สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ รายงาน
http://thainews.prd.go.th/
จัดระเบียบสังคม การยกระดับการให้บริการรถแท็กซี่ไทยด้วยการนำเทคโนโลยีมาให้บริการ
การยกระดับการให้บริการรถแท็กซี่ไทยด้วยการนำเทคโนโลยีมาให้บริการ
คงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าปัญหาการร้องเรียนเกี่ยวกับการให้บริการรถแท็กซี่จากผู้โดยสาร ยังมีให้เห็นเป็นประจำ ส่วนใหญ่เกิดจากการปฏิเสธรับผู้โดยสาร มารยาทของพนักงานขับรถ เป็นต้น แม้ที่ผ่านมา กรมการขนส่งทางบก จะออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยให้กับผู้โดยสารที่ใช้บริการ ทั้งการกำหนดให้รถแท็กซี่จดทะเบียนใหม่ทุกคันทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน 2560 เป็นต้นไป ต้องติดตั้งอุปกรณ์ส่วนควบเพื่อความปลอดภัย ประกอบด้วย GPS Tracking พร้อมอุปกรณ์แสดงตัวผู้ขับรถ ปุ่มฉุกเฉินสำหรับผู้โดยสารเพื่อขอความช่วยเหลือ กล้องบันทึกภาพในรถ โป๊ะไฟหลังคาแบบใหม่ เชื่อมต่อข้อมูลกับศูนย์บริหารจัดการแท็กซี่ด้วยระบบ GPS ของกรมการขนส่งทางบก ผ่านศูนย์บริการสื่อสารรถยนต์รับจ้าง (แท็กซี่) ของเอกชนเพื่อส่งข้อมูลการเดินรถลักษณะ On-line แบบ Realtime จนมาถึงการยกระดับมาตรฐานการให้บริการรถแท็กซี่มิติใหม่ ภายใต้โครงการ Taxi OK โดยนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการและสร้างความเชื่อมั่นในความปลอดภัยตลอดการเดินทาง ผู้โดยสารสามารถร้องเรียนการให้บริการ ตรวจสอบความถูกต้องของค่าบริการ ปัจจุบันมีรถ Taxi OK วิ่งให้บริการกว่า 10,000 คัน โดยมีศูนย์บริการสื่อสารรถยนต์รับจ้าง (แท็กซี่) ของภาคเอกชนจำนวน 18 แห่ง ทำหน้าที่ควบคุมกำกับดูแลการให้บริการให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด
นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า การให้บริการรถ TAXI VIP เป็นรูปแบบการให้บริการที่เป็นทางเลือกเพิ่มเติมสำหรับรองรับความต้องการกลุ่มผู้โดยสาร เช่น ลูกค้าองค์กรธุรกิจ ธุรกิจโรงแรม นักธุรกิจและนักท่องเที่ยว ที่ต้องการความหรูหราสะดวกสบายและการให้บริการในการเดินทางระดับพรีเมียม ปัจจุบันมีเอกชนเข้ามาร่วมโครงการดังกล่าวโดยนำรถยนต์ Mercedes-Benz รุ่น C 350 e Avantgarde มาให้บริการไปแล้ว และล่าสุดกรมการขนส่งทางบก ได้เปิดตัว Taxi VIP ระยะที่ 2 นำรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า เพิ่มทางเลือกให้ประชาชนเป็นครั้งแรก สนองนโยบายรัฐบาลลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิง พร้อมให้บริการเต็มรูปแบบวันที่ 9 กันยายนนี้ เป็นต้นไป
ทั้งนี้ข้อมูลจากกรมการขนส่งทางบก ระบุว่าปัจจุบันมีรถแท็กซี่ทั้งนิติบุคคลและส่วนบุคคล รวมถึงรถแท็กซี่ตามโครงการ Taxi OK และ Taxi VIP จำนวน 78,531 คัน โดยแท็กซี่แต่ละคันหลังจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกแล้วจะมีอายุการใช้งานไม่เกิน 9 ปี โดยในปี 2561 จะมีรถแท็กซี่ครบอายุการใช้งานประมาณ 3,500 คัน และในปี 2562 จำนวน 7,330 คัน
กรมการขนส่งทางบก จึงแนะนำให้ผู้โดยสารสังเกตรถแท็กซี่ก่อนเลือกใช้บริการ โดยสภาพตัวรถภายนอกต้องมั่นคงแข็งแรง หมวดอักษรบนแผ่นป้ายทะเบียนกรณีเป็นรถแท็กซี่นิติบุคคลที่สังกัดสหกรณ์ หรือบริษัทต่างๆ จะขึ้นต้นด้วยหมวด “ท” โดยหมวดที่ยังอยู่ในช่วงอายุการใช้งาน ประกอบด้วย ทศ, ทษ, ทส, ทห กรณีเป็นแท็กซี่ส่วนบุคคลสีเขียวเหลืองขึ้นต้นด้วยหมวด “ม” โดยหมวดที่ยังอยู่ในช่วงอายุการใช้งาน ประกอบด้วย มช, มฎ,1มก, 1มข ส่วนรถแท็กซี่หมวด ทว และหมวด มฉ จะทยอยครบอายุการใช้งานภายในปีนี้ ดังนั้น ในเบื้องต้นหากพบรถแท็กซี่หมวดทะเบียนนอกเหนือจากหมวดที่ระบุข้างต้น อาจเป็นรถแท็กซี่ที่ครบอายุการใช้งานแล้ว ควรหลีกเลี่ยงการใช้บริการ
matemnews.com
22 สิงหาคม 2561