Home ข่าวทั่วไปรอบวัน ศาลฎีกานักการเมืองยกฟ้องนายทักษิณคดี TPI

ศาลฎีกานักการเมืองยกฟ้องนายทักษิณคดี TPI

700
0
SHARE

 

 

องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกา  จำนวน 9 คน  ของ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ.แจ้งวัฒนะ  ออกนั่งบัลลังค์  เมื่อเช้าวันที่ 29 ส.ค.2561 อ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อม.40/2561 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง  นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดจำเลย  ว่า เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดิน ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 เมื่อ ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้นำเรื่องที่จะให้กระทรวงการคลังเข้าไปเป็นผู้บริหารแผนบริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TPI ซึ่งเป็นบริษัทเอกชน จำเลยในฐานะนายกรัฐมนตรี ซึ่งทราบดีอยู่แล้วว่ากระทรวงการคลังเป็นส่วนราชการ มีอำนาจหน้าที่เฉพาะตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2542 ไม่มีอำนาจเข้าไปบริหารกิจการของบริษัทเอกชน แต่จำเลยกลับเห็นชอบให้กระทรวงการคลัง เข้าไปเป็นผู้บริหารฟื้นฟูกิจการของบริษัท TPI  โดยได้เสนอรายชื่อรายชื่อบุคคลเข้าเป็นผู้บริหารแผนด้วย ต่อมา ร.อ.สุชาติได้แจ้งไปยังสำนักฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ยินยอมให้กระทรวงการคลังเข้าไปเป็นผู้บริหารแผนของบริษัท TPI และแจ้งรายชื่อตามที่จำเลยได้ให้ความเห็นชอบแล้ว เป็นผลให้ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2546 ให้กระทรวงการคลังเข้าเป็นผู้บริหารแผน การกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อระบบราชการ

องค์คณะฯ มีคำพิพากษาด้วยมติเสียงข้างมาก เห็นว่า  การที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีนายกรัฐมนตรี ไม่ทักท้วงกรณีกระทรวงการคลังเข้าเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการบริษัท ทีพีไอ ไม่ได้มีเจตนาพิเศษที่จะแสวงหาผลประโยชน์เพื่อตนเองหรือเพื่อผู้อื่นในการเสนอชื่อคณะกรรมการบริหารแผน 5 คนใหม่ และข้อเท็จจริงปรากฏว่าการเข้าบริหารแผนพื้นฟูของกระทรวงการคลังในกิจการทีพีไอก็เกิดจากความยินยอมของธนาคาร เจ้าหน้า ลูกหนี้ สภภาพแรงงาน รวมทั้งเป็นไปตามคำสั่งของศาลล้มละลายกลาง ซึ่งกระทรวงการคลังก็ถือเป็นหน่วยงานรัฐที่ดูแลแก้ไขเศรษฐกิจของประเทศ ขณะที่ปัญหาหารเข้าฟื้นฟูกิจการทีพีไอก็สืบเนื่องมาจากเศรษฐกิจสมัยรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ที่ประกาศลอยตัวค่าเงินบาท จนกระทบต่อธุรกิจต่างๆ ที่ได้กู้เงินกับต่างชาติ มูลค่าหนี้จะสูงเพิ่มขึ้นเท่าตัว โดยกรณีของทีพีไอมีมูลค่าหนี้สูงขึ้น 1.3 แสนล้านบาทภายในข้ามคืน จากเดิมอยู่ที่ 65,000 ล้านบาทเศษ ซึ่งกระทบต่อบริษัทที่มีพนักงานกว่า 7 พันคน อีกทั้งนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ อดีตผู้บริหารทีพีไอ รวมทั้งสหภาพแรงงานของบริษัทก็เคยเสนอให้กระทรวงการคลังเข้ามาแก้ไข

นอกจากนี้ พยานหลักฐานของโจทก์ตามทางไต่สวนก็ยังฟังไม่ได้ว่า เมื่อกระทรวงการคลังเข้าบริหารแผนและจ่ายค่าตอบแทนให้กับคณะผู้บริหารที่โจทก์อ้างว่าเป็นพรรคพวกของจำเลย รวมทั้งการซื้อขายหุ้นเพิ่มทุนของกิจการทีพีไอก็กำหนดให้ซื้อเพียงหน่วยงานในกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง เช่น ปตท. ธ.ออมสิน และกองทุน กบข. เป็นต้น ก็ไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าจำเลยได้รับผลประโยชน์เหล่านั้นแต่อย่างใด ซึ่งเงินค่าตอบแทนเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการก็ปรากฏว่าเป็นคดีที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาให้คืนเงินค่าตอบแทนจากการเข้าบริหารแผนฟื้นฟู จำนวน 224 ล้านบาทเศษแล้ว

ข้อกล่าวหาที่โจทก์ฟ้องยังไกลเกินกว่าเหตุ ไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอรับฟังได้ว่าจำเลยกระทำผิดตามมาตรา 157 ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือโดยทุจริตฯ พิพากษายกฟ้อง

matemnews.com 

29 สิงหาคม 2561