เฟชบุ้ค สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย เผยแพร่
#งานวันแม่_จำเป็นแค่ไหน
ช่วงวันที่ 12 ส.ค. โรงเรียนต่าง ๆ มักจะมีการจัด “งานวันแม่”
เชิญให้คุณแม่มารับการ์ดอวยพร หรือ พวงมาลัยจากลูก ๆ
สมัยหมอเป็นเด็ก บรรดาคุณแม่จะนั่งเก้าอี้ ส่วนเด็ก ๆ จะนั่งที่พื้น
มีการกราบเท้า สวมกอด
หมอจำได้ค่อนข้างแม่นว่า จริง ๆ แล้วแม่ไม่สะดวกจะมาร่วมงานเท่าไหร่ เพราะต้องแว้บมาจากที่ทำงาน
แต่จำไม่ได้ว่า มีเพื่อนคนไหนไหม ที่คุณแม่ไม่สามารถมาร่วมงานได้ … แล้วเขาเป็นยังไงบ้าง
มาถึงวันนี้ที่ต้องทำงานกับคนที่มีชีวิตอยู่ภายใต้อิทธิพลของบาดแผลจากความสัมพันธ์ในวัยเด็ก
(attachment trauma)
หมอก็เริ่มเกิดคำถามในใจว่า งานวันแม่ที่โรงเรียนในลักษณะที่กล่าวมา
มีผลกระทบทางใจในเชิงลบกับเด็กหลาย ๆ คน มากกว่าผลทางบวกกับเด็กอีกจำนวนหนึ่งหรือเปล่า?
เพราะสำหรับคนที่สนิทกันดีกับแม่ เขาก็คงจะหาโอกาสแสดงความรักความขอบคุณได้ไม่ยากอยู่แล้ว
แล้วสำหรับเด็กคนอื่น ๆ ล่ะ ?
… เด็กที่อยู่กับญาติ หลังจากพ่อแม่แยกทางกันแล้วต่างฝ่ายต่างไปมีครอบครัวใหม่
… เด็กที่แม่ทอดทิ้งทางอารมณ์ จนรู้สึกว่าสนิทกับพี่เลี้ยงมากที่สุด หรือรู้สึกว่าไม่มีใครรับฟังเท่าสุนัขที่เลี้ยง
… เด็กที่แม่ลำเอียง ปฏิบัติตัวกับพี่หรือน้องคนอื่นของเขาดีกว่าอย่างชัดเจน
… เด็กที่ถูกแม่ลงโทษด้วยวิธีรุนแรงบ่อย ๆ หากทำอะไรไม่ถูกใจ (ไม่ใช่ทำอะไรผิด)
… เด็กที่แม่กำลังป่วยหนัก ระยะสุดท้าย หรือ เสียชีวิตแล้ว
ฯลฯ
เด็ก ๆ เหล่านี้จะรู้สึกอย่างไรที่บาดแผลในใจต้องถูกย้ำด้วยบรรยากาศของงาน ?
ยกเลิกธรรมเนียมเดิม ๆ แล้วมีกิจกรรมแบบอื่นแทน (ถ้าคิดว่าจำเป็น) แทนได้ไหม ?
อาจจะเป็นการเขียนเรียงความ ในหัวข้อเกี่ยวกับแม่ ที่เหมาะกับวัยของเด็ก
และไม่ทำให้เด็กรู้สึกว่าต้องเขียนแต่เรื่องดี ๆ
เช่น สิ่งที่ฉันอยากบอกแม่ , สิ่งแรกที่ฉันนึกถึงเมื่อคิดถึงแม่
ซึ่งอาจจะเป็นประโยชน์ต่อคุณครูในการทำความเข้าใจนักเรียนได้มากกว่า
.
ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมหรืองานอะไร
อยากให้ทางโรงเรียนทบทวน “จุดประสงค์ที่แท้จริง” ของงานนั้น
เพื่อจะได้เลือกทำสิ่งที่เป็นประโยชน์และเหมาะสมกับบริบทของผู้ร่วมงานทุกคน
#หมอมีฟ้า
matemnews.com
13 สิงหาคม 2561