Thirachai Phuvanatnaranubala
16 ก.ย.2561
“นี่ขนาดยูเอ็นยังไม่กล่าวถึงพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์เลยนะ!”
กรณีที่องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เผยแพร่รายงานสำหรับการประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนของยูเอ็น
โดยประกาศรายชื่อ 38 ประเทศที่มีพฤติกรรมน่าละอาย ด้วยการตอบโต้หรือข่มขู่บุคคลที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ทั้งการสังหาร การทรมาน และการจับกุมตัวตามอำเภอใจ
ซึ่งประเทศไทยเป็น 1 ใน 29 ประเทศที่เพิ่งถูกขึ้นบัญชีใหม่นั้น
เฟซบุคเพจ ไทยคู่ฟ้า ให้ข้อมูลว่า
“ในส่วนของไทยมีการหยิบยก กรณีนายไมตรี จำเริญสุขสกุล และน.ส. ศิริกาญจน์ เจริญศิริ (ทนายจูน)
และนำเรื่องที่ติดตามจากรายงานปีที่แล้ว เช่น กรณีฟ้องร้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภายใต้ มาเขียนไว้”
ส่วนประเด็นที่หลายสำนักพาดหัวข่าวว่า “ยูเอ็นขึ้นบัญชีดำ” นั้น เพจดังกล่าวพยายามอธิบายว่า
“เรื่องนี้ ไม่ใช่เรื่องของยูเอ็นโดยตรง แต่เป็นเรื่องของ “คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ” หรือ UNHRC (UNHCR เดิม) ซึ่งเป็นหน่วยงานในเครือของยูเอ็นอีกที”
นอกจากนี้ การนำเสนอข่าวมักกล่าวถึงเพียงบางประเทศ เช่น ไทย จีน เมียนมา แต่กลับไม่ค่อยได้พูดถึงประเทศอื่นอีก 30 กว่าประเทศ
ผมวิจารณ์ว่า
- เรื่องของ “คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ” หรือ UNHRC (UNHCR เดิม) ก็คือเรื่องของยูเอ็นนั่นแหละครับ เพราะ UNHRC เป็นหน่วยงานหลักของโลกในเรื่องแบบนี้
ดังนั้น การอ้างว่าไม่ใช่เรื่องของยูเอ็น จึงเป็นการบิดเบือนแก่ประชาชนชาวไทย
- การที่สื่อมวลชนนำเสนอข่าวที่เน้นบางประเทศ เช่น ไทย จีน เมียนมา ก็เพราะเป็นประเทศในความสนใจ เนื่องจากฐานะเศรษฐกิจอยู่ในข่ายที่ควรจะทำตัวได้ดีกว่านี้ ส่วนกรณีเมียนมาก็มีนางอองซานซูจีที่ประชาคมโลกจับตา
ดังนั้น การพร่ำบ่นว่าทำไมเน้นที่ไทย จึงเป็นการแสดงความกังวลต่อการถูกเปิดโปง มากกว่าเน้นเรื่องการแก้ไข
- การที่หัวหน้าคณะปฎิวัติเป็นหัวหน้ารัฐบาลด้วยในขณะเดียวกัน ตามหลักการ ‘ชงเอง ชิมเอง’ นั้น ถ้าย้อนประวัติศาสตร์ไทย จะนึกถึงยุคจอมพลสฤษดิ์
คนที่อายุมากอย่างผมจำได้ว่า ยุคนั้นผู้นำใช้แต่นักวิชาการคนเก่ง เปรียบเทียบกับยุคนี้ที่ผู้นำใช้แต่พรรคพวกเพื่อนฝูง ดังนั้น จึงขาดคนที่กล้าจะคัดค้านผู้นำ
หลักการ ‘ชงเอง ชิมเอง’ ย่อมทำให้สังคมโลกมีข้อกังวลเป็นธรรมดา
เพราะการมีอำนาจของคณะปฏิวัติที่วางซ้อนอำนาจในการปกครองของรัฐอยู่อีกชั้นหนึ่งนั้น ทำให้ไม่มีการถ่วงดุล ดังที่เคยมีในการปฏิวัติครั้งก่อนๆ ระหว่างหัวหน้ารัฐบาลพลเรือนกับหัวหน้าคณะทหาร
การขาดการถ่วงดุล จึงมักจะกระตุ้นให้เจ้าหน้าที่ กระโดดเด้งจี้บุคคลต่างๆ ที่เห็นต่างกับรัฐบาล คสช. ไม่ว่าโดยอาศัยอำนาจของกองทัพ หรือโดยใช้กฎหมายเกี่ยวกับการชุมนุม หรือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งอาจจะใช้แบบพร่ำเพรื่อ
ดังนั้น รัฐบาลนี้จึงควรจะรับฟังข้อวิจารณ์ของยูเอ็น เพื่อหาทางปรับปรุงต่อไป มากกว่าที่จะปัดว่าไม่ใช่ยูเอ็นโดยตรง หรือที่จะตำหนิต่อว่าสื่อ ว่าจิกเน้นไทยมากกว่าประเทศอื่นๆ
วันที่ 16 กันยายน 2561
ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล
Facebook Thirachai Phuvanatnaranubala
(เครดิตภาพตามแหล่งที่แสดงชื่อ)
https://www.facebook.com/154553218343826/posts/518482655284212/
http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/813183
matemnews.com
17 กันยายน 2561