป็น ‘ความลับทางการค้า’ ที่ไปตกลงไว้กับต่างชาติ ทำให้สงสัยว่า ผลประโยชน์ทางการค้าของเอกชนสำคัญกว่าผลประโยชน์ของชาติหรืออย่างไร

 

ประเด็นนี้ ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ อดีตกรรมการ ป.ป.ช. เคยกล่าวไว้ว่า

 

‘ถ้าเอาเงินภาษีของประชาชนไปใช้ การจะอ้างว่าเรื่องใดเป็นความลับทางการค้า ผู้อ้างต้องหาหลักฐานมารองรับให้ได้ว่า เรื่องนั้นเป็นไปตามกฎหมายหรือข้อตกลงระหว่างประเทศฉบับใด จะมาอ้างเอาลอยๆ หรือไปตกลงกันเองไม่ได้’

 

คนป่ามีปืน:

 

หน่วยงานที่จะซื้อดาวเทียมยังให้ข้อมูลอีกว่า ขั้นตอนการจัดซื้อครั้งนี้ใช้ ‘ระเบียบพัสดุของหน่วยงานเอง’ ไม่ได้ใช้ระเบียบสำนักนายกฯ ปี 2535 หรือ กฎหมายจัดซื้อจัดจ้างฯ ที่ออกมาเมื่อโครงการจัดซื้อเริ่มเดินไปบ้างแล้ว

 

ประเด็นมีอยู่ว่า

 

ที่ผ่านมา การที่หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต่างคนต่างออกระเบียบจัดซื้อจัดจ้างของตนเองนั้น เปรียบดั่ง ‘คนป่ามีปืน’ คือมีข้อดีอยู่บ้าง แต่ก็สร้างปัญหาตามมาอย่างมากโดยเฉพาะเรื่องคอร์รัปชัน จนเป็นเหตุให้รัฐบาลต้องตรา พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างฯ 2560 ออกมาเพื่อให้การใช้เงินของแผ่นดิน เงินของประชาชน เป็นมาตรฐานเดียวกันโดยยึดหลัก ‘ความคุ้มค่า โปร่งใส ตรวจสอบได้’

 

การนำ ‘ข้อตกลงคุณธรรม’ มาใช้ก็เพื่อวัตถุประสงค์นี้ แต่จะสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับคนของรัฐและพ่อค้าที่เข้าร่วมโครงการต้องให้ความร่วมมือจริงจัง คือต้องเปิดเผยและยินยอมให้ผู้แทนภาคประชาชนตรวจสอบได้อย่างปรุโปร่ง สังคมจึงจะมั่นใจได้ว่าการจัดซื้อนั้นเป็นไปอย่างตรงไปตรงมาและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ต่อไปใครจะค้าขายกับราชการ ไม่ว่าคนไทยหรือต่างชาติที่ก็สบายใจว่าไม่ต้องวิ่งเต้นและบวกราคามากๆ ไว้จ่ายใต้โต๊ะให้กับใคร

 

อันที่จริง ‘ข้อตกลงคุณธรรม หรือ Integrity Pact’ ไม่ใช่ของใหม่ แต่เป็นกติกาสากลที่ใช้กันมานานโดยรัฐบาลนี้รับมาตั้งแต่ปี 2558 เพื่อหวังให้เกิดวัฒนธรรมใหม่ในการทำงานของข้าราชการ คือทำอย่างโปร่งใส ทำงานร่วมกับตัวแทนประชาชนที่มีความรู้ มากประสบการณ์และเสียสละอาสาเข้ามาช่วยคิด ช่วยตรวจสอบ เพื่อเป็นหลักประกันว่า การลงทุนในโครงการของรัฐจะเกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศชาติ ลดความสูญเสียจากความผิดพลาดในการบริหารจัดการและช่วยลดการรั่วไหลของเงินภาษี

 

หลายโครงการที่สำเร็จไปแล้วยังพบว่า ทั้งผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ต่างทำงานมั่นใจสะดวกสบายขึ้น อย่างน้อยก็ไม่ต้องคอยเกรงใจผู้ใหญ่หรือใครที่จะมาแทรกแซงเพราะมีคนกลางคอยช่วยจับตาอยู่

 

ดร. มานะ นิมิตรมงคล

เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)

13/8/61

 

หมายเหตุ:

 

‘ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ’ ประกาศใช้เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2535 สมัยนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี โดยคุณวัลลภ ภักดีสุข นายกสมาคมนักบริหารพัสดุแห่งประเทศไทย เล่าว่า

 

เหตุสำคัญที่สมัยนั้นให้ออกเป็นระเบียบสำนักนายกฯ ไม่ออกเป็นพระราชบัญญัติ ก็เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นคล่องตัวของหน่วยราชการ ให้สามารถปรับแก้หรือขอยกเว้นการปฏิบัติตามกฎระเบียบได้รวดเร็ว ทันต่อความจำเป็น แต่แล้วพวกคนมีอำนาจในแต่ละยุคก็หาช่องว่างให้หน่วยงานต่างๆ ไปออกระเบียบของตนเองตามต้องการจนเสียหลักการไป

 

ซื้อดาวเทียม: จงใจปิดบัง ตั้งใจเลี่ยงกฎหมาย

https://goo.gl/8grRZ9

 

 

 

 

matemnews.com 

13 สิงหาคม 2561