“พิชัย” แจง การเข้าพบ บก. ปอท. ชี้ เศรษฐกิจแย่จึงแนะนำ หากไม่เห็นด้วยควรให้ผู้รู้มาชี้แจง การปิดกั้นความคิดเห็นนอกจากแสดงความไม่มั่นใจของรัฐบาลแล้ว จะทำให้เศรษฐกิจยิ่งแย่
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว. พลังงาน รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเมื่อตอนเช้าวันที่ 5 ส.ค.2560 ว่า ตามที่ตนได้เข้าพบ ปอท. และได้รับแจ้งว่า “พันเอก บุรินทร์ ทองประไพ” เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงการข่าว ได้รับมอบอำนาจให้มาแจ้งความ โดยมีรายละเอียดว่า ตนให้ข้อมูลบิดเบือนมาตลอดตั้งแต่ปี 2557 โดยเฉพาะการให้ข่าวในวันที่ 26-27 กรกฎาคม 2560 ในหัวข้อ “พิชัย” แนะ “บิ๊กตู่” ฟัง “สมคิด” ก่อนประเทศจะถอยหลังไปกว่านี้ เตือน ความเลื่อมล้ำจะยิ่งทำแตกแยก ชี้ สัญญาณกบต้มเริ่มชัดขึ้นเรื่อย” ซึ่งมีผลทำให้เศรษฐกิจย่ำแย่ โดยจะให้มีการดำเนินคดีกับตน ตามมาตรา 14 (1) (2) (5) ซึ่งประชาชนน่าจะใช้วิจารณญานได้ว่า การกระทำของผู้แทน คสช. นั้น มีจุดมุ่งหมายเช่นไร ส่วนตน ได้ แสดงความบริสุทธิ์ใจ เข้าพบ พนักงานสอบสวน จึงอยากให้ประชาชนได้ลองไปอ่านข่าวในวันดังกล่าว ซึ่งเป็นการเตือนด้วยความบริสุทธิ์ใจ อีกทั้งข้อมูลทางเศรษฐกิจก็เป็นข้อมูลของรัฐ และข้อมูลสาธารณะ ที่สามารถตรวจสอบได้ทั้งหมด ไม่ได้มีการบิดเบือนแต่อย่างไร การวิเคราะห์ก็ใช้หลักการสากลในการดำเนินการ ซึ่งถ้าหากรัฐบาลมีความเห็นต่างก็น่าจะให้ผู้รับผิดชอบทางเศรษฐกิจได้ออกมาชี้แจง เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นหลักการที่อารยประเทศทำกัน การถกเถียงทางเศรษฐกิจเพื่อต้องการหาทางออกให้เศรษฐกิจที่ย่ำแย่ในปัจจุบันให้ดีขึ้น น่าจะเป็นสิ่งที่ผู้บริหารประเทศควรนำไปศึกษาปรับปรุงมากกว่าจะมาดำเนินคดีกับผู้วิเคราะห์วิจารณ์เศรษฐกิจซึ่งไม่มีประเทศศิวิไลซ์ที่ไหนเขาทำกัน ซึ่งก่อนหน้านี้ที่ตนได้พบกับทีมเศรษฐกิจของ คสช. นำโดย “นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล” ก็ได้แลกเปลี่ยนความเห็นเรื่องข้อมูลเศรษฐกิจ ซึ่งตรวจสอบข้อมูลกันแล้ว และเป็นข้อมูลของทีมเศรษฐกิจของ คสช. เองที่คลาดเคลื่อน ซึ่งตนก็ได้ให้ข้อมูลไปเพื่อเป็นประโยชน์ในการแก้ไขเศรษฐกิจให้สำเร็จ อีกทั้ง การตักเตือนเรื่อง “ทฤษฏีวิกฤตกบต้ม” ที่เป็นห่วงว่าประเทศกำลังเสื่อมลงเรื่อยๆเหมือนกบที่กำลังถูกต้มช้าๆนี้ ตนก็เคยเตือนทีมเศรษฐกิจ คสช. ไปวันนั้นเช่นกัน และ คณะอาจารย์ เศรษฐศาสตร์ ม. ธรรมศาสตร์ ก็ออกมาเตือนตั้งแต่เดือนมีนาคมปีนี้ ดังนั้นจึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลส่งคนที่มีความรู้ทางเศรษฐกิจออกมาชี้แจง การปิดกั้นความเห็นทางเศรษฐกิจนอกจากจะแสดงถึงความไม่มั่นใจของรัฐบาลต่อการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจแล้ว ยังทำลายความมั่นใจของนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพราะขนาดเสรีภาพทางความเห็นทางเศรษฐกิจยังถูกปิดกั้น ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจย่ำแย่ลงไปอีก และ อยากเห็นการแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้อย่างแท้จริงเพราะประชาชนลำบากกันอย่างมากในขณะนี้
คลิกอ่านข่าว : นักเศรษฐศาสตร์ มธ.ชี้ศก.ไทยปี 60 เหมือนเจอวิกฤตต้มกบ… เมื่อวันที่ 20 มี.ค.2560
คลิกอ่าน : 20 ปีวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง: จากต้มยำกุ้งสู่ต้มกบ …สัมภาษณ์ รศ.ดร.อภิชาต สถิตนิรามัย จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยแพร่ 28 Jun 2017
Matemnews.com 5 สิงหาคม 2560