พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานงานวันคล้ายวันสถาปนาสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ครบรอบ 28 ปี เมื่อตอนเช้าวันที่ 3 ก.ย.2561 โดยมีพิธีทำบุญ และมอบโล่ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อ สปส. จำนวน 23 คน แล้วให้สัมภาษณ์นักข่าว ว่า
ตลอด 28 ปีของ สปส.มีความก้าวหน้าอย่างมาก เช่น พัฒนารูปแบบการให้บริการกรณีทันตกรรมโดยไม่ต้องสำรองจ่าย เพิ่มเงินสงเคราะห์บุตร จาก 400 บาท เป็น 600 บาท ต่อเดือน เพิ่มค่าฝากครรภ์กรณีคลอดบุตร เพิ่มสิทธิประโยชน์และค่าทดแทน โดยจัดทำร่างแก้ไข พ.ร.บ. เงินทดแทน (ฉบับที่…) พ.ศ. … ซึ่งขณะนี้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้เห็นชอบแล้ว เตรียมประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อบังคับใช้ต่อไป คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในสิ้นปี 2561 เป็นต้น
ก้าวต่อไปของ สปส.ที่มอบนโยบาย คือ
1.เพิ่มจำนวนผู้ประกันตนเข้ามาในระบบให้มากขึ้น โดยขณะนี้มีผู้ประกันตนประมาณ 15 ล้านคน ส่วนแรงงานนอกระบบซึ่งมี 22 ล้านคน แต่เข้ามาเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 เพียง 2.5 ล้านคน โดยปี 2561 เข้าสู่ระบบประมาณ 3 แสนกว่าคน ปี 2562 ตั้งเป้าไว้ต้องเพิ่มอีก 2-3 ล้านคน จะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ประกันตนตามาตรา 40 จะเป็นผู้ใดก็ได้ที่มีอายุ 15 – 60 ปี ไม่เคยเป็นลูกจ้างตามมาตรา 33 และผู้ประกันตนมาตรา 39 ประกอบอาชีพอิสระ และไม่เป็นผู้ทุพพลภาพในปัจจุบัน ซึ่งเราต้องการให้เข้ามาอยู่ในระบบอย่างมาก เพราะการเข้ามาสู่ระบบจะได้รับการคุ้มครองอย่างดีมาก ทั้งการรักษาพยาบาล การทุพพลภาพ ชราภาพ สงเคราะห์บุตร ก็ได้ทั้งหมด เป็นไปตามหลักยุทธศาสตร์ 20 ปีด้านแรงงาน ส่วนเจ้าหน้าที่ประกันสังคมจะมีการปรับโครงสร้างการทำงานให้สอดคล้องกับภาระงาน
2.บริหารกองทุนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ผลตอบแทนต่างๆ ต้องมีประสิทธิภาพ เพื่อเรียกความเชื่อมั่นจากผู้ประกันตน ซึ่งยืนยันว่า การลงทุนนั้นมีความโปร่งใส มีคณะกรรมการพิจารณาอย่างรอบคอบ ซึ่งแต่ละปีได้ผลตอบแทนหลายหมื่นล้านบาท โดยปี 2560 ได้ผลตอบแทน 5.8 หมื่นล้านบาท 3.การปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้มีความเหมาะสม โดยเฉพาะเรื่องผู้สูงอายุ การสงเคราะห์บุตร ทุพพลภาพ หรือมาตรฐานสถานบริการ และ 4.การเข้าถึงบริการที่ง่ายและรวดเร็ว โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยี ต้องทันสมัย และระบบออนไลน์ต่างๆ
การปรับเพดานอัตราการจ่ายเงินสมทบจากฐานเงินเดือน 15,000 บาท เป็น 20,000 บาท หรือเก็บจาก 750 บาท เป็น 1,000 บาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ ยืนยันว่าจะต้องมีการปรับเพิ่มขึ้นแน่นอน แต่การจะปรับเพิ่มอัตราการจ่ายเงินสมทบนั้น จะต้องสร้างการรับรู้และความเข้าใจให้แก่ผู้ประกันตนด้วย โดยเฉพาะการปรับเพิ่มแล้วจะเกิดประโยชน์อะไรมากขึ้นแก่ผู้ประกันตน เช่น ได้เพิ่มเงินบำนาญชราภาพ เป็นต้น หากยังมีความเห็นต่างกันอยู่ หรือยังมีคนรู้สึกว่าเดือดร้อนกับเรื่องนี้ ก็จะยังไม่ดำเนินการหรือยังไม่เสนอรัฐบาล ขณะนี้ตัวแทนฝั่งนายจ้างและลูกจ้างก็ช่วยไปสื่อสารแล้ว ส่วนเรื่องการขยายอายุเกษียณการทำงานก็เดินหน้าไปพร้อมกัน แต่อันไหนพร้อมก่อนก็ดำเนินการ
การเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม มีการกำหนดชัดเจนอยู่แล้วว่า จะต้องมีการเลือกตั้ง แต่ต้องดูความเหมาะสมและความคุ้มค่าด้วย อยู่ระหว่างการพิจารณาของอนุกรรมการ จะใช้วิธีการใดยังตอบไม่ได้ และผู้แทนลูกจ้าง นายจ้างต้องให้ความเห็นด้วย แต่จะพยายามเร่งให้เร็วที่สุด
matemnews.com
3 กันยายน 2561